ออกแบบแสงไฟ ให้สวยอย่างมืออาชีพ
แปลนไฟภายในบ้านไม่ควรจบแค่ในแผ่นกระดาษ หากเราไม่มั่นใจพอ การมีผู้รู้มาช่วยออกแบบน่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัวกว่า วิชาชีพออกแบบแสงไฟอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งจำเป็นที่ถูกลืมไป เพราะคิดว่าจ้างมัณฑนากรแล้วก็น่าจะจบ
แต่หากเราได้มืออาชีพจริง ๆ มาคำนวณค่าการกระจายแสงของหลอดไฟ วางตำแหน่งให้ใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ก็น่าจะทำให้บ้านยิ่งมีการใช้งานที่ดีเลิศ การออกแบบแสงไฟไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในบ้าน ควรคำนึงภายนอกบ้าน หรือในพื้นที่ที่ใช้งานร่วมกันด้วย เราได้รวมการ ออกแบบแสงไฟ ภายในบ้านที่ใช้งานได้สะดวกมาให้เป็นไอเดีย
เล็กแต่ดูใหญ่
เทคนิคการหลอกสายตามุมเล็กๆในบ้าน แค่เติมแสงไฟแบบถูกจุด เลือกใช้แสงสีเหลืองนวลตา วางระยะให้ตกกระทบกับเฟอร์นิเจอร์อย่างพอดีตรงส่วนด้านหน้า ให้แสงสว่างเต็มพื้นที่ ไม่เกิดเงามืด ก็ทำให้มุมเล็กๆนี้ดูสว่างและไม่คับแคบ
แสงนอก
ภายในบ้านออกแบบให้เปิดรับแสงได้ทุกทิศทาง ที่จริงควรกำหนดทิศทางแสงไว้ตั้งแต่ต้น ในส่วนที่เปิดรับแสงมาก ส่วนใกล้ๆกันอาจออกแบบให้ได้แสงน้อยลง แต่เว้นช่องแสงแบบตั้งใจให้เข้ามาในห้องแบบจำกัดปริมาณแสง บวกกับการใช้แสงไฟประดิษฐ์เฉพาะจุด เช่น โคมไฟห้อยเพดาน ก็ช่วยให้แสงไฟในห้องดูสวยงาม
ตั้งใจสวย
โคมไฟข้างเตียงถือเป็นแสงไฟเฉพาะจุดที่ทำให้บรรยากาศของห้องดูสวยขึ้นได้ ลองให้ความสำคัญกับการเลือกโคมสวยๆที่มีความสูงของฐานกำลังดี เมื่อเปิดไฟ แสงจะกระทบกับผนัง ช่วยสร้างมิติได้แบบไม่ต้องง้อภาพตกแต่งเลย
ไฟใต้บันได
ถือเป็นงานออกแบบที่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะหากออกแบบให้สวยก็สร้างลูกเล่นให้บ้านได้ เช่น ออกแบบเซาะร่องใต้บันได พร้อมซ่อนไฟรางขนาดเล็ก ทำให้มุมนี้ดูสวยไม่ธรรมดา
สวยทุกมิติ
เพิ่มลูกเล่นให้หลังคาทรงจั่วด้วยการเติมแสงไฟส่องสว่างที่ไม่ใช่แค่ไฟดาวน์ไลท์ เช่น ใช้ไฟสปอตไลท์เน้นจุดสำคัญให้ฝ้าเพดานสวยเด่นขึ้นมา ก็ทำให้โถงนั่งเล่นมุมกว้างที่มีแสงธรรมชาติเข้ามาเต็มที่ สวยได้แบบเฉพาะจุด
สว่างทั้งในและนอก
อย่าลืมพื้นที่เซมิเอ๊าต์ดอร์ แสงสว่างในมุมนี้แม้จะไม่ได้นั่งยามค่ำคืน แต่มองมาจากภายในบ้านอย่างไรก็เห็น เติมแสงไฟเฉพาะจุดทั้งในมุมหลืบของบ้าน เปลี่ยนเป็นแสงไฟจากพื้นบ้าง หรือจัดวางต้นไม้ ก็ช่วยทำให้มุมซอกหลืบมีแสงเงาและมิติยิ่งขึ้น
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”, “นิรดา วิทยาเวช”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, Tan Hai Han, สังวาล พระเทพ