ปกติชีวิตประจำวันของเราต้องทำงาน ออกเดินทาง และทำกิจกรรมนอกบ้านเกือบตลอดทั้งวัน กว่าจะมีเวลามาพักผ่อนในสวนก็คงเป็นช่วงเย็นหรือค่ำ
แต่ความสวยงามของสวนก็หายไปในความมืดเสียแล้ว เราจึงขอพาทุกท่านไปหาไอเดียเติมไฟในสวนผ่านอุปกรณ์ให้ แสงสว่าง ซึ่งจะช่วยเติมความสวยงามให้สวนกลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม
1.โคมไฟฝังพื้น (In-ground Uplight, Well light)
มีให้เลือกหลายขนาดและรูปทรงตามความชอบของผู้ใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งบริเวณพื้นข้างกำแพงและผนังเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย โคมไฟฝังพื้นจะฉายขึ้นแผ่ให้แสงสว่างเป็นลำสะท้อนไปบนผนัง ทำให้พื้นผิวดูโดดเด่นและสวยงามขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมติดตั้งโคมไฟฝังพื้นขนาดเล็กที่เรียงกันเป็นแถวหรือกลุ่มในระยะไม่ไกลกัน ทำหน้าที่ส่องแสงเพื่อนำทางบริเวณทางเดินหรือลาน ทั้งช่วยบ่งบอกทิศทางยามค่ำคืน ผู้ผลิตบางรายออกแบบให้โคมไฟชนิดนี้กระจายแสงด้างข้างได้อย่างเดียว เพื่อป้องกันอันตรายยามผู้ใช้มองแสงจากโคมไฟดังกล่าวโดยตรง ส่วนโคมไฟขนาดกลางมักใช้ฉายบริเวณใต้ต้นไม้ ซึ่งมีความสูงกว่า 3 เมตรและมีกิ่งก้านแผ่สวยงาม เช่น ไทรย้อย จามจุรี หรือหางนกยูงฝรั่ง เพื่อให้สะท้อนกับกิ่งก้านและใบ สร้างความสว่างในยามค่ำคืนได้อย่างดูเป็นธรรมชาติ
การติดตั้งโคมไฟประเภทนี้ควรทำรูระบายน้ำสำหรับระบายน้ำใต้ตัวโคม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำเข้ามาขังในตัวโคมจนเกิดอันตรายและความเสียหายแก่หลอดไฟได้ ควรเลือกโคมที่มีค่ามาตรฐานการป้องกันน้ำและฝุ่นในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ IP67 หรือ IP68 ซึ่งสามารถอยู่ใต้น้ำได้ระยะหนึ่ง
2.โคมไฟแบบเตี้ย (Bollard Light)
ส่วนมากมีระยะความสูงไม่เกิน 1 เมตร ควรติดตั้งให้มีระยะห่างระหว่างตัวโคมไฟไม่เกิน 4-6 เมตร เนื่องจากหากติดถี่เกินไปจะสิ้นเปลืองค่าดวงโคม แต่หากอยู่ห่างเกินไประยะแสงก็จะน้อย โคมไฟประเภทนี้ใช้สำหรับให้แสงสว่างตามข้างทาง เพื่อบ่งบอกตำแหน่งของทางเดิน โดยแสงสว่างจะกระจายไปรอบ ๆ โคมในระยะไม่ไกลนัก ขึ้นอยู่กับชนิดหลอดไฟและความสูงของตำแหน่งโคมไฟที่ส่องสว่าง ยิ่งสูงจะยิ่งกระจายแสงได้มาก การติดตั้งควรเลือกหลอดไฟที่ไม่ให้แสงสว่างเกินไปจนแยงสายตาของผู้ใช้งาน
การติดตั้งโคมไฟแบบเตี้ยควรหล่อฐานปูนไว้ด้านล่างเพื่อเป็นตัวยึดโคมไฟที่มั่นคงหรือติดตั้งบนพื้นคอนกรีตหรือลาน โดยควรวางระบบท่อซ่อนสายไฟไว้ใต้ดิน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
3.โคมไฟสนามเสาสูง (Light Column,Pole Light, Post Top)
นิยมใช้ตกแต่งสวนบริเวณที่เห็นได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน โดยช่วงกลางวันจะทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบที่สร้างความสวยงามและจุดเด่นคล้ายงานประติมากรรมหรือของตกแต่งสวน และทำหน้าที่ให้แสงสว่างในยามกลางคืนด้วยเช่นกัน ที่ใช้งานอยู่ในสวนจะมีความสูงตั้งแต่ 2.50-4 เมตร ระยะการให้แสงสว่างจะแปรผันตามความสูงของเสาและชนิดของหลอดไฟ โคมไฟประเภทนี้จะให้แสงสว่างบริเวณข้างทางเดินหรือถนนที่มีขนาด 3 – 10 เมตร หรือแปลงต้นไม้ขนาดเล็กที่มีบริเวณค่อนข้างโล่งกว้าง
การติดตั้งควรเว้นระยะห่างกันระหว่างเสาโคมไฟ 6-12 เมตร เพื่อให้ระยะห่างของแสงสว่างเพียงพอต่อการใช้งาน ควรทำฐานพื้นและวางระบบสายไฟด้านล่างไว้ก่อนติดตั้ง ซึ่งสามารถทำฐานสูงเพื่อให้เกิดระยะความสูงที่ต้องการได้โดยไม่ต้องซื้อโคมไฟที่มีเสาสูง ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้
4.ไฟแอลอีดีแบบสายยาว (Linear Light)
ปัจจุบันนิยมใช้ในงานแลนด์สเคปกันมาก เพราะหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานของโคมไฟชนิดอื่นๆ มีสีสันให้เลือกหลากหลาย ความสว่างกำลังพอเหมาะสำหรับให้แสงสว่างนำทางได้ มีขนาดเล็ก ขนาดความกว้างเพียงแค่ 10 มิลิเมตร และความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ส่วนความยาวมีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ 5 – 10 เมตร โดยบางยี่ห้อสามารถตัดขายได้ตามระยะที่ต้องการ การใช้งานนิยมนำไปซ่อนอยู่ใต้ขอบต่างๆในงานฮาร์ดสเคป ไม่ว่าจะเป็นใต้ลูกนอนบันได ใต้ขอบทางเดิน หรือใต้ม้านั่งยาว เพื่อบ่งบอกตำแหน่ง สร้างความปลอดภายให้การเดินในสวน และเพิ่มความสวยงามในสวนได้อีกด้วย
การติดตั้งไฟประเภทนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงขึงสายให้ตึงแล้วลากตัวสายไปในบริเวณใต้จุดที่ต้องการให้เกิดแสงสว่าง จากนั้นยึดด้วยข้อเหล็กหรืออะลูมิเนียม ขึงไว้ให้ตรงไปจนสุดไม่ให้มีระยะหย่อนของสายก็เป็นอันเรียบร้อย และควรเลือกสายไฟที่มีมาตรฐานป้องกันความชื้นและฝุ่นละออง IP65 หรือ IP66 รวมถึงสามารถกันน้ำที่สาดหรือฉีดเข้ามาโดนได้
5.โคมไฟฝังผนัง (Wall Recessed Light, Foot Light)
โคมไฟชนิดนี้มีลักษณะคล้ายโคมไฟฝังพื้น ซึ่งบางชิ้นใช้แทนกันได้ โดยส่วนมากจะมีลักษณะยาวกว่าเพื่อกระจายแสงได้ระยะกว้างขึ้น ทำหน้าที่ส่องแสงบอกระยะตามขั้นบันไดหรือริมขอบทางเดินในระยะก้าวขึ้น-ลง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน รวมถึงทำให้มองเห็นสัตว์ร้ายบริเวณทางเดิน หรือใช้ประดับซ่อนลูกเล่นตามช่องผนังที่มีระยะไม่เท่ากัน เกิดเป็นแสงไฟฉาบผนังตามจุดต่างๆ ดูสวยงาม
