เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เว็บไซต์บ้านและสวนขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เผยแพร่พระอัจฉริยภาพในด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และสิ่งแวดล้อม
เราได้หยิบยกพระราชกรณีกิจบางส่วนที่รวบรวมอยู่ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ” ซึ่งจัดทำเป็นพิเศษโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร มาให้ทุกคนได้ทราบกัน
- บึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร 2528
เดือนเมษายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่างๆของกรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นที่การปรับปรุงบึงมักกะสัน ซึ่งมีเนื้อที่ 90 ไร่ให้เป็นบ่อพักน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยพระองค์ทรงเรียกว่า โครงการ “แก้มลิง”
- สระเก็บน้ำพระรามเก้า จังหวัดปทุมธานี 2528
โครงการแก้มลิงอีกแห่งที่เริ่มดำเนินการพร้อมบึงมักกะสัน โดยการขุดสระขึ้นมาสองสระ ขนาด 790 ไร่ และ 1,790 ไร่ ตามลำดับ อยู่ระหว่างคลอง 5 กับ คลอง 6 นอกจากจะช่วงเก็บกักน้ำในฤดูฝนแล้ว โครงการนี้ยังสามารถระบายน้ำออกไปเจือจางความเน่าเสียของน้ำในคลองหลายแห่งในกรุงเทพฯได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริที่ว่า “น้ำดีไล่น้ำเสีย”
- อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการปรับปรุงอาคารเก่าแก่แห่งนี้ จากเดิมที่เป็นอาคารเรือนแถวแบบจีนที่เสื่อมโทรม ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความสวยงามและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บางส่วนของซากปรักหักพังมีการอนุรักษ์ไว้ บางส่วนมีการสร้างใหม่เพื่อจำลองสภาพเดิมของสถาปัตยกรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น เป็นอีกโครงการหนึ่งที่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า นักพัฒนาที่ดีต้องเป็นนักอนุรักษ์ด้วย
- ถนนหยดน้ำ กรุงเทพมหานคร 2536
เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครมีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้การจราจรติดขัด กรุงเทพมหานครจึงได้วางแผนจะขุดทางลอดใต้ด้านหน้ากรมสรรพากรเก่า เพื่อระบายรถที่ข้ามสะพานมาจากฝั่งธนบุรีเข้าสู่ถนนราชดำเนินและท้องสนามหลวง แต่อาจต้องใช้งบประมาณถึงสองร้องล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงทางเลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยทรงออกแบบและทรงร่างแบบทางลงจากสะพานให้มีช่องจราจรให้รถวนกลับสู่ถนนเจ้าฟ้าเป็นรูปหยดน้ำ เพื่อลอดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกสู่สนามหลวงได้ และให้ยกเลิกสัญญาณไฟจราจร ทำให้รถสามารถเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางได้อย่างคล่องตัว ทั้งหมดใช้งบประมาณไม่เกินยี่สิบล้านบาท
- สะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ กรุงเทพมหานคร 2538
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็น “โบราณสถานแห่งชาติ” เมื่อปี 2518 เนื่องจากเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวสะพานมีความสวยงามด้วยราวสะพานเหล็กหล่อและเสาหินอ่อน แต่สภาพการจราจรบนถนนราชดำเนินนั้นคับคั่งเกินกว่าที่ 7 ช่องจราจรของสะพานนี้จะรับไหว จึงมีความจำเป็นต้องขยายผิวการจราจร แต่แนวพระราชดำริของการขยายนั้นแยบยลกว่าเพียงแค่ขยายให้กว้างขึ้น หากแต่เป็นการสร้างสะพานคู่ขนานทั้งสองข้างที่ดูเข้ากัน ทว่าไม่ประชันกับของเดิม เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ไว้
- พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร 2539
พระอุโบสถแห่งนี้สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของ “วัดชุมชน” บริเวณบึงพระราม9 ตามหลักของ “บวร” คือบ้าน แล้วก็มีวัดและโรงเรียน ในส่วนของวัดมีพระราชนิยมที่เรียบง่ายเน้นการใช้งานเป็นสำคัญ สามารถรองรับคนได้ 30-40 คน พอเพียงต่อขนาดของชุมชน ไม่ยิ่งใหญ่เกินจำเป็น และให้เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่สวยงามโดยที่ตัดลวดลายออกบ้างเพื่อความประหยัด
- ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร 2539
ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรบนถนนบรมราชชนนีที่คับคั่งอยู่เสมอ จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหา โดยแทนที่จะขยายถนนออกไปด้านข้าง ซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชน ก็มีพระราชดำริให้สร้างถนนคู่ขนานที่ลอยอยู่ตรงกลางถนนเดิม
- สะพานพระราม 8 กรุงเทพมหานคร 2541
นอกจากจะพระราชทานชื่อ “สะพานพระราม 8” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว ยังพระราชทานแผนที่ลายพระหัตถ์แสดงแนวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่นี้ให้กรุงเทพมหานครนำไปสร้างแทนการขยายผิวจราจรให้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งอาจจะทำให้ระบบการจราจรบริเวณนั้นสับสนวุ่นวายมากกว่าเดิม
- พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา ประเทศอินเดีย 2544
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยแก่สถาปนิกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการออกแบบ กระทั่งก่อสร้างเสร็จสมบรูณ์ ทั้งยังพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เส้นพระเจ้าและภาพฝีพระหัตถ์ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระธาตุเจดีย์ที่แหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนาแห่งนี้ และพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงให้ยั่งยืนต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเป็นการส่วนพระองค์กับผู้ใกล้ชิดว่า “นี่คือเจดีย์ของฉัน”
ข้อมูล มหาวิทยาลัยศิลปากร
เรียบเรียง เจรมัย พิทักษ์วงศ์
นิตยสารบ้านและสวน ปีที่ 32 ฉบับที่ 376