บ้านสวย ซึ่งเป็น สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น หลังนี้ ถ่ายลงหนังสือและนิตยสารมาหลายฉบับ นับเป็นการการันตีคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมที่ดีในรูปแบบหนึ่ง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D
แต่สำหรับเจ้าของบ้านแล้ว ได้นำ สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น มาเพิ่มคุณค่าอีกมิติ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมีผลต่อจิตใจอย่างมหาศาล อย่างที่เราได้รับทราบเรื่องราวมาคือ จุดกำเนิดของการสร้างบ้านหลังนี้มีที่มาจาก “แม่”
บ้านชั้นครึ่งบนพื้นที่ 180 ตารางวาง มีพื้นที่ใช้สอย 400 ตารางเมตร อยู่เย็นสบายโดยแทบไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ ชุ่มชื้นด้วยบ่อน้ำรอบๆบ้าน ปลอดโปร่งในบรรยากาศที่โล่ง แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัว ทั้งหมดเป็นผลมาจากการจินตนาการว่า “แม่” ชอบอะไร อยู่แล้วจะสบายไหม เดินเหินคล่องแคล่วหรือเปล่า และจะสามารถดูแลกันและกันได้ดีแค่ไหนระหว่างการใช้ชีวิตในบ้านน้อยหลังนี้
เป็นความโชคดีที่ คุณจูน เซคิโน สถาปนิก เข้าใจเงื่อนไขต่างๆ แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นมืออาชีพ แนะนำเสริมแต่งให้โปรเจ็ค “Nature House” นี้ ออกมาเป็นงานที่ดีที่สุดภายใต้แรงกดดันจากทุกทาง
เรื่องการใช้งานในห้องต่างๆ อาจเป็นภาษาของเจ้าของบ้าน แต่สำหรับภาษาทางสถาปัตยกรรมแล้วพื้นที่ว่างในบ้านนี้เกิดจากการเล่นกับระนาบทั้งแนวตั้งและแนวนอน เชื่อมต่อทุกพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอกบ้านเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่ลืมสร้างระนาบ(ผนัง)ที่ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว ช่วยลดปริมาณแสงสว่างที่ทำให้บ้านร้อน แม้รูปทรงภายนอกจะดูโมเดิร์น แต่เมื่อได้เข้าใช้งานแล้ว จะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศของงานสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น เพราะมีความโปร่งเบาของรูปทรงและการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ไม่สะสมความร้อน ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมใส่เทคโนโลยีอาคารอย่างโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปและระบบแสงไฟที่ออกแบบให้ส่องตรงไปยังฝ้าอาคาร ช่วยกระจายแสงให้ครอบคลุมพื้นที่บ้านในตอนกลางคืน ทำให้แนวคิดแบบไทยๆเข้ากับยุคสมัยมากขึ้นด้วย
ด้วยความร่วมมือระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกที่ลงลึกทุกขั้นตอน ทำให้บ้านนี้อยู่สบาย สวย คุ้มค่ากับเวลาและเม็ดเงินที่ทุ่มเทไป แม้จะเหนื่อยแค่ไหน พบเจออุปสรรคอะไร แต่เมื่อสำเร็จลุล่วงแล้ว บ้านที่ตั้งเด่นอยู่ตรงหน้านี้ ก็สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็นได้มากทีเดียวค่ะ
เจ้าของ : คุณถนอมจิต มหากิจศิริ
ออกแบบ : JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN
เรื่อง : กรวรรณ
ภาพ : ปิยะวุฒิ ศรีสกุล
ชม 10 แบบบ้านระบายความร้อนได้ดี คลิก!
l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll l l l ll