กิจการขนาดเล็กหรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หากสามารถลดต้นทุนเรื่องสถานที่ได้ น่าจะเป็นการดีไม่น้อยในระยะยาว แถมยังสามารถครีเอตบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานได้เองแบบสบาย ๆ room จึงขอเสนอไอเดียการจัดสรรพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็น โฮมออฟฟิศ 3 รูปแบบ ว่าแล้วก็ลองมาเทียบกันดูสิว่าแบบไหนใช่! ที่สุด
————————————————————————————-
– ADD A NEW STUDIO –
BEFORE : พื้นที่ว่างนอกบ้าน เพิ่มโครงสร้างใหม่กลายเป็นอาคารสำนักงานขนาดย่อม
เติมที่ข้างบ้าน
บ้านที่มีบริเวณนอกบ้านกว้าง ๆ สามารถสร้างอาคารหลังใหม่แยกออกจากโครงสร้างเดิมได้เลย โดยต้องคำนึงถึงระยะร่นตามกฎหมาย ทั้งจากแนวขอบเขตที่ดินและถนนหน้าบ้าน อย่าลืมบอกกล่าวเพื่อนบ้านก่อนก่อสร้างเพื่อป้องกันปัญหาขัดแย้งกันภายหลัง
ในที่นี้เลือกการสร้างอาคารใหม่ชั้นเดียว โดยแยกทางเข้าออฟฟิศออกจากทางเข้าบ้านโดยสิ้นเชิง ส่วนหน้าสุดใช้รับรองแขก ประชุมงาน และนั่งเล่นพักผ่อนชื่นชมสวนรอบ ๆ ก่อนจะเข้าสู่ภายในส่วนสำนักงาน ซึ่งจัดวางแผนผังส่วนทำงานเป็นแบบ Open Plan มีทางสัญจรหลักทางเดียว เปิดรับแสงสว่างและให้อากาศถ่ายเททั่วทั้งชั้น การจัดโต๊ะทำงานใช้แบบหันหน้าเข้าหากัน และส่วนหลังสุดจัดสรรเป็นมุมแพนทรี่และห้องน้ำ
01 วัสดุปูพื้นทางเดินเข้าสำนักงานมีให้เลือกหลายชนิดตามสไตล์ของสวนและงานสถาปัตยกรรม เช่น อิฐดินเผา แผ่นศิลาแลง แผ่นหินธรรมชาติ แผ่นหินทราย ไปจนกระทั่งการฝังไม้หมอนรถไฟปลูกไม้พุ่มที่ไม่สูงนัก อย่างไม้จำพวกคล้า กำแพงเงิน เตย หรือปลูกไม้กระถางใช้กั้นขอบเขตระหว่างบ้านกับสำนักงาน
02 ระหว่างบ้านเดิมและส่วนสำนักงาน เราสามารถทำสวนหรือขุดบ่อเลี้ยงปลาเล็ก ๆ เพื่อพรางสายตา และสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
03 โต๊ะประชุมและรับรองแขก
04 ตู้เก็บของและเอกสารที่ใช้งานบ่อย ควรจัดวางไว้ใกล้กับพื้นที่ทำงานเพื่อให้หยิบใช้สะดวก
05 จัดโต๊ะทำงานแบบหันหน้าเข้าหากัน เลือกพาร์ทิชันแบ่งระหว่างโต๊ะแบบเตี้ย ๆ สูง 20 – 30 เซนติเมตร เพื่อเปิดทัศนวิสัยไม่ให้รู้สึกคับแคบและสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้ร่วมงาน
06 กั้นส่วนงานเอกสารและพื้นที่เก็บของที่ไม่ค่อยใช้งานบ่อยนักให้เป็นสัดส่วนค้นหาง่าย 07 แพนทรี่ 08 ห้องน้ำ
A เว้นระยะห่างระหว่างบ้านหลังเดิมและส่วนต่อเติมใหม่ประมาณ 1.50 – 2 เมตร เพื่อให้แสงสว่างและลมยังคงเข้ามาได้ถึงชั้นล่างของบ้านเดิม และเป็นช่องให้อากาศร้อนได้ระบายขึ้นด้านบนช่วยให้บ้านและออฟฟิศไม่ร้อนด้วย
B หากอาคารหลังใหม่เป็นสองชั้น เสนอให้ใช้ใต้บันไดเป็นส่วนงานเอกสารทั้งการเก็บรักษาเอกสารและวางเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เครื่องแฟกซ์หรือพริ้นเตอร์
TIPS : การเลือกเปิดช่องแสงต้องปฏิบัติตามกฎหมายระยะถอยร่นจากแนวขอบเขตที่ดิน มีหลักดังนี้
• สำหรับอาคารสูง 1 – 2 ชั้น หรือไม่เกิน 9 เมตรที่มีช่องหน้าต่างหรือช่องแสง ต้องถอยร่นอย่างน้อย 2 เมตร
• สำหรับอาคารที่เป็นผนังทึบ ต้องถอยร่นอย่างน้อย 0.50 เมตร หากต้องการสร้างชิดแนวเขตที่ดิน ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน
————————————————————————————-
– DIVIDE INTERIOR SPACE –
BEFORE : เปลี่ยนห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารเดิมเป็นพื้นที่ทำงาน
แบ่งพื้นที่ภายในบ้าน
เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ภายในกว้างขวาง โดยสามารถกั้นส่วนหนึ่งของบ้านให้เป็นพื้นที่ทำงานได้เลย เพียงแต่มีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องคำนึงถึงคือ พื้นที่สัญจรภายในออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานเข้าสู่พื้นที่ทำงานได้โดยไม่เข้าไปรบกวนพื้นที่ภายในบ้าน