แม้โคมไฟประเภทนี้จะติดตั้งบริเวณด้านข้าง แต่จุดซึ่งต้องการให้เกิดแสงสว่างคือระยะด้านที่แสงไฟฉายไป ดังนั้นจึงมักให้ตัวโคมไฟอยู่ใกล้กับผนังหรือพื้นทางเดินให้มากที่สุด ไม่ควรห่างเกิน 15 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดลำแสงชัดเจน นอกจากนี้การติดตั้งควรทำตั้งแต่ช่วงก่อสร้างผนังหรือทำงานฮาร์ดสเคป โดยจะต้องเดินท่อสายไฟซ่อนอย่างมิดชิดในตัวผนัง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
6.โคมไฟส่อง (Uplight, Downlight)
โคมไฟส่องมีลักษณะเป็นกระบอกขนาดเล็ก มีฐานปักอยู่ในดิน สามารถปรับองศาและทิศทางการฉายได้ตามต้องการ โดยแบ่งการใช้งานเป็น 2 แบบ ได้แก่
ส่องขึ้น ( Uplight) นิยมปักโคมส่องบนดินและหันด้านสว่างไปยังทิศทางของต้นไม้ งานประติมากรรม หรือตัวบ้าน เพื่อให้สามารถเห็นรูปทรงและสีสันซึ่งสะท้อนไปกับวัตถุได้ชัดเจน หรือนำไปติดตั้งบริเวณลำต้นและฉายยิงขึ้นไปด้านบน เพื่อโชว์ลักษณะทรงต้นที่สูงชะลูด นิยมใช้กับพืชตระกูลปาล์ม แต่มีข้อควรระวังคือไม่ควรฉายไฟไปบนต้นไม้ในทิศทางซึ่งสะท้อนกับตัวบ้าน เนื่องจากจะปรากฏเงาต้นไม้บนผนังบ้าน ให้บรรยากาศที่ดูน่ากลัว
ส่องลง (Downlight) นิยมติดตั้งโดยผูกไว้กับกิ่งหรือลำต้นที่แข็งแรงและฉายดิ่งลงมาที่สนามหญ้าหรือลานกว้างที่ต้องการให้เกิดแสงสว่างบริเวณนั้น หากติดตั้งในจุดที่เหมาะสมคือผ่านกิ่งก้านและใบเล็กน้อยในขณะที่แสงจากหลอดไฟไม่จ้ามาก จะให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติคล้ายแสงจันทร์ ทำให้สวนมีบรรยากาศน่าพักผ่อนยิ่งขึ้น
7.โคมไฟใต้น้ำ (Underwater Light)
โคมไฟชนิดนี้ออกแบบมาให้สามารถติดตั้งส่องสว่างใต้น้ำได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องการรั่วซึม สังเกตได้จากตัวโคมจะระบุค่า IP68 ไว้เท่านั้น นอกจากนี้ตัวหลอดไฟยังมีค่าความต่างศักย์ต่ำ ทำให้ไม่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง 220-230 โวลต์ ดังนั้นหากลัดวงจรก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยการติดตั้งกล่องหม้อแปลงจะอยู่นอกสระน้ำ และต่อสายลงไปยังตัวโคมใต้น้ำ สายที่ออกมาจากหม้อแปลงจะแปลงกระแสให้เป็นกระแสไฟตรงลดระดับ คือแรงดันต่ำเพียง 12 โวลต์ หรือ 24 โวลต์ ส่วนหลอดไฟนิยมเลือกใช้แสงสี 5000K ขึ้นไป เนื่องจากจะช่วยให้สระดูสว่างสดใส นอกจากนี้การวางตำแหน่งควรเลือกมุมให้แสงกระจายตัวได้มุมกว้าง ไม่เกิดเงาภายใต้สระ
เรื่อง : “ปัญชัช”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และสำนักพิมพ์บ้านและสวน
ภาพประกอบ : Choops