บ้านปูน สีเทาเข้มท่ามกลางธรรมชาติบนเขา

บ้านปูน สีเทาเข้มท่ามกลางธรรมชาติบนเขา

หากชีวิตเป็นดั่งบทละคร องค์แรกที่ผ่านไปแล้วของ คุณกุ๊ก-กฤษณพงศ์ มีชูนึก น่าจะเปิดฉากด้วยเรื่องราวของการทำงานอยู่ท่ามกลางอุปกรณ์ไฟ ฉาก เวทีละคร และผู้คนมากมาย กับวันเวลาที่เร่งรีบซึ่งทำให้หลายครั้งไม่ได้กลับบ้าน จนต้องนอนค้างที่โรงละครหรือห้องทำงาน และกลายเป็นตารางชีวิตที่วนเวียนอยู่แบบนี้หลายปี กระทั่งตัดผ่านเข้าสู่องค์ที่สอง ซึ่งนำพาไปสู่ชีวิตคนทำไร่อันเรียบง่าย

บ้านปูน

“ตอนอยู่กรุงเทพฯเราใช้เวลาหมดไปกับการเดินทางและการทำงาน จนวันหนึ่งมานั่งคิดว่าชีวิตมีแค่นี้เหรอ นานๆทีจะได้กลับไปนอนบ้าน มีสนามหญ้าแต่ไม่เคยลงไปเดินเล่น เลี้ยงสุนัขไว้แต่ก็แทบจำหน้ากันไม่ได้แล้ว ก็เลยฝันถึง บ้านปูน บนเขาและการเปลี่ยนชีวิตไปเป็นชาวไร่ทางภาคเหนือ ตัดสินใจออกเดินทางตามเพื่อนขึ้นเหนือไปซื้อไร่ ช่วงแรกก็ไปๆกลับๆกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ตลอด ชอบตอนที่ขับรถทางไกล รู้สึกสงบและมีเวลาอยู่กับตัวเอง จนได้มาพบหมู่บ้านเก่าตรงนี้อายุประมาณสามสิบปีแล้ว ชอบตรงที่เขาทำคลองไว้รอบหลังบ้าน ทั้งยังมีต้นกระท้อนและหว้าที่ใหญ่มากๆ คิดว่าถ้าปลูกเองคงไม่มีวาสนาได้ทันเห็นต้นเติบใหญ่ขนาดนี้แน่ ก็เลยซื้อที่ผืนนี้ขนาด 135 ตารางวาเพื่อปลูกบ้านของตัวเอง”

jj151212-068

ส่วนรูปทรงโครงสร้างของบ้านนั้นเป็นฝีมือการออกแบบของ อาจารย์วีรพจน์ การคนซื่อ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นบ้านปูนเปลือยทรงสี่เหลี่ยมวางผังเป็นรูปตัวแอล (L) โดยผสมผงถ่านเข้าไปในเนื้อปูน เพื่อให้ออกมาเป็นสีเทาดำตามที่คุณกุ๊กชอบ

เราได้เห็นความกล้าในการผสมผสานของคุณกุ๊กอยู่ทุกมุมของบ้าน เริ่มจากทางเข้าที่ประดับด้วยกลุ่มกระจกเงาโบราณในกรอบหลุยส์สีทอง ขนานไปกับตู้ไม้เก่าบนทางเดินที่ปูพื้นกระเบื้องโบราณ ผ่านผ้าม่านสีดำผืนใหญ่ราวกับกำลังเปิดเข้าไปสู่โรงละครส่วนตัว ซึ่งต้อนรับเราด้วยชุดโซฟาหลุยส์ที่ซื้อมาจากปารีส เพราะหาโซฟาที่ถูกใจในเมืองไทยไม่ได้เลย จนกระทั่งไปพบที่ตลาดเก่าของปารีส มาพร้อมกับโต๊ะกลางซึ่งเป็นหินอ่อน โดยคุณกุ๊กนำหมอนอิงรูปสุนัขไปวางผสมผสาน ส่วนผนังด้านหลังห้องประดับด้วยรูปสุนัขในกรอบไม้สไตล์โมเดิร์น แถมใกล้ๆ กันยังมีตู้กระจกโบราณเก็บตุ๊กตาตัวตลกและของที่ระลึกจากโรงละครต่างๆ

