ไอเดียพลิกแพลงวัสดุบ้าน ตอบโจทย์ฟังก์ชันใหม่ ในดีไซน์ไม่ธรรมดา
เมื่อวัสดุธรรมดา ๆ ที่เราคุ้นเคย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้งานแบบเดิมเสมอไป แต่สามารถ พลิกแพลงและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง ด้วยการดึงจุดเด่นของวัสดุ แต่ละชนิดมาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาด ไม่เพียงช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เรานำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณ พร้อมทั้งสร้างแนวทางใหม่ที่น่าสนใจในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอีกด้วย
1. ผนังโปร่งจากกระเบื้องหลังคาคอนกรีตเก่า

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: หลังคาคอนกรีต
นิยมนำมาใช้มุงหลังคาเนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ เนื้อวัสดุเป็น คอนกรีตอันเกิดจากส่วนผสมของปูนซีเมนต์ หิน ทราย และน้ำ ปกตินำมาขึ้นรูปในลักษณะแผ่นลอน จึงติดตั้งได้ง่าย และสามารถป้องกันความร้อนได้ดี
ไอเดียพลิกแพลง: นำกระเบื้องหลังคาคอนกรีตเก่ามาทำเป็นผนังโปร่ง
บ้านหลังนี้ลดขยะในการก่อสร้างด้วยการนำกระเบื้องหลังคาเก่ามาติดตั้งเป็นผนัง โดยจัดเรียงเป็นแพตเทิร์นใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม สถาปนิกพลิกแพลงไอเดียจากความเป็นรูปทรงลอน นำแผ่นกระเบื้องมาประกบเข้ากันคล้ายรังผึ้งเกิดเป็นช่องว่าง ผนังดังกล่าวจึงทำหน้าที่เป็นฉากกั้น ที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวและสามารถระบายอากาศสำหรับพื้นที่โรงทอผ้าด้านในได้เป็นอย่างดี ข้อดีคือช่วยลดความร้อนภายในบริเวณบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังได้ลวดลายของผนังที่มี เอกลักษณ์เฉพาะตัว
ออกแบบ : V2IN Architects Limited

2.ดีไซน์อเนกประสงค์จากท่อประปาพีวีซี

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: ท่อประปาพีวีซี
วัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผลิตจากวัสดุพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) เป็นหลัก นำมาใช้ในระบบงานท่อ ทั้งอุตสาหกรรมและครัวเรือน ได้แก่ ระบบประปา ระบบระบายน้ำ คุณสมบัติเด่น คือสามารถตัดต่อเองได้ง่าย น้ำหนักเบา และราคาไม่แพง จึงนิยมนำมาดัดแปลง หรือต่อประกอบ เพื่อการใช้งาน ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ขนาดมาตรฐานยาว 4 เมตร โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่นิยมใช้ตามบ้านพักอาศัย ได้แก่ ท่อขนาด 1/2 นิ้ว 3/4 นิ้ว และ 1 นิ้ว
เราพบเห็นวัสดุชนิดนี้นำไปประยุกต์ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ (Street Furniture) เช่น เก้าอี้ กันสาด ฉากกั้นโต๊ะ และราวแขวนของ ทั้งในรูปแบบชั่วคราวและถาวร สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้อยู่อาศัย ที่นำวัสดุหาได้ง่ายมาสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์การใช้สอยพื้นที่ใน ชีวิตประจำวัน จนเกิดเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบไทยๆ นั่นเอง
ไอเดียพลิกแพลง: ทำราวแขวนของในบ้านจากท่อพีวีซี
บ้านหลังนี้หยิบยกไอเดียสนุกๆ จากการประยุกต์ “ราวแขวนจากท่อพีวีซี” มาออกแบบให้ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้อยู่อาศัยและสัมพันธ์กับพื้นที่ใช้สอย สอดแทรกราวท่อพีวีซีไปตามมุมต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจุดพักของที่โถงบันได ราวแขวนผ้าชั่วคราว หรือราวตากผ้าที่ระเบียงหน้าบ้าน เพื่อจัดเก็บของอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยไม่เปลืองพื้นที่ภายในบ้าน และดูแลรักษาได้ง่ายในงบไม่แพง โดยหลังจากเชื่อมท่อประกอบเรียบร้อยแล้ว ได้เพิ่มลูกเล่นด้วยการทาสีกันสนิมก่อน แล้วจึงทาสีเหล็กสีแดงเพื่อความโดดเด่น
ออกแบบ : Everyday Architect Design Studio

3. ปรับเปลี่ยนรั้วบ้านให้มีสไตล์ด้วยหวายเทียมสาน

ภาพ : Rungkit Charoenwat
วัสดุและฟังก์ชันเดิม: หวายเทียมสาน
วัสดุสังเคราะห์ที่พัฒนาเพื่อทดแทนหวายธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดแปลงขึ้นรูปได้หลากหลาย อีกทั้งยังทนทานต่อทุกสภาพอากาศ และดูแลรักษาง่ายกว่าหวายธรรมชาติ จึงนิยมนำไปใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์และของตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ ฉากกั้นห้อง ตะกร้าสาน และอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อความชื้น มีน้ำหนักเบา จึงเหมาะสำหรับการใช้งานทั้งภายในและภายนอกอาคาร
ไอเดียพลิกแพลง: รั้วบ้านจากหวายเทียมสาน
พลิกโฉมรั้วบ้านแบบเดิมๆ ด้วยการนำหวายเทียมสานทำสีดำมาเป็นผนังรั้วแทนเหล็ก โดยนำแผ่นหวายเทียมมาขึงให้ตึงเข้ากับเฟรมอะลูมิเนียม และประกอบเข้ากับรั้วโครงเหล็กอีกชั้นหนึ่ง ให้ทั้งความสวยงาม ความโปร่ง และความแข็งแรงพอประมาณในเวลาเดียวกัน เป็นไอเดียที่ทำให้รั้วบ้านดูมีมิติมากยิ่งขึ้นจากแพตเทิร์นของการสาน สร้างกลิ่นอายความเป็นไทย
ออกแบบ : Housescape Design Lab

ภาพ : Rungkit Charoenwat
4. สร้างมิติให้ผนังด้วยแผ่นเหล็กพับ

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: แผ่นเหล็กชุบสังกะสี (Galvanized Steel Sheet)
คือแผ่นเหล็กที่เคลือบสังกะสี เพื่อป้องกันการเกิดสนิม กระบวนการชุบนี้เรียกว่า Galvanization ซึ่งช่วยให้เหล็กมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ป้องกันสนิมและการกัดกร่อน จึงสามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร จึงนิยมนำไปขึ้นรูป ดัดพับ เชื่อม ตามจุดประสงค์การใช้งาน โดยให้ความแข็งแรงเหมือนเหล็กทั่วไป
ไอเดียพลิกแพลง: ผนังบ้านจากแผ่นเหล็กชุบสังกะสี
เติมลูกเล่นให้ผนังบ้านด้วยวัสดุแปลกใหม่อย่างแผ่นเหล็กพับแทนการใช้ผนังปูนทั้งหมด โดยนำมาติดตั้งบนโครงคร่าวเหล็กคล้ายกับผนังเบา แผ่นเหล็กที่นำมาใช้กับบ้านหลังนี้มีลวดลายแบบพับสามเหลี่ยม (Diamond Pattern) เพื่อสร้างมิติของแสงเงาเพิ่มความน่าสนใจให้บรรยากาศโดยรวมของบ้าน และด้วยความเป็นโครงเบาจึงสามารถสร้างลูกเล่นอย่างการเว้นช่องเปิดผนังบริเวณด้านล่างตลอดแนว โดยไม่กระทบกับโครงสร้างหลักแต่อย่างใด และกรุผนังด้านในเป็นไม้ ผนังโซนดังกล่าวทำหน้าที่เป็นฉากกั้นภายนอกที่มีความเรียบง่ายแลดูโมเดิร์นสวยงาม
ออกแบบ : Studio Sifah

5.ประติมากรรมบันไดจากแผ่นโลหะเจาะรูพับขึ้นรูป

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: แผ่นโลหะเจาะรู (Perforated Metal Sheet)
คือแผ่นโลหะที่ผ่านกระบวนการเจาะรูเพื่อลดน้ำหนักและสร้างลวดลายตามต้องการ สามารถผลิตจากโลหะหลากหลายประเภท เช่น เหล็กกล้าคาร์บอน สเตนเลส อะลูมิเนียม และทองแดง ด้วยคุณสมบัติที่ แข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี และมีน้ำหนักเบากว่าแผ่นโลหะตัน เนื่องจากมีความพรุน ทำให้แผ่นโลหะเจาะรูได้รับความนิยมในการใช้งานหลากหลาย เช่น
• งานฟาซาด ช่วยสร้างความโปร่งและระบายอากาศได้ดี
• ผนังภายในและภายนอก เพิ่มมิติด้วยเอฟเฟกต์แสงและเงาที่ลอดผ่านลวดลาย
• ราวกันตก เสริมความปลอดภัยโดยไม่บดบังทัศนียภาพ
• เฟอร์นิเจอร์ เหมาะกับสไตล์อินดัสเทรียล และสามารถใช้งานภายนอกได้
ไอเดียพลิกแพลง: บันไดจากแผ่นโลหะเจาะรูพับขึ้นรูป
เมื่อโจทย์ในการออกแบบคือ อยากให้บันไดเปรียบเสมือนงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งในบ้าน สถาปนิกจึงนึกถึงวิธีการพับกระดาษแบบโอริงามิ (Origami) ที่ใช้วิธีขึ้นรูปทรงต่างๆ จากกระดาษเพียงแผ่นเดียว ข้อดีของการขึ้นรูปทรงดังกล่าวเพียงหนึ่งชิ้นต่อเนื่องจะได้เรื่องของความแข็งแรง เช่นเดียวกันกับการนำวัสดุแผ่นเหล็กเจาะรูมาคิดค้นวิธีการประดิษฐ์บันไดสนุกๆ โดยนำแผ่นเหล็กมาชึ้นรูปเป็นบันไดในชิ้นเดียวต่อเนื่อง เพื่อให้มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งนับว่าท้าทายหลักการทางวิศกรรมอย่างยิ่ง จึงคิดค้นเทคนิคการยึดบันไดเข้ากับโครงสร้างบ้านโดยการใช้พุกเคมี (Chemical Anchor Bolt) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทาน และแนบเนียบไปกับชิ้นส่วนอื่นๆ ของบ้าน
ออกแบบ : AUN Design Studio

6. เติมเอกลักษณ์ให้ราวกันตกด้วยท่อซีเมนต์และกระถางปูน

วัสดุและฟังก์ชันเดิม:
ท่อซีเมนต์
ผลิตจากซีเมนต์ผสมกับทรายและน้ำ ผ่านกระบวนการขึ้นรูปและอบให้แข็งตัว มีความแข็งแรง ทนต่อแรงดันและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย นำมาใช้เป็นท่อน้ำเสียหรือท่อน้ำทิ้งในงานระบบระบายน้ำและระบบชลประทาน มีขนาดมาตรฐานคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง (ระยะเคลียร์ใน) 0.30, 0.40, 0.60, 0.80, 1 และ 1.20 เมตร
กระถางปูน
กระถางที่ทำจากซีเมนต์หรือปูนซีเมนต์ มักใช้สำหรับปลูกต้นไม้หรือตกแต่งสวน มีขนาดและรูปทรงหลากหลาย
ไอเดียพลิกแพลง: ตกแต่งราวกันตกด้วยท่อซีเมนต์และกระถางปูน
เติมความสนุกให้ราวกันตกคอนกรีตเรียบๆ ด้วยการหยิบยกวัสดุเหลือใช้อย่าง ท่อซีเมนต์และกระถางปูน มาทำเป็นช่องเปิดบริเวณราวกันตกก่ออิฐ โดยกำหนดแพตเทิร์นจากขนาดที่แตกต่างกันของกระถางปูน นอกจากเปิดมุมมองไปยังอีกฝั่งแล้วยังช่วยลดความทึบตัน สร้างลูกเล่นที่น่าสนใจในราคาประหยัด โดยยังคงความแข็งแรง เช่นราวกันตกคอนกรีตทั่วไปอีกด้วย
ออกแบบ : ทวีคูณสถาปนิก
7.รั้วบ้านกึ่งฟาซาดจากท่อเหล็ก