ในส่วนฟังก์ชันการทำงาน สามารถแบ่งเป็นห้องส่วนตัวของผู้บริหาร ห้องสำหรับงานเอกสารที่ควรกั้นขอบเขตให้ดีเพื่อป้องกันรังสีจากเครื่องถ่ายเอกสาร และโต๊ะกลางอเนกประสงค์ใช้นั่งประชุมหรือพักผ่อนร่วมกันได้
ข้อดีของการแบ่งพื้นที่ภายในบ้าน นอกจากจะได้ห้องที่เป็นสัดส่วนแล้ว ผนังหน้าต่างเดิมของบ้านยังช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาภายในและระบายอากาศได้ดี
01 ร่นระยะห่างจากส่วนหน้าบ้านประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร สำหรับเป็นทางสัญจรร่วมกันระหว่างส่วนออฟฟิศกับตัวบ้าน ทั้งนี้ควรกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ส่วนชานด้านหน้าที่มีขนาดกว้างขวางสามารถใช้เป็นส่วนพักคอยสำหรับบุคคลที่เข้ามาติดต่องาน
02 เหนือท็อปตู้เก็บของเป็นหน้าต่างกระจก เพื่อเปิดรับแสงสว่างและให้อากาศถ่ายเทได้ทั่วถึงทั้งออฟฟิศ
03 คำนึงถึงความปลอดภัยจากรังสีของเครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่ ด้วยการกั้นพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนแยกออกจากส่วนสำนักงาน ชั้นโล่งด้านบนสามารถทำเป็นที่เก็บเอกสารได้ในตัว
04 พื้นที่หลังบ้านติดกับห้องครัวจัดวางโต๊ะอเนกประสงค์สำหรับนั่งประชุมงานหรือรับประทานอาหารกั้นพื้นที่ด้วยระแนงไม้เพื่อสร้างความเชื่อมต่อกับธรรมชาติ
05 เพิ่มชั้นวางรองเท้าก่อนเข้าสู่ตัวบ้านและออฟฟิศ ด้วยการทำตู้สูงจรดฝ้าเพดาน อาจแบ่งชั้นล่างเป็นส่วนวางรองเท้าเพื่อให้หยิบใช้ง่าย และด้านบนใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ
A มุมมองด้านบน (Top View) ของพื้นที่ทำงานเฉลี่ยต่อหนึ่งคน ควรเว้นระยะห่างจากขอบโต๊ะไปยังพื้นที่จัดเก็บเอกสารประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร เพื่อให้เอื้อมหยิบเอกสารได้สะดวก
B มุมมองด้านข้าง (Side View) ของพื้นที่ทำงาน คำนึงถึงสรีระและระยะนั่งสบายขณะทำงาน โดยกำหนดให้โต๊ะทำงานมีความสูงจากพื้นประมาณ 75 เซนติเมตร และเว้นระยะห่างจากท็อปโต๊ะถึงตัวผู้นั่งอีก 40 เซนติเมตร ด้านบนไม่ลืมติดตั้งชั้นวางของเหนือโต๊ะทำงาน
TIP : สามารถคำนวณจำนวนคนที่จะเข้ามาใช้งานในห้องได้แบบคร่าว ๆ ด้วยการนำพื้นที่ทั้งหมดซึ่งมีหน่วยเป็นตารางเมตรมาคูณกับ 0.7 ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้งานจริงที่หักจากพื้นที่สัญจร (30% ของพื้นที่ทั้งหมด) แล้วนำผลลัพธ์มาหารด้วย 5 ซึ่งมีที่มาจากพื้นที่ทำงานเฉลี่ยของคน 1 คนในหน่วยตารางเมตร
ชมตัวอย่างได้ที่ บ้านสตูดิโอ ที่ทั้งอยู่อาศัยและเป็นโฮมออฟฟิศ
บ้านสตูดิโอ หลังนี้คุณอิ๋มเลือกรูปแบบสถาปัตยกรรมเหล็กที่ดูเบาลอยเหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทยเน้นความโปร่งโล่งมีช่องเปิดมากพอเพื่อระบายอากาศร้อน โดยออกแบบโครงสร้างเผื่อไว้สำหรับรับรองการใช้งานที่หลากหลายตั้งแต่เป็นอาคารสำนักงานทั้งหลัง เป็นบ้านพักอาศัยทั้งหลัง หรือทำเป็นสำนักงานชั้นล่างและบ้านพักอาศัยชั้นบน
เจ้าของบ้าน : คุณเดวิด เชฟเฟอร์ และ คุณอรพรรณ สาระศาลิน เชฟเฟอร์
ออกแบบ : Studiomake
ภาพ : Wison Tungthunya
สำหรับเรื่องราวของบ้านหลังนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> บ้านสตูดิโอ ที่ทั้งอยู่อาศัยและเป็นโฮมออฟฟิศ
————————————————————————————-
– ADJUST THE GARAGE –
BEFORE : กั้นบริเวณโรงรถให้กลายเป็นออฟฟิศหน้าบ้าน
ปรับเปลี่ยนโรงรถ
แบ่งพื้นที่โรงรถมาเป็นออฟฟิศขนาดอบอุ่น จากมุมมองด้านบนจะเห็นว่ามีส่วนที่เปิดรับแสงสว่างได้เพียงด้านเดียวคือจากทางหน้าบ้าน และเพราะต้องระมัดระวังเรื่องระยะถอยร่นจากขอบเขตที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถเปิดช่องแสงที่ผนังด้านข้างได้ เราจึงแนะนำให้ใช้หลังคาสกายไลท์เพื่อรับแสงจากทางด้านบนