อนุรักษ์ป่า ผมเดินทางไปเชียงใหม่ปีละหลายทริป ส่วนมากจะเป็นเรื่องงาน ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย ประชุม ถ่ายคอลัมน์ ทุกครั้งที่ไปก็จะจัดสรรเวลาสักครึ่งวันเป็นอย่างน้อยในการหาแรงบันดาลใจ เช่นดูงานศิลปะในแกลเลอรี นั่งเขียนงานตามร้านกาแฟสวยๆ คุยกับศิลปินและครูช่างในท้องถิ่น ขับรถขึ้นดอยไปสูดอากาศบริสุทธิ เป็นต้น
เมื่อช่วงกันยายนหลายปีก่อน ตัดสินใจนั่งรถออกนอกเมืองทันทีที่ ประชุมเสร็จ เพื่อไปเยี่ยมคนรู้จักที่อำเภอแม่แจ่ม ช่วงนั้นพายุดีเปรสชั่นกำลังเข้าฝนตกตลอดทาง กว่าจะถึงก็เกือบจะหมดวัน เพื่อนผมซึ่งก็คือนายอำเภอแม่แจ่มนั่นเอง ก็มารับไปทานอาหารค่ำที่บ้านพัก บรรยากาศคึกคักมากเพราะกำลังมีการเลี้ยงอาหารให้กับพลทหารที่มาช่วยวางถุง ทรายสร้างแนวกันน้ำท่วมตามจุดสำคัญต่างๆของชุมชน บริเวณนี้เป็นส่วนนึงของป่าต้นน้ำ เวลามีฝนต่อเนื่องก็จะมีน้ำหลาก บางทีก็มีมากจนล้นตลิ่งและท่วมบ้านคนที่อยู่ในพื้นที่ราบ
แม่แจ่มทั้งอำเภอตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน แต่ก่อนที่จะถูกตั้งเป็นป่าสงวน แม่แจ่มซึ่งในอดีตถือว่าห่างไกลความเจริญมากผ่านการเป็นตำบลและกิ่งอำเภอมา หลายรอบกว่าจะถูกตั้งเป็นอำเภอเพราะมีประชากร(ที่เรียกว่าคนเมือง)น้อย กระนั้นการจะพัฒนาให้เจริญแบบอำเภออื่นๆก็เป็นไปได้ยากเพราะกรอบกฏหมายของ การเป็นเขตป่าสงวน
เท่าที่คุยกับท่านนายอำเภอ ท่านก็ไม่ได้ต้องการให้ที่นี่เจริญแบบเมือง แต่ต้องการให้มีระบบสาธารณุปโภคที่ดีขึ้น ให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นดีขึ้น และที่สำคัญคือลดการบุกเข้าไปตัดต้นไม้เพื่อทำไร่ทำนาในป่าสงวนมากไปกว่านี้
ถามว่าทำไมพวกเขาต้องถางป่า อย่างแรกก็เพราะว่าประมาณ60% ของประชากรเป็นชาวไทยภูเขา การทำการเกษตรในพื้นที่เนินเขาเป็นสิ่งที่ดำเนินมาก่อนที่จะมีการกำหนดให้ เป็นอำเภอหรือเขตป่าสงวนเสียอีก จะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือห้ามแบบไม่ช่วยหาอาชีพทดแทนที่ยั่งยืนมาแนะนำก็คง ไม่ได้
อย่างที่สองคือความหิวทำให้พื้นที่ทำกินต้องขยายขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะความยากจน แต่เพราะรายได้จากการทำไร่ทำนาบนพื้นที่เท่าเดิมไม่สามารถสร้างรายได้มากพอ กับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตสมัยนี้ (หรือจะพูดให้ตรงๆเลยก็คือ การแสวงหาสิ่งที่อยากได้อยากมี เช่นเครื่องไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ)
ท่านนายอำเภอมีแนวคิดนึงที่ผมเห็นด้วยมากๆก็คือ การเปลี่ยนกำหนดบางส่วนของอำเภอให้เป็นพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า “เขตชุมชนเฝ้าดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ” ทำให้ชาวเขาชาวเมืองแม่แจ่มรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเขาในการรักษาป่าแห่งนี้ ด้วยการปันส่วนเล็กๆของเงินที่ได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนมาเป็นค่า ตอบแทน ทุนการศึกษา หรือนำมาพัฒนาโรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทางต่างๆให้ดีขึ้น เมื่อพวกเขามีรายได้พิเศษมาจุนเจือ เขาก็ไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เข้าไปในป่าสงวนเพื่อนำไปปลูกข้าวโพดหรือพืช เศรษฐกิจแบบที่อำเภออื่นๆเขาปลูกกันได้เพราะไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวน
ท่านนายอำเภอยังเล่าให้ฟังอีกว่ามีมหาวิทยาลัยในภาคเหนือแห่งหนึ่งยื่นมือ เข้ามาขอช่วยพัฒนาโครงการรับจ้างปลูกป่าและดูแลต้นไม้ โดยรับทุนสนับสนุนจากคนทั่วประเทศและหน่วยงานใหญ่ๆที่ต้องการทำกิจกรรมคืนสู่สังคม ซึ่งถ้าทำได้จริงๆก็จะหมายถึงการคืนพื้นที่บุกรุกให้กลับมาเป็นป่าปลูกแบบ ที่ละต้นสองต้นค่อยๆเป็นค่อยๆไป และจะเหลือพื้นที่ไร่นาเฉพาะการดำรงชีพแบบพอเพียง และการค้าขายในชุมชนเท่านั้น
ยังมีอีกหลายไอเดียที่ผมได้รับฟังจากเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ ทั้งเรื่องการจัดการกับการเผาไร่เผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร(และบางที ก็เพื่อบุกป่า)ซึ่งก็ทำกันมานานมาก หรือการค่อยๆ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่ยั่งยืน ไม่ให้เป็นแค่จุดถ่ายรูปไว้อวดกันบนโซเชียลมีเดียช่วงฤดูหนาวสำหรับคน กรุงเทพ
ขอให้แนวคิดที่ดีถูกนำมาใช้จนได้ผล ขอให้ได้รับการสนับสนุนจากทุกๆ ฝ่ายโดยเฉพาะจากส่วนราชการเอง และขอให้ชาวบ้านเข้าใจตรงกันและร่วมมือกับท่านนายอำเภอคนนี้หรือคนต่อๆไปที่ เห็นด้วยกับความคิดนี้ครับ อนุรักษ์ป่า