jj151212-039 jj151212-086 jj151212-026

เปลี่ยนเข้ามาสู่ห้องอาหารผ่านประตูบานเฟี้ยมไม้เก่าที่ดัดแปลงส่วนบนให้เป็นกระจกใส โดยคงลายไม้สวยๆ ด้านล่างไว้ แล้วปรับฟังก์ชันให้เป็นบานพลิกแทน ช่วยกั้นความเป็นสัดส่วนและสามารถใช้งานเครื่องปรับอากาศแยกจากห้องรับแขกได้ ส่วนกลางห้องจัดวางโต๊ะกินข้าวซึ่งทำจากบานประตูวัดเก่าที่ยังคงมองเห็นลวดลายประตูไม้ได้อย่างชัดเจน เพิ่มบรรยากาศความหรูหราอลังการด้วยแชนเดอเลียร์ดวงใหญ่ ขณะที่ห้องครัวดูโมเดิร์นด้วยชุดครัวรูปทรงเรียบเท่สีขาว-ดำ พร้อมเคาน์เตอร์กลางสำหรับจัดเตรียมอาหาร

สุดทางเดินเป็นห้องทำงานที่เปิดมุมมองให้เชื่อมออกไปสู่ธรรมชาติด้านนอกได้อย่างสบายตา ความพิเศษของห้องนี้อยู่ที่โต๊ะทำงานซึ่งทำจากปีกเครื่องบินหุ้มด้วยนิกเกิล เข้าชุดกับหีบไม้หุ้มนิกเกิลสีเงินวาวเน้นรอยตีตะเข็บชัดเจน โดยทั้งชุดนี้เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย

jj151212-098 jj151212-008

jj151212-011

ฟังก์ชันของชั้นบนยังมีมุมอ่านหนังสือที่คุณกุ๊กใช้ท่อประปามาต่อกับชั้นไม้สำหรับวางหนังสือที่รักและเก็บสะสมไว้มากมาย “ผมได้ไอเดียนี้มาจากตอนไปเที่ยวนิวยอร์กและเห็นร้านขายกางเกงยีนตกแต่งด้วยท่อประปาแบบนี้ เลยนำมาปรับใช้เป็นชั้นหนังสือที่บ้านดู แล้วมุมนี้มองออกไปเห็นต้นไม้ใหญ่ด้านนอกได้ ก็เลยตั้งเดย์เบดสำหรับนอนเล่นอ่านหนังสือไว้ด้วย”  

เมื่อแต่งไปจนแทบครบทุกมุมแล้ว คุณกุ๊กบอกว่าเกือบลืมโฮมเธียเตอร์ จึงต้องทำห้องฝังไปบนพื้นที่ระเบียงเชื่อมต่อจากตัวบ้าน แล้วใช้ผ้ากำมะหยี่สีดำปิดกั้นแสงและลดการสะท้อนของแสงไว้ทั่วห้องคล้ายกระโจมแบบโมร็อกโก เมื่อยังเหลือพื้นที่ระเบียงด้านนอกอีกหน่อย จึงจัดเป็นมุมนั่งเล่นรับลม โดยปูพื้นหญ้าเทียมต่อเนื่องไปถึงผนัง กลายเป็นมุมเขียวที่เชื่อมต่อไปสู่สวนรอบบ้านได้เลย

jj151212-052 jj151212-056

“ที่นี่เป็นบ้านหลังแรกที่ได้ดังใจเราทุกจุดจริงๆ คือคิดเอง เลือกเอง ซื้อเองหมด แล้วคอยมาดูตอนก่อสร้างตลอดเวลา เมื่อก่อนก็เคยแต่งบ้านที่กรุงเทพฯไปสองหลัง แต่เป็นบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร เลยทำอะไรไม่ได้มาก ไม่เหมือนที่นี่ที่เราตั้งใจเลือกผสมผสานเองทุกอย่าง ภูมิใจมาก อยู่แล้วก็มีความสุข ทุกวันนี้ยังสนุกกับการหยิบจับอันนี้ไปวางตรงนั้น ย้ายของเปลี่ยนอารมณ์บ้าง ชอบมากและมีความสุขจริงๆครับ” คุณกุ๊กเล่าส่งท้ายด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข

องค์ที่สามของละครเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นภาคจบของหนุ่มชาวไร่ ผู้มีความสุขกับจังหวะของชีวิตที่ช้าลง ภายในบ้านปูนสีเทาเข้มหลังนี้ พร้อมปิดม่านจบอย่างสวยงาม

jj151212-119

 

เจ้าของ – จัดสวน : คุณสุกริช ศิริธนานุกูลวงศ์

เรื่อง : “ปัญชัช”

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข