คู่มือวิเคราะห์พื้นที่ เพื่อการออกแบบสวนสวย - บ้านและสวน

คู่มือวิเคราะห์พื้นที่ เพื่อการออกแบบสวนสวย

คู่มือวิเคราะห์พื้นที่ จะทำให้รับรู้ทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดของพื้นที่นั้น ๆ ก่อนจะนำไปออกแบบจัดสวนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม มีความสวยงาม และตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งการวิเคราะห์พื้นที่อย่างละเอียดจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ลดการใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น และทำให้สวนกลายเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้จริงอย่างยั่งยืน ซึ่งการวิเคราะห์พื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ดีจึงควรครอบคลุมทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โครงสร้างพื้นฐาน และข้อกำหนดกฎหมาย โดย บ้านและสวน มี คู่มือวิเคราะห์พื้นที่ เบื้องต้น มาฝาก ดังนี้

คู่มือวิเคราะห์พื้นที่

1.บริเวณโดยรอบ

สภาพแวดล้อมและบริบทชุมชนรอบพื้นที่ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการออกแบบบ้านหรือสวนให้เหมาะสม การศึกษาลักษณะชุมชน ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของผู้คนรอบข้าง จะช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดและโอกาสของพื้นที่มากขึ้น เช่น หากพื้นที่อยู่ติดแปลงนาและทุ่งโล่ง ควรพิจารณาเรื่องความเสี่ยงของไฟไหม้ในหน้าแล้งและความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีเกษตร จึงควรวางแผนออกแบบระบบป้องกันไฟ ออกแบบบ้านให้มีช่องเปิดป้องกันฝุ่นและมลภาวะจากการเผาหน้าดิน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ติดไฟง่าย หรือหากพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งเสียงรบกวน เช่น อู่ซ่อมรถ ควรใช้แนวต้นไม้เป็นกำแพงกันเสียงและหลีกเลี่ยงการออกแบบเป็นมุมพักผ่อน

นอกจากนี้  การเลือกทำเลที่มีสาธารณูปโภคครบครันยังช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการก่อสร้างได้อย่างมาก จึงควรสำรวจสภาพแวดล้อมและสาธารณูปโภคพื้นฐานรอบพื้นที่ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหลัก ทางเท้า และแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียง เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตในพื้นที่ใหม่นั้นราบรื่นและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง

2.ระยะและตำแหน่งในพื้นที่ 

การกำหนดขอบเขตและตรวจสอบระยะพื้นที่ให้ชัดเจนเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนออกแบบสวน ควรเปรียบเทียบขนาดที่ดินจริงกับเอกสารโฉนด เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนและหลีกเลี่ยงการรุกล้ำพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งการสำรวจพื้นที่ควรรวมถึงสิ่งที่อยู่บนดิน เช่น กำแพง รั้ว ทางเดิน อาคารใกล้เคียง และต้นไม้เดิม โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการเก็บรักษาไว้ รวมถึงองค์ประกอบที่มีอยู่เดิม เช่น สระน้ำ ศาลา หรือพื้นดาดแข็ง ควรพิจารณาว่าสามารถนำมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่ พร้อมทั้งวางแผนการเชื่อมต่อสวนกับอาคาร ทางเดิน และพื้นที่โดยรอบให้สะดวกและสอดคล้องกัน

ส่วนสิ่งที่อยู่ใต้ดินเป็นอีกปัจจัยที่ต้องสำรวจอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเสาไฟฟ้า จุดต่อสายไฟ ก๊อกน้ำ บ่อเกรอะ ท่อประปา ระบบรดน้ำอัตโนมัติ รวมถึงแนวท่อระบายน้ำหลักและบ่อพักน้ำ การออกแบบต้องคำนึงถึงตำแหน่งเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดทับถาวรและปล่อยให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายเมื่อจำเป็นต้องซ่อมบำรุง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้สวนสวยงาม ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

คู่มือวิเคราะห์พื้นที่

3.ระดับของพื้นที่ 

ในการออกแบบพื้นที่สวนในเมือง ส่วนใหญ่มักเป็นที่ราบ ซึ่งง่ายต่อการวางผังพื้นที่และการจัดการระบบระบายน้ำ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดอาจพบกับลักษณะภูมิประเทศที่มีความแตกต่างของระดับพื้นดิน เช่น ที่ลุ่ม แอ่งน้ำ หรือเนินชัน การศึกษาสำรวจพื้นที่ และทำความเข้าใจความลาดเอียงของพื้นดินจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถปรับระดับหรือคงลักษณะเดิมได้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น กรณีที่บ้านมีระดับพื้นสูงกว่าระดับดินมาก อาจต้องถมดินหรือทำเนินรอบตัวบ้าน เพื่อเชื่อมต่อระดับระหว่างตัวบ้านและสวนให้สะดวกต่อการใช้งาน หรือกรณีที่พื้นที่รอบบ้านมีระดับที่แตกต่างกัน อาจต้องพิจารณาทำแนวกำแพงกันดิน เพื่อเปลี่ยนถ่ายระดับได้อย่างลื่นไหล เพราะส่งผลต่อทิศทางการไหลของน้ำและการปลูกต้นไม้  

ทั้งนี้ หากละเลยอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำขัง การทรุดตัวของดิน ดินถล่ม หรือการชะล้างหน้าดิน จึงควรมีการวางแผนแนวทางป้องกันและจัดการระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในขั้นตอนการออกแบบร่วมด้วย โดยการเลือกระบบน้ำที่เหมาะสม เช่น การติดตั้งรางน้ำและท่อระบายน้ำในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อควบคุมปริมาณน้ำฝน การติดตั้งระบบน้ำหยดสำหรับพื้นที่ลาดชันมาก เพื่อลดการไหลบ่าของน้ำและการชะล้างหน้าดิน หรือระบบสปริงเกลอร์ เพื่อการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างและการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างได้อย่างยั่งยืน

คู่มือวิเคราะห์พื้นที่

4.สภาพอากาศและแสงแดด 

จากการสำรวจตำแหน่งและระดับในพื้นที่  ลักษณะภูมิประเทศยังมีผลอย่างมากต่อการเกิดลมและสภาพอากาศในบริเวณ เช่น บริเวณภูเขา ฝั่งเงาฝนมักมีอากาศแห้งแล้งกว่าปกติ ในขณะที่พื้นที่ด้านหน้าเขาจะได้รับอิทธิพลจากลมหุบเขา-ลมภูเขา หรือหากที่ดินตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาสองลูก ก็จะกลายเป็นช่องลมธรรมชาติที่ลมพัดผ่านได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ต้นไม้ บ่อน้ำ และสิ่งก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียงยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของลมและแสงในพื้นที่ เช่น อาคารสูงอาจทำให้เกิดร่มเงาบางจุด ขณะเดียวกันก็อาจเป็นสาเหตุให้บางบริเวณมีลมแรง หรือกลายเป็นพื้นที่อับลม

การออกแบบพื้นที่จึงควรคำนึงถึงลักษณะภูมิอากาศประจำปีและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทั้งทิศทางลม อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และช่วงเวลาที่พื้นที่ได้รับแสงแดด เพื่อให้สามารถวางแผนกำหนดตำแหน่งพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสม เช่น พื้นที่นั่งเล่นควรอยู่ในจุดที่ได้รับแสงแดดอ่อนในช่วงเช้าและมีร่มเงาในช่วงบ่าย แปลงปลูกพืชควรหันไปทางทิศที่ได้รับแสงแดดเพียงพอ และเลือกใช้พรรณไม้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น พื้นที่แดดจัดควรเลือกปลูกพืชที่ทนต่อแสงแดด เช่น ลั่นทม ชวนชม หรือเฟื่องฟ้า ส่วนพื้นที่ร่มเงาเหมาะกับพืชที่เติบโตได้ดีในที่ร่ม เช่น เฟิน บอนสี หรือมอนสเตอรา หากเป็นพื้นที่ลมแรง ควรใช้ไม้พุ่มแน่นเป็นแนวกันลม รวมถึงการเลือกใช้วัสดุตกแต่งสวนที่แข็งแรงทนทานและเหมาะกับการดูแลรักษาระยะยาว เช่น หิน ปูนทางเดิน ไม้ระแนง หรือวัสดุรีไซเคิล

5.มุมมอง

การออกแบบสวนให้สวยงาม มีมิติ และมีบรรยากาศที่น่าดึงดูด ควรพิจารณามุมมองทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่ เริ่มต้นด้วยการสำรวจและวิเคราะห์มุมมองจากจุดสำคัญ เช่น ทางเข้าอาคาร หน้าต่าง ระเบียง หรือทางเดิน เพื่อหามุมที่เหมาะสำหรับสร้างจุดชมวิว และลองสังเกตมุมมองในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน ทั้งเช้า บ่าย และเย็น เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแสงและเงา ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศโดยรวมของสวน

หากในพื้นที่หรือบริเวณโดยรอบมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ภูเขา แม่น้ำ หรือต้นไม้ใหญ่ ควรเน้นการออกแบบให้มองเห็นองค์ประกอบทางธรรมชาติที่มีเสน่ห์ได้ชัดเจน อย่าง การจัดวางศาลาหรือจุดนั่งเล่น พร้อมทั้งตัดแต่งต้นไม้เพื่อเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น แต่หากพื้นที่มีสิ่งกีดขวางหรือวิวที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กำแพงสูง หรืออาคารข้างเคียง สามารถใช้แนวต้นไม้ รั้วต้นไม้ หรือไม้เลื้อยช่วยกรองสายตา สร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น และเพิ่มความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ การเพิ่มจุดเด่นภายในสวน เช่น น้ำพุ แปลงดอกไม้ หรืองานประติมากรรมเล็ก ๆ ก็สามารถดึงสายตาและเบี่ยงเบนความสนใจจากวิวภายนอกได้เช่นกัน

6.พืชและสัตว์พื้นถิ่น 

การศึกษาพืชพื้นถิ่นถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการออกแบบสวนที่สอดคล้องกับระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว ซึ่งหากเลือกใช้พืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินและสภาพอากาศเฉพาะของพื้นที่มาใช้ในการจัดสวน จะช่วยลดความยุ่งยากในการดูแลรักษา ลดการใช้น้ำ ปุ๋ย และสารเคมี ช่วยประหยัดทั้งทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน

นอกจากพืชพื้นถิ่นแล้ว การวิเคราะห์พฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ในพื้นที่ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การออกแบบสวนมีความยั่งยืน โดยสัตว์บางชนิดสามารถช่วยปรับสมดุลของระบบนิเวศ เช่น นก ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช หรือปลา เต่า และไส้เดือน มีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลของแหล่งน้ำและดิน การเพิ่มองค์ประกอบ อย่างบ่อน้ำขนาดเล็ก หรือ จุดให้น้ำสำหรับนกและแมลงในการออกแบบ จึงสามารถช่วยดึงดูดสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงสัตว์ที่อาจเป็นปัญหา เช่น หนูที่เข้ามารบกวน ศัตรูพืชที่ทำลายพืชพรรณ หรืองูที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานสวน จึงต้องป้องกัน อย่างการกำจัดกองเศษวัสดุที่เป็นแหล่งซ่อนตัว การสร้างแนวกันชนทางธรรมชาติด้วยพืชที่มีกลิ่นฉุน และใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชแบบธรรมชาติ เช่น การดึงดูดแมลงที่มีประโยชน์แทนการใช้สารเคมี

7.สภาพดินเดิม

ดินแต่ละประเภทมีลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกัน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและการระบายน้ำ การตรวจสอบสภาพดินจะช่วยให้สามารถวางแผนการปรับปรุงดิน โดยหากพื้นที่มีสภาพดินที่ไม่เหมาะกับการปลูกพืชสามารถเติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปลูกพืชคลุมดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ หรือเลือกพรรณไม้ได้อย่างเหมาะสม ลดปัญหาการปลูกต้นไม้ไม่เจริญเติบโต หรือเสียหายจากน้ำขังหรือน้ำแล้ง ช่วยให้สวนสวยงามและดูแลง่ายในระยะยาว

8.ข้อกำหนดและข้อจำกัดทางกฎหมาย

ในการออกแบบสวนควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายผังเมือง ระยะร่น ขอบที่ดิน ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการน้ำ และข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น บางพื้นที่อาจมีกฎเฉพาะ อย่างการห้ามตัดต้นไม้ ห้ามขุดดินลึก หรือต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการขุดบ่อ รวมถึงการห้ามใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งก่อนการออกแบบและก่อสร้างสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ ควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารที่ดินให้รอบคอบก่อนการซื้อขาย เช่น โฉนดที่ดิน รายละเอียดผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขอบเขตที่ดิน และทางเข้าออก เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายในอนาคตและมั่นใจได้ว่าโครงการจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมาย

** หมายเหตุ อาคารที่สร้างเข้าไปในลำน้ำ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย
โดยจะต้องขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคให้ถูกต้อง  

นิตยสารบ้านและสวน เดือนเมษายน 2568
เรื่อง: สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล

Tagged :