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: ท่อเหล็ก
ผลิตจากเหล็กหรือโลหะผสมเหล็ก มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกกลวง มีหลากหลายประเภท เช่น ท่อเหล็กดำ ท่อเหล็กกัลวาไนซ์ ท่อเหล็กไร้รอยต่อ และท่อเหล็กรอยต่อ โดยออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการ คุณสมบัติเด่นของท่อเหล็กคือ มีความแข็งแรงสูง รับน้ำหนักและแรงดันได้ดี ง่ายต่อการเชื่อมและการประกอบ ขนาดมาตรฐานเส้นผ่านศูนย์กลาง ตั้งแต่1/2″ ไปจนถึง 4″
นิยมมาใช้ในงาน
• โครงสร้างอาคาร เสา คาน หรือโครงสร้างหลักแทนเสาคอนกรีต เพื่อให้ได้งานดีไซน์ที่โปร่งและทันสมัย
• โครงสร้างรองรับแผงฟาซาดและผนัง
• งานตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์อินดัสเทรียล
ไอเดียพลิกแพลง: รั้วบ้านจากท่อเหล็ก
ด้วยความที่สถาปนิกอยากให้รั้วเป็นมากกว่าการกั้นขอบเขตจากภายนอก แต่ยังทำหน้าที่เป็นสเปซสร้างประสบการณ์ก่อนเข้าไปในตัวบ้าน จึงออกแบบรั้วกึ่งฟาซาด โดยใช้วัสดุหาง่ายอย่าง ท่อเหล็ก หยิบยกคุณสมบัติเด่นอย่างการดัดแปลง ตัดแต่งง่าย และเป็นระบบโมดูลาร์ มาปรับใช้ให้เข้ากับงานดีไซน์ โดยนำท่อเหล็กที่เฉือนหน้าตัดในแนวยาวมาจัดวางจนเกิดเป็นผนังรั้ว และเว้นช่องแสงในบางช่วงเพื่อให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามาได้ เกิดเป็นรั้วบ้านที่มีมิติของแสงเงาจากลูกเล่นของผนังคลื่นในด้านหนึ่งอันเกิดจากการเฉือนหน้าตัด และทำสีพ่นพื้นผิวอย่างสวยงาม
ออกแบบ : HAS design and research Studio

8. สถาปัตยกรรมจากฐานลูกปูนคอนกรีต

วัสดุและฟังก์ชันเดิม: ลูกปูนคอนกรีตรูปทรงลูกบาศก์
เป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร ผลิตจากคอนกรีตเสริมแรงด้วยเหล็กและเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลดการแตกร้าว และช่วยให้สามารถรับแรงได้ดี ลูกปูนคอนกรีตมีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมใต้น้ำ และสามารถนำไปใช้งานในหลายฟังก์ชัน โดยมีหน้าที่หลัก ได้แก่
• ถ่วงสมอเรือหรือโครงสร้างใต้น้ำ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายจากกระแสน้ำหรือแรงลม
• สร้างขอบเขตพื้นที่และเส้นทางเดินเรือ เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยในท่าเรือ
• เป็นฐานยึดทุ่นลอยน้ำ โดยวางลูกปูนไว้ที่ก้นน้ำและยึดทุ่นด้วยเชือกหรือโซ่ เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำคงตำแหน่งในน้ำ
ไอเดียพลิกแพลง: ฐานแผ่และผนังจากฐานลูกปูนคอนกรีต
ท้าทายขีดจำกัดของการออกแบบสถาปัตยกรรม ด้วยการนำลูกปูนคอนกรีตรูปทรงลูกบาศก์ซึ่งปลดระวางจากการทำเรือเดินสมุทรและแท่นขุดเจาะมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ร่องรอยการใช้งานเดิมกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดความสนใจของสถาปนิก จึงนำลูกปูนมาวางเรียงเป็นฐานแผ่ของอาคารที่พักอาศัยและส่วนพื้นของระเบียง และนำมาตั้งเรียงรายเป็นผนังของโรงจอดรถ โดยเว้นช่องเปิดอย่างมีจังหวะ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและยังคงความเป็นส่วนตัว และยังเป็นการทดลองเชิงสถาปัตยกรรมในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการรีไซเคิลวัสดุโดยคำนึงถึงคุณสมบัติของวัสดุเป็นอย่างดี
ออกแบบ : สถาปนิก O2 Studio

9.สร้างสรรค์ฟังก์ชันใหม่จากไม้เก่า
วัสดุและฟังก์ชันเดิม: ไม้
คือวัสดุธรรมชาติจากต้นไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้างและตกแต่ง คุณสมบัติเด่น ได้แก่ ความแข็งแรงยืดหยุ่น มีลวดลายสวยงาม สามารถแปรรูปได้ง่าย และมีหลากหลายชนิด จึงนิยมนำไปใช้ในงานต่างๆ เช่น โครงสร้างอาคาร เฟอร์นิเจอร์ งานตกแต่งภายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยประยุกต์ให้น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
การนำไม้เก่ามาประยุกต์ใช้สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และความต้องการในการใช้งาน ไม้เก่ามักมีความสวยงามและลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่สามารถหาได้จากไม้ใหม่ นี่คือไอเดียบางส่วนในการนำไม้เก่ามาประยุกต์ใช้

ไอเดียพลิกแพลง: บันไดจากเสาไม้เก่า
นำเสาไม้เก่ามาบากโดยใช้มุย (ขวาน) เเละมีด เป็นรูปทรงขั้นบันได จากนั้นทำฐานด้วยก้อนหินที่พบเจอตามธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง โดยนำก่อนหินมายึดกับขาเหล็กเพื่อรับน้ำหนักชิ้นไม้บันได และใช้เหล็กกลมมาดัดเป็นราวกันตก เป็นการออกแบบบันไดเรียบง่ายแบบชาวบ้าน ด้วยจำนวนขั้นและความสูงที่ไม่มากนัก การยึดด้วยเหล็กจึงเพียงพอต่อการรับน้ำหนัก
ออกแบบ : YANGNAR STUDIO

ไอเดียพลิกแพลง: ท็อปโต๊ะจากไม้เก่า
ออกแบบโต๊ะทำงานโดยนำแผ่นแม่บันไดไม้เก่าจำนวน 4 ชิ้นมาวางเรียงจนได้ขนาดโต๊ะที่พอดี และตั้งใจคงไว้ซึ่งร่องรอยการบากของไม้ เพื่อโชว์ความดั้งเดิมของวัสดุุ และสอดรับกับบรรยากาศบ้านท่ามกลางธรรมชาติ
ออกแบบ : Full Scale Studio โดยคุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล

ไอเดียพลิกแพลง: บานกระทุ้งจากหน้าต่างไม้เก่า
นำหน้าต่างไม้เก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว มาปรับใช้เป็นหน้าต่างบานกระทุ้ง บริเวณเคาน์เตอร์คอฟฟี่บาร์ โดยยังคงเอกลักษณ์ของลวดลายลูกฟักจากบานหน้าต่างเก่า เพิ่มเสน่ห์แบบวินเทจ ไอเดียนี้สามารถทำตามได้ง่ายเพียงนำไม้มาขัด และทาน้ำยาเคลือบหรือทาสีใหม่ตามต้องการ เกิดเป็นของใหม่ที่ทั้งสวยและมีเรื่องราวในตัวเอง
ออกแบบ : ID Architect
Home Expert ฉบับเดือนมีนาคม 2568
เรื่อง: Nantagan
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน, Rungkit Charoenwat