บ้านไม้ชั้นเดียวในอ้อมกอดของเชียงดาว
บ้านไทยชั้นเดียว ตั้งอยู่บนที่ดินลาดชัน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดวางตัวบ้านไปตามความยาวของคอนทัวร์เพื่อลดภาระในการปรับดินของพื้นใต้ถุน และเน้นเฉลียงกว้าง ๆ ให้ออกมาชมวิวดอยหลวงเชียงดาว
Design Directory : สถาปนิก ยางนา สตูดิโอ


เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกและเป็นลำดับที่ 5 ของไทย เพราะความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรม อำเภอเชียงดาวจึงเป็นหมุดหมายที่น่าไปเยือนเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศทางธรรมชาติและเสน่ห์ของชุมชน ไม่ว่าจะในเชิงท่องเที่ยว หรือจะสร้างบ้านพักผ่อนสักหลังให้มีมุมนั่งมองดอยหลวงเชียงดาวได้ทั้งวัน เหมือนกับที่ คุณเฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “แจ๊ค แฟนฉัน” ได้เริ่มต้นไอเดีย บ้านไทยชั้นเดียว สำหรับพักผ่อนกลางธรรมชาติของเขาขึ้นมา โดยให้ทีมสถาปนิกจากยางนา สตูดิโอ มาช่วยออกแบบและปลูกสร้างบ้านหลังเล็กบนพื้นที่เชิงเขาซึ่งมองเห็นวิวสวย ๆ ของดอยหลวงเชียงดาว



ความลาดชันคือเสน่ห์
คุณเท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม สถาปนิกจากยางนา สตูดิโอ เล่าให้ฟังว่าพื้นที่สำหรับสร้างบ้านนั้นมีความลาดชันสูงจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งนำไปสู่ความคิดเริ่มต้นในการออกแบบบ้านหลังนี้
“เราต้องศึกษาถึงระดับความสูงของชั้นดินเพื่อวางตำแหน่งของตัวเรือนให้เหมาะสม เลยอาศัยวิธีคิดพื้นฐานแบบชาวบ้านประกอบกับประสบการณ์ที่เคยเดินขึ้นไปตามหมู่บ้านบนพื้นที่สูงมาออกแบบ โดยวางตัวเรือนไปตามความยาวของคอนทัวร์หรือเส้นชั้นความสูงของที่ดินเพื่อลดภาระในการปรับดินของพื้นใต้ถุน และตั้งหลังคาให้หันไปทางหน้าคอนทัวร์ ช่วยให้ง่ายต่อการก่อสร้างด้วย ผมว่าความลาดชันนี้กลายเป็นเสน์ห์ที่สอดคล้องกลมกลืนไปกับตัวบ้าน อีกอย่างคือเรายังมองเห็นถึงบริบทของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนและความเป็นหมู่บ้านที่แสดงถึงชาติพันธุ์อย่างชัดเจน จึงนำเอกลักษณ์เฉพาะบางอย่างนั้นมาใช้ในการออกแบบเรือนพักอาศัยให้ส่งเสริม สอดคล้อง และคงไว้ซึ่งความเด่นชัดของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ตลอดจนใช้วัสดุธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อให้บ้านดูไม่แปลกแยกไปจากชุมชนด้วย”


ใช้ประโยชน์จากเนินดิน
ด้วยความที่บริเวณหน้าบ้านติดกับถนนจึงมีโรงจอดรถมาช่วยกั้นแยกความเป็นส่วนตัวของบ้านไว้ด้านใน โดยระหว่างโรงจอดรถกับตัวบ้านนั้นมีบันไดดินเล็ก ๆ ที่ใช้จอบขุดให้เป็นขั้นสำหรับก้าวเดินลัดเลาะผ่านต้นมะกอกป่าขึ้นสู่ตัวบ้าน
“แต่ละก้าวย่างบนเนินดินนั้นจะช่วยปรับอารมณ์ความรู้สึกให้ช้าลงเพื่อสัมผัสสิ่งรอบตัวได้ชัดเจนขึ้น บริเวณขั้นบันไดเป็นดินค่อนข้างแข็ง อีกหน่อยอาจจะเกิดหญ้างอกขึ้นมาได้ ผมว่ามันเป็นความงามตามกาลเวลาดี แต่ก่อนเข้าฝนก็ต้องนำหินหรือกรวดมาโรยในที่ที่ต้องเหยียบให้แน่น และความรู้สึกเมื่อเดินจากเนินดินขึ้นมาถึงชานก็จะพบกับดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่าน เมื่อนั้นตัวเราจะเล็กลงพร้อมเปิดรับธรรมชาติรอบตัว”

ในระหว่างการก่อสร้างบ้าน ยังได้มีการขุดดินด้านหน้าเพื่อปรับพื้นที่ของโรงจอดรถ โดยนำไปถมไว้ด้านหลังจนกลายเป็นเนินลาดเอียงเล็ก ๆ ขึ้นมา ทำให้สถาปนิกเกิดความคิดใหม่มาช่วยเติมเต็มฟังก์ชันของบ้านให้สมบูรณ์ขึ้น
“เราได้ดินจากด้านหน้ามาปรับถมพื้นที่ด้านหลังบ้านและทำเป็นแนวขั้นบันไดโดยใช้ไม้ไผ่กั้นให้เป็นชั้น ๆ ลงมาเพื่อลดการสไลด์ตัวของดิน ทำให้เกิดสเปซด้านบนที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งนั่งเล่น ผิงไฟ ชมวิวเชียงดาว ก็เป็นการบริหารจัดการวัสดุดินในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอยู่นอกเหนือการวางแผนแต่แรก แต่กลับส่งเสริมพื้นที่ใช้งานโดยรอบได้ดี โดยให้สล่าชาวลีซอมาช่วยทำเพิงเก็บฟืนหรือ ‘ผาม’ ที่ก่อรูปขึ้นตามโลกทัศน์ของเขาและเป็นความงามจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแท้ ๆ”






ทิศทางของ บ้านไทยชั้นเดียว และมุมมองสู่ธรรมชาติ
หากมองจากด้านข้างจะเห็นว่าบ้านหลังนี้มีด้านหนึ่งที่อยู่ใกล้ชั้นดินและอีกด้านเป็นส่วนที่ยกใต้ถุนซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บข้าวของได้ อีกทั้งช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่เกิดความชื้นสะสมที่ตัวบ้าน และป้องกันสัตว์เลื้อยคลานเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนไปในตัว ส่วนหลังคามุงด้วยใบตองตึงทับไปบนกระเบื้องที่ติดฉนวนกันความร้อนไว้ โดยพื้นกับผนังบ้านเป็นไม้เกือบทั้งหมดเพื่อสร้างผิวสัมผัสที่อบอุ่นและไม่เย็นไปตามสภาพอากาศเหมือนพื้นคอนกรีตหรือกระเบื้อง
ขนาดของบ้านมีความกระชับในแบบ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ รวมพื้นที่ใช้สอย 72 ตารางเมตร โดยสถาปนิกเน้นพื้นที่นอกบ้านไว้ค่อนข้างใหญ่ มีทั้งอ่างแช่ตัวตามความต้องการของคุณแจ๊ค พร้อมผูกเปลไว้ให้ออกมานั่งเล่นหรือนอนเล่นเพื่อซึมซับกับธรรมชาติรอบตัว





“เพราะตัวที่ดินบังคับให้ห้องน้ำหันไปทางทิศตะวันออกเราจึงทำช่องเปิดรับแสงตรงนี้ให้มาก รวมถึงมุงหลังคาบางส่วนด้วยวัสดุโปร่งแสงเพื่อช่วยลดความอับชื้นภายในห้องน้ำ ขณะที่ช่วงเช้าแดดจะขึ้นทางหลังบ้านและส่องกระทบไปที่ดอยหลวง พอช่วงบ่ายถึงเย็นบริเวณเฉลียงจะเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่ดี เราเลยออกแบบให้เจ้าของบ้านได้ออกมาใช้พื้นที่ด้านนอกให้มากที่สุดเพื่อนั่งมองความงามตามช่วงเวลาเหล่านี้ ส่วนภายในใช้เฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้น มีแค่โซฟา เบาะนั่งเล่น และที่นอนโดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ใยกัญชง ซึ่งใช้วิธีการทอมือแบบโบราณและย้อมครามด้วยเทคนิคและภูมิปัญญาทางภาคเหนือ”



ตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ ๆ ไปจนถึงค่ำเมื่อดวงอาทิตย์ตกเลื่อนลับไปหลังดอย ท้องฟ้าจึงกลายเป็นเหมือนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่ศิลปินระบายแสงสีสวยอัศจรรย์ ชมพู แสด แดง เหลือง ในแต่ละวันไม่เคยซ้ำเฉด ราวกับเป็นโชว์ใหญ่ปิดท้ายวัน สร้างความประทับใจให้วันพักผ่อนในบ้านหลังนี้ และคุณแจ๊คเองก็ยินดีแบ่งปันประสบการณ์ให้คนที่โหยหาอ้อมกอดธรรมชาติได้มาลองสัมผัสความรู้สึกนี้ผ่านรูปแบบของโฮมสเตย์ที่เจ้าตัวตั้งชื่อไว้ว่า “Oyea”


เจ้าของ : คุณเฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์
สถาปนิก : Yangnar Studio โดยคุณเดโชพล รัตนสัจธรรม และคุณเมธี มูลเมือง
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์
ที่ตั้ง : จังหวัดเชียงใหม่