บ้านตากอากาศริมเขา แทรกกลิ่นอายพื้นถิ่นของเฮียนเสายองหิน
บ้านตากอากาศริมเขา ของเจ้าของบ้านผู้หลงรักการเดินป่า จนตัดสินใจลงหลักปักเสาเอก สร้างบ้านไว้ท่ามกลางขุนเขาเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อร่นระยะทางการเดินทางสู่ป่าให้เข้าใกล้มากขึ้นกว่าเดิม
Design Directory : Housescape Design Lab

บ้านเสายองหิน อิงหลังด้วยเขาน้ำก้อใหญ่ แทรกตัวอยู่อย่างสงบท่ามกลางเรือกสวนริมหมู่บ้านเล็กๆ สำหรับคนนอก การเดินทางมาที่บ้านหลังนี้อาจไม่ง่ายนัก แต่สำหรับ คุณแพร – เหมือนแพร ทองขัน และคุณเต้ – ไตรเทพ พูลศรีงาม ผู้เป็นเจ้าของบ้าน บ้านหลังนี้เป็นจุดแวะพักแสนสำราญ ที่ออกเดินทางเที่ยวได้ง่ายมากๆ “ที่นี่ไปเขาค้อก็ได้ ภูทับเบิกก็ได้ น้ำหนาวก็ได้” คุณแพรเล่า
ด้วยความชื่นชอบการเดินป่าและแคมปิ้ง ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจซื้อที่ดินในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสร้างบ้านตากอากาศสำหรับพักผ่อน รวมถึงใช้เป็นลานปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทั้งสองเริ่มวางแผนทำบ้านด้วยการปรับถมที่ดิน พลางมองหาสถาปนิกจากแนวทางการออกแบบที่ตรงจริตอย่างใจเย็น เวลาผ่านไปกว่า 5 ปีนับตั้งแต่ซื้อที่ดิน จนกระทั่งดินที่ถมไว้เริ่มอัดแน่น จึงติดต่อกันทางโทรศัพท์ และเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อคุยแผนการทำบ้านที่สตูดิโอของ Housescape Design Lab


สร้างสรรค์พื้นที่ด้วยจริตของการพักผ่อนใน บ้านตากอากาศริมเขา
ในการพบกันครั้งแรก คุณแพรและคุณเต้มีโจทย์การทำบ้านเพียงสั้นๆว่า “เราอยากได้บ้านที่แคมปิ้งได้ พักผ่อนได้แบบกลืนไปกับธรรมชาติ
“เราบอกไปเท่านั้น ไม่ต้องพูดอะไรเยอะเลยค่ะ และเหมือนสถาปนิกก็รู้ว่าเราชอบเสพบรรยากาศ ก็เลยเข้าใจกันง่าย ส่วนฟังก์ชันที่ต้องการคืออยากได้ห้องนอน 3 ห้อง มีห้องน้อง ห้องเรา กับห้องแขก เขาถามด้วยว่าในอนาคตจะทำ AirBnB ไหม เราก็บอกว่าสนใจอยู่เหมือนกัน อยากให้ทำเผื่อไว้ หลังจากนั้นสถาปนิกทำแบบมาแค่ครั้งเดียว เราก็ชอบเลย เพราะฟังก์ชันที่ทำมาให้ก็ใส่ไว้ครบแล้ว”

ฟังก์ชันต่างๆ ของบ้านออกแบบผ่านไลฟ์สไตล์ของคุณแพรและคุณเต้ โดยกิจวัตรส่วนใหญ่ของทั้งคู่เมื่อมาที่หล่มสักคือการพักผ่อน แคมปิ้งสังสรรค์ และทำอาหารกับเพื่อนๆ เมื่อผสมกับจินตนาการถึงกิจกรรมที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากสถาปนิก ก็ทำให้แทบทุกห้องของบ้านมีมุมพักผ่อนหลากอิริยาบถเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ ทั้งช่องหน้าต่างขนาดพอดีสำหรับนั่งเล่นบนกรอบบาน มุมนั่งเล่นชมดาวก่อนเข้านอน ชานไม้หลากระดับที่อยากจะนั่งห้อยขารับลม หรือใช้ต่างโต๊ะในวันที่นึกอยากปิ้งหมูกระทะก็ทำได้ แม้แต่ในบางมุมที่เจ้าของบ้านก็ไม่คิดจะมีมาก่อน สถาปนิกได้เติมไอเดียแทรกไว้ในบ้านจนกลายเป็นมุมโปรดไปโดยปริยาย



บ้านตากอากาศริมเขา ที่ประกอบบ้านจากสภาพแวดล้อม
บ้านเสายองหิน มีรูปแบบมาจากการสำรวจพื้นที่ควบคู่กับการสืบค้นข้อมูลวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ “เวลาเราทําบ้าน เราจะไปสํารวจพลังของไซต์ แล้วเราก็ based on research ด้วย เมื่อเราหาข้อมูล ก็ไปเจองานวิจัยเรื่องเฮียนเสายองหินของคุณขนิษฐา ปานศรี และศาสตราจารย์ ดร.วีระ อินพันทัง เป็นงานวิจัยรูปแบบบ้านพื้นถิ่นในแถบเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเรือนยกพื้นที่ตั้งเสาไว้บนก้อนหิน ก็เกิดสมมติฐานว่าบริเวณนี้น่าจะต้องมีหินเยอะ พอขุดดินลงไปก็เจอเลย เป็นหินกรวดในชั้นตะกอน” คุณเบล – พีระพงษ์ พรมชาติ สถาปนิกจาก Housescape Design Lab เท้าความถึงที่มาของการออกแบบบ้าน


ความตั้งใจหนึ่งของสถาปนิกคือการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องที่มาใช้กับบ้านให้มากที่สุด เพื่อให้เกิด Sense of Place เตือนใจให้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ จึงนำธรรมชาติของพื้นดินที่ประกอบด้วยหินมาใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของบ้าน ทั้งนำหินที่ขุดได้จากการปรับที่ดินมาบรรจุเป็นแนวรั้วกล่องกระชุหิน (Gabion) ก่อเป็นขั้นบันไดหินธรรมชาติ ประดับอยู่ตามส่วนต่างๆ ในบ้าน และเป็นฐานรองรับเสาไม้ทุกต้น ซึ่งอ้างอิงจากเฮียนเสายองหินดั้งเดิมตามงานวิจัย นอกจากนี้ยังเน้นวิธีการทำบ้านแบบแฮนด์คราฟต์ด้วยฝีมือของช่างท้องถิ่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์และโคมไฟแทบทุกชิ้นที่ทดลองขึ้นแบบในสตูดิโอ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละส่วนของบ้าน


ด้วยความชื่นชอบวัสดุไม้และร่องรอยที่บ่งบอกถึงเรื่องราว ทำให้ทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกต่างเห็นตรงกันว่าจะเลือกใช้ไม้เก่าในการทำบ้าน ทว่าในพื้นที่แถบเพชรบูรณ์หาไม้เก่าได้ไม่ง่ายนัก จึงตัดสินใจซื้อไม้จากบ้านเก่าที่กำลังรื้อในจังหวัดเชียงใหม่ขนส่งมาสร้างในจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม้เก่าจากบ้าน 3 หลัง นำมาประกอบขึ้นใหม่โดยเคารพร่องรอยที่มีอยู่เดิม บางชิ้นนำมาออกแบบเป็นวัสดุบ้านที่เปลี่ยนหน้าที่ไป บางชิ้นก็วัดขนาดและนำมาประกอบให้ลงตัวกับฟังก์ชันใหม่ ซึ่งข้อดีของไม้เก่า ก็คือความแกร่งในเนื้อไม้ ไม่หดงอง่ายๆ
“ไม้เก่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องการยืดหดมากเท่ากับไม้แปรรูปใหม่ โดยสิ่งที่ติดมากับไม้เก่าคือร่องรอย คือสัณฐานของการมีอยู่ของไม้ก่อนหน้านี้ และเราชอบในร่องรอยที่ไม่สมบูรณ์แบบในตัววัสดุ ในเนื้อ ในผิวที่ถูกใช้งานมาแล้ว”


สร้างสถาปัตยกรรมกรรมที่นำให้สัมผัสธรรมชาติ
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ Sense of Earth ที่แฝงอยู่ในการสัมผัสพื้นผิวธรรมชาติ ทั้งการเหยียบลงบนหินธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในบ้าน การสัมผัสผิวดินและพืชพรรณระหว่างเดินผ่านคอร์ตยาร์ดเพื่อไปยังแต่ละอาคาร สถาปนิกออกแบบบ้านเพื่อเอื้อให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยการจัดผังบ้านเป็นกลุ่มอาคาร แยกฟังก์ชันหลักของบ้านออกจากกัน ทำให้ช่วงจังหวะของการสัมผัสธรรมชาติเปลือยเปล่าแทรกกลืนอยู่กับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก โดยจัดเรียงฟังก์ชัน อิงตามสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ มีเรือนรับแขกและเรือนนอนเปิดมุมมองสู่เขาน้ำก้อใหญ่ มีเรือนครัวห่างออกไปไม่ไกลที่สามารถทำอาหารมื้อเล็กง่ายๆ มารับประทานในบ้าน หรือจะเตรียมวัตถุดิบส่งไปยังลานแคมป์ไฟหน้าบ้านในวันที่อยากพบปะสังสรรค์ก็สะดวก

อาคารทั้ง 3 ส่วนวางประกอบกันด้วยองศาแปลกตา ไล่ระดับหลังคาไปตามความสูงของพื้นที่เกิดเป็นคอร์ตยาร์ดหลากรูปแบบที่เปิดให้อากาศรอบบ้านได้เข้าไปแทรกตัวอยู่ระหว่างอาคาร ทำให้ชีวิตประจำวันที่อาศัยการเดินเชื่อมผ่านไปยังส่วนต่างๆ ของบ้านสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาพแวดล้อม สื่อออกมาในรูปลักษณ์ของบ้านที่ยากจะบอกได้ว่าอาณาเขตระหว่างบ้านกับธรรมชาติจะบรรจบกันที่ใด




เมื่อลมฟ้าแทรกอยู่ระหว่างตัวบ้าน การออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับความรุนแรงของสภาพอากาศในชนบทจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยโครงหลังคาที่สานถักซับซ้อนออกแบบมาเพื่อยึดแผ่นกระเบื้องไม่ให้หลุดปลิวในยามพายุโหม รวมถึงทำชายคายื่นยาวก็เพื่อรักษาร่มเงาให้บ้านในวันที่อากาศไม่เป็นใจ คงความเป็นชานบ้านนั่งสบาย เชื้อเชิญให้ออกมานั่งชมความงามของธรรมชาติในอีกรูปแบบ




บ้านเสายองหินที่สร้างมาเพื่อพักผ่อนแฝงไปด้วยการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมอย่างละมุนละม่อม ด้วยการออกแบบที่กลมกลืนไปกับตัวตนของคนอยู่บ้านจนแทบไม่รู้สึกผิดแผก
“ต่อให้เราอยู่บ้านในเมืองเราก็ชอบไปเดินป่าอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไรมาก แต่การมีบ้านหลังนี้เหมือนทำให้เราเดินทางไปป่าง่ายขึ้น เหมือนเป็นที่ให้เราพักตรงนี้ด้วยก่อนจะไปต่อ”
การมีอยู่ของบ้านช่วยร่นระยะทางของการสัมผัสป่าเขาให้เข้าใกล้มากขึ้น หรือแม้ในวันที่ตัวไม่ได้สัมผัสป่า เพียงการใช้ชีวิตอยู่บ้าน ก็ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้

เจ้าของ : คุณเหมือนแพร ทองขัน และคุณไตรเทพ พูลศรีงาม
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Housescape Design Lab
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง, ธนายุต วิลาทัน
สไตล์ : Suntreeya