4.ว่านไพลดำ
ลักษณะ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงถึง 1.60 เมตร ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าทอดเลื้อยสั้นๆสีดำ เนื้อในหัวสีม่วงเข้มหรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อน ลำต้นสีม่วงคล้ำ ใบเดี่ยวเรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบหนา เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน ช่อดอกออกจากเหง้า มีใบประดับเรียงซ้อนกันเป็นชั้นสีแดงคล้ำ ดอกสีเหลืองอ่อน มีสีม่วงแดงอ่อนๆ
สรรพคุณ เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน โดยนำหัวสดต้มน้ำใส่เกลือเล็กน้อย แล้วดื่มก่อนอาหารทุกเช้า – เย็น จะช่วยแก้ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือนำหัวว่านมาหั่นตากแดดให้แห้งแล้วบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเล็กๆ กินทุกเช้า – เย็นวันละ 2 – 3 เม็ดจะช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้ธาตุพิการ
5.ว่านกระบี่ทอง
ลักษณะ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสูงกว่า 1 เมตร ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เหง้าหลักรูปไข่ สีน้ำตาลเป็นมัน เนื้อในสีเหลืองอ่อน แตกแขนงย่อยทั้งสองข้าง มีขนาดใหญ่และยาวออกเพียงด้านเดียว โค้งขึ้นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน มีแถบสีแดงแกมน้ำตาลที่เส้นกลางใบ ช่อดอกออกที่ปลายลำต้นเทียม ใบประดับด้านล่างสีเขียวอมม่วง ด้านบนสีชมพูอมม่วง ดอกสีเหลือง
สรรพคุณ หัวสดโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าขาวหรือน้ำปูนใส แล้วกรองเอาน้ำดื่มแก้ปวดท้อง ฝนหัวสดกับน้ำปูนใสข้น ๆ ใช้ทาฝีในปาก จมูก ช่วยถอนพิษอักเสบ ทำให้ฝียุบ บุบหัวสดพอแตก จุ่มเหล้าขาวให้ซึมเล็กน้อยแล้วอมไว้ในปาก จะทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบได้ดีนิยมใช้เป็นสมุนไพรกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
6.ว่านทิพยาเนตร
ลักษณะ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูง 25-40 เซนติเมตร ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เหง้าหลักค่อนข้างกลม สีน้ำตาล เนื้อในสีเหลืองอ่อน มีรากสะสมอาหารบริเวณปลายราก ใบรูปรีแกมรูปใบหอก เนื้อใบหนา ขอบใบเป็นคลื่น ด้านบนใบสีเขียว มีลายแต้มสีเขียวเทาพาดเป็นระยะ เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นหอม ก้านใบยาว 10-15 เซนติเมตร โคนกาบใบสีแดงเรื่อ ช่อดอกออกจากเหง้า เกิดจากการเจริญเติบโตของลำต้นเทียม ใบประดับรูปไข่เรียวแหลม สีเขียวอ่อน ดอกสีขาวแต้มสีม่วง
สรรพคุณ หัวใช้เป็นสมุนไพรแก้ตาแดง ตามัวฝ้าฟางหรือริดสีดวงตา ตาช้ำ