บ้านน้อย อิงดอยหลวง
บ้านน้อย หลังนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจเพื่อสร้างเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและพักผ่อนเวลามาทำสวนในสถานที่คุ้นเคยและผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก คุณทรายเล่าว่า
“เมื่อนึกถึงวัยเด็ก เราหวนคิดถึงช่วงเวลาดีๆ ที่ได้มาสวน มานากับแม่และยาย ความสุขเรียบง่ายที่มาพร้อมกับสายลมเย็น และภาพของดอยหลวงเชียงดาวยามอาทิตย์ลับขอบฟ้าทำให้รู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้มอง พอมีหลานก็อยากให้หลานได้มีกิจกรรมในวัยเด็กที่ได้สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยเช่นกัน”
บ้านน้อย
Design Directory : Kritika Chaimoon


ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติปรากฏผ่านภาพวิวดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่าน การได้มาเห็นพื้นที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของธรรมชาติ มักทำให้เราครุ่นคิดว่าบ้านแบบใดกันที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว คำถามคลี่คลายลงเมื่อเห็นบ้านของ คุณทราย-กฤติกา ใจมูล ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบ บ้านสวนหลังเล็กพออยู่หลังนี้ ที่มีสวนป่าโอบล้อมและสระน้ำที่สะท้อนภาพเงาของดอยหลวงเชียงดาวงดงามราวสวรรค์บนดิน

ที่ดินขนาด 2 ไร่ครึ่งผืนนี้เดิมเป็นนาข้าวของคุณแม่ หลังจากที่ไม่ได้ทำนามานานเพราะขาดแรงงานและไม่มีคนดูแล คุณทรายจึงขอมาพัฒนาเป็นสวนป่า และสร้างบ้านหลังเล็กยกใต้ถุนสูง มีการขุดสระเพื่อถมดินบริเวณบ้านให้สูงขึ้น เพราะที่ดินติดกับลำห้วยและเคยถูกน้ำท่วมมาก่อน เธอเล่าถึงการเลือกตำแหน่งที่ตั้งบ้านไว้ว่า “ช่วงแรกๆตอนมาปลูกต้นไม้เคยมากางเต็นท์หลายๆจุดในพื้นที่ ลองนอนตรงนั้นตรงนี้ว่าสบายไหม ดูว่ามุมไหนเห็นวิวอะไรบ้างจึงค่อยตัดสินใจเลือกตรงนี้”





หลังจากที่ครอบครัวแวะเวียนมาพักอยู่หลายรอบ ซึ่งมาได้เฉพาะช่วงวันหยุด จึงได้เปิดให้เป็นที่พักสำหรับผู้ต้องการแสวงหาวิถีชีวิตที่ได้อยู่กับธรรมชาติและได้สูดลมหายใจได้อย่างเต็มปอด สาเหตุเริ่มจากต้องการแบ่งปันประสบการณ์อันหาได้ยากหากมีชีวิตในเมืองหลวงที่ต้องเผชิญมลพิษจากฝุ่นควัน และทำให้เห็นว่านอกจากการทำนาหรือทำสวน วิธีนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าจากคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่


บ้านหลังนี้มีพื้นที่ภายใน 60 ตารางเมตร ออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่แฝงด้วยรายละเอียดที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทางเดินโค้งนำสายตาสู่ดอยหลวงเชียงดาว ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านที่มีบันไดทางเข้าใต้พื้นที่ชายคาป้องกันแดดและฝน ภายในโปร่งโล่งด้วยดับเบิลสเปซ ครัวแบบเปิดเชื่อมพื้นที่นั่งเล่น ช่วยให้ใช้งานสะดวกและดูกว้างขวาง เติ๋นซึ่งเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นำมาใช้ในการออกแบบพื้นยกสเต็ปสร้างขอบเขตระหว่างภายนอกกับภายในอย่างเป็นธรรมชาติ พื้นที่ส่วนนี้ช่วยกันแดดด้านทิศตะวันตกไม่ให้เข้าถึงภายในบ้าน หน้าต่างบานเลื่อนและบานกระทุ้งออกแบบให้รับลมเต็มที่ ชั้นลอยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้พักผ่อนหรือนอนหลายๆคนได้ ทั้งยังมีระเบียงกว้าง เปิดรับวิวภูเขาได้เต็มตา





Nature-based บ้านหลังน้อยที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ
แนวคิดสำคัญของบ้านหลังนี้ คือ การออกแบบให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยใช้หลัก Nature-based หรือการอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ด้วยต้นทุนที่มีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ เช่น วัสดุท้องถิ่น สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ คุณทรายตั้งคำถามว่า “จะนำจุดเด่นเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำอย่างไรให้การอยู่อาศัยเกิดความสมดุลและเกื้อกูลระหว่างผู้คน บ้าน และธรรมชาติ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป แต่บ้านพื้นถิ่นยังคงเป็นคำตอบของการอยู่อาศัยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เพราะมีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมอยู่แล้ว บ้านใต้ถุนสูงเป็นหนึ่งในรูปแบบที่สะท้อนความเข้าใจในธรรมชาติ การยกพื้นสูงช่วยให้ลมไหลผ่าน ลดความชื้นจากพื้นดิน และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยใต้ถุน หลังคามีความลาดเอียงมากเพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ดี ขณะที่ชายคาที่ยื่นยาวออกไปช่วยป้องกันแดดและฝน ทำให้บ้านสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบายตลอดทั้งปี “การพึ่งพาธรรมชาติและการออกแบบให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของฟังก์ชัน แต่เป็นแนวทางของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล”









บ้านใหม่จากไม้เก่า และการปลูกไม้ใหม่
วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านได้คำนึงถึงความยั่งยืน โดยใช้ไม้สักเก่าจากบ้านเดิมของครอบครัว ซึ่งมีอายุกว่า 60 ปี ใช้เป็นเสา คาน ประตู และหน้าต่าง เพื่อประหยัดงบประมาณ นอกจากนี้ยังใช้ไม้ไผ่ที่โตตามแนวรั้วมาสานเป็นฝาขัดแตะของผนังครัว ซึ่งเป็นวัสดุใกล้บ้านที่นำมาเปลี่ยนและใช้ซ่อมแซมได้ง่าย ไม่ต้องหาซื้อหรือตัดจากที่อื่น


บ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นพื้นที่ฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วยการจัดสรรพื้นที่กว่า 50% ของที่ดินให้เป็นสวนป่า ปลูกต้นไม้ท้องถิ่น เช่น สัก ประดู่ป่า แดง สาธร และคำมอกหลวง ออกแบบการปลูกต้นไม้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ พื้นที่สูงและแห้งเหมาะกับไม้เนื้อแข็งและไม้ใหญ่ ขณะที่พื้นที่ลุ่มหรือดินชื้นปลูกต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมนี้ เช่น มะตาด ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นที่เจริญเติบโตได้ดีบริเวณริมน้ำ ริมถนนเลือกปลูกไม้ดอกที่เปลี่ยนสีตามฤดูกาล โดยช่วงพฤษภาคมจะเห็นสีม่วงจากตะแบก ตัดกับสีส้มของทองกวาวและสีเหลืองสดของคูนที่ออกดอกช่วงเดือนมกราคม ส่วนใกล้ตัวบ้านปลูกต้นไม้ให้กลิ่นหอม เช่น โมกมัน สะเดาปัก และกันเกรา เสริมบรรยากาศที่อบอุ่นผ่อนคลาย ขณะที่ริมน้ำลงไม้วงศ์ยาง หมาก และไคร้น้ำ ช่วยเสริมความสมดุลให้ระบบนิเวศโดยรอบ ทุกองค์ประกอบได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวที่ได้รับการฟื้นฟูนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ แต่ยังช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดอุณหภูมิรอบบ้านและเกื้อกูลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นที่พักพิงที่เชื่อมโยงชีวิตกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
“บ้านหลังนี้เป็นเหมือนบทสนทนาระหว่างคนกับธรรมชาติ ทุกองค์ประกอบมีเรื่องราว มีความหมาย และพร้อมเติบโตไปด้วยกัน”
สถาปนิก-เจ้าของ : คุณกฤติกา ใจมูล NatureBase.ChiangDao
เรื่อง : ปาราเมศ เมนะเนตร
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ณัฐวรรธน์ ไทยเสน
ที่ตั้ง : จังหวัดเชียงใหม่
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว ที่ผสมผสาน “ขนำ” เพิงแบบภาคใต้ และ “เพิงผาม”ของภาคเหนือ
บ้านไม้พื้นถิ่นใต้ถุนสูง ของสถาปนิก
บ้านบรรจบ บ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์นของครอบครัวใหญ่
ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag
No related posts.