“พี่อยู่กรุงเทพฯมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ไปเรียนจนจบ ทำงาน นาน ๆ ทีก็กลับมาบ้าน การกลับมาอยู่ที่นี่เปลี่ยนเราเยอะ เพราะเราโตที่กรุงเทพฯและเคยชินกับชีวิตในเมือง แต่พอมาอยู่ที่นี่นาน ๆ ขึ้น เราก็เริ่มชอบมากขึ้น ชีวิตต่างจังหวัดจะนิ่งและสงบ”
“ชีวิตเรานิ่งขึ้น ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติมากขึ้น เราสัมผัสได้ เราสามารถเดินเท้าเปล่าเหยียบหญ้าได้ตลอด อยู่ใกล้แม่อยู่ใกล้พี่น้องซึ่งเป็นคนที่เรารัก ก็ทำให้มีความสุข”
“ถามว่าบ้านหลังนี้สวยไหม พี่ก็ว่าไม่ได้สวยอะไรมากนะ ดีไซน์ก็ไม่ได้โดดเด่นแปลกตา แต่สิ่งสำคัญคือมีเรื่องราวและความทรงจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ทำให้เราเก็บบ้านหลังนี้เอาไว้”
คุณเคยคิดบ้างไหมว่าจะเลือกไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไหน … เชื่อว่าคำตอบของหลายคนคงเลือกกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตน เหมือนเช่นเจ้าของบ้านหลังนี้ที่เลือกกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขที่จังหวัด อุดรธานี
บ้านแสนรักที่ผมมาเยือนในครั้งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแยกวิ สต้า ซึ่งมีที่มาจากชื่อโรงภาพยนตร์วิสต้าที่เคยเปิดให้บริการ ปัจจุบันเหลือเพียงตัวอาคารที่ยังคงตั้งตระหง่านบอกเล่าเรื่องราวในอดีต บ้านน้อยหลังนี้ซ่อนตัวอยู่หลังพุ่มชงโคที่แผ่กิ่งก้านออกไปไกล เจ้าของบ้านเป็นสุภาพสตรีผู้มีนามว่า คุณอิ๋ว – อรประพัชญ์ สมศิริ เดินออกมาเปิดบ้านต้อนรับเราอย่างอบอุ่น
มอง จากภายนอกเราจะเห็นบ้านไม้หลังกะทัดรัด บางส่วนทาสีเหลืองสดใส ดูสวยสมบูรณ์แบบ แท้จริงแล้วบ้านหลังนี้มีอายุมากกว่าตัวคุณอิ๋วเองเสียอีก เพราะเป็นบ้านที่คุณพ่อของเธอปลูกไว้ตั้งแต่มาตั้งรกรากเปิดโรงพยาบาลและโรง ภาพยนตร์ข้าง ๆ กัน หลังคุณพ่อเสีย บ้านนี้ก็ปิดตายอยู่นานจนมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ก่อนที่คุณอิ๋วจะตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพฯกลับมาอยู่ที่อุดรธานี
“ตอนแรกที่คุยกับคุณอิ๋ว ก็ตัดสินใจกันอยู่นานว่าจะเก็บบ้านหลังนี้เอาไว้ไหม หรือจะรื้อแล้วปลูกใหม่ดี แต่พอคุยกันอีกทีตอนที่คุณอิ๋วพามาสำรวจรอบบ้าน เราก็พบว่าคุณอิ๋วมีความทรงจำดี ๆ กับบ้านนี้อยู่มาก คิดว่าลึก ๆ ในใจคุณอิ๋วเองก็คงอยากเก็บบ้านหลังนี้เอาไว้” คุณปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกผู้ปรับปรุงบ้านหลังนี้ เล่าให้เราฟัง
แม้หลังจากเข้าไปตรวจสอบบ้านโดยละเอียดและเริ่มก่อสร้างไปแล้วจะพบว่าบ้านนี้มีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลวกทำรังอยู่บริเวณชั้นล่าง ห้องน้ำที่อยู่นอกบ้าน หรือการยกบ้านและทำเสาเข็มใหม่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนกลายเป็นบ้านเก่าที่ดูใหม่และแข็งแรงอย่างที่เห็น นอกจากปรับปรุงบ้านหลังเก่าแล้ว บริเวณหลังบ้านยังปรับเปลี่ยนรื้อถอนเป็นเรือนครัวและห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งรับกับพื้นที่ด้านหลังซึ่งออกแบบเป็นสวนอย่างสวยงาม รับกับตัวบ้านอีกด้วย
ภายในบ้านดูสบายตาด้วยโทนสีเย็นตัดกับสีทาภายนอกที่ใช้โทนสีร้อนดูสว่างตา การตกแต่งเน้นความเรียบง่ายโดยใช้เฟอร์นิเจอร์เดิม ผสมผสานกับของตกแต่งใหม่ที่ให้กลิ่นอายแบบย้อนยุค มีช่องหน้าต่างบานใหญ่สูงจากพื้นจนเกือบจรดเพดาน ซึ่งเปิดโล่งให้ลมเย็นสบายพัดผ่านเข้ามา คุณอิ๋วพาเราเดินชมส่วนต่าง ๆ ภายในบ้าน ซึ่งเรื่องราวในแต่ละส่วนดูจะผสมเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องราวในอดีตอย่างแจ่มชัด แม้เธอจะไม่ได้อยู่ที่นี่ประจำมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วก็ตาม ผมอดไม่ได้ที่จะถามถึงเหตุผลที่คุณอิ๋วกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้อีกครั้ง
“ที่กลับมาอยู่บ้านนี้ อย่างแรกคือเรารีไทร์ตัวเองแล้ว อีกอย่างคุณแม่ก็อยู่ที่นี่ตลอด กลับมาก็ได้อยู่ใกล้ท่านด้วย ถ้าเราไม่กลับมาอยู่ตรงนี้ บ้านหลังนี้ก็เหมือนถูกปิดตาย พอทำบ้านใหม่มีคนเข้าคนออก บ้านก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้น”
สิ่งหนึ่งที่แทรกไปกับส่วนต่าง ๆ ในบ้านคือเครื่องดนตรีอย่างเปียโนและกีต้าร์ รวมถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งบางส่วนเป็นของคุณพ่อ พอคุณอิ๋วกลับมาอยู่ที่บ้านก็เริ่มมีเวลาว่างพอที่จะฝึกเล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้อีกครั้ง หลังไม่ได้จับมาตั้งแต่เด็ก รวมไปถึงภาพวาดสีน้ำ ซึ่งบางภาพก็เป็นฝีมือของเธอเอง โดยนำไปใช้ตกแต่งภายในบ้านด้วยเช่นกัน
“อยู่ที่นี่มีเวลาว่างเยอะมาก สามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เล่นดนตรีไปครึ่งวัน แต่งบ้าน ทำงานบ้าน หรือออกไปนอกบ้านอีกครึ่งวัน ซึ่งตอนที่อยู่กรุงเทพฯเราไม่เคยได้ทำแบบนี้เลย”
เสียงเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงเคล้ากับเสียงเปียโนผ่านปลายนิ้วของเจ้าของบ้านดังกังวานไปทั่ว ทำให้บ้านดูราวกับมีชีวิตและย้ำเตือนว่าบ้านหลังนี้จะไม่เงียบงันอีกต่อไป
บทเพลง “คิดถึงบ้าน” ของคุณจรัล มโนเพ็ชร ดังก้องอยู่ในความคิดของผม …มองดูดวงตะวันก็ยังส่องแสงไปบ้านฉัน ยามฟ้ามืดครึ้ม คิดถึงบ้าน…
เราอาจมีจังหวะชีวิตผกผันที่พาเราออกจากบ้านที่เคยอยู่ไปตั้งตัวหรือมีชีวิตอยู่ในที่ที่ไกลออกไปเป็นระยะเวลานาน หากทุกครั้งที่มีโอกาส คงไม่มีใครไม่คิดถึงบ้านในวัยเด็กที่ซึ่งมีพ่อแม่ พี่น้อง และเพื่อนฝูงรายรอบ แม้บ้านนั้นอาจไม่สวยงามแบบทันสมัย แต่อยู่แล้วสร้างความรู้สึกสบายกายสบายใจ เป็นบ้านที่มีความหมาย มีเรื่องราวให้นึกถึงเสียงหัวเราะ ร้องไห้ หรือยิ้มได้ตามใจ แม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ใจเราก็ไม่เคยอยู่ไกลจากบ้านเกิดของเราเลย
ผมเชื่ออย่างนั้นครับ…
บ้านแสนรักของคุณอรประพัชญ์ สมศิริ
สถาปนิก: เฮ็ดดีไซด์ สตูดิโอ โดยคุณปองพล ยุทธรัตน์
เรื่อง : “ปัญชัช”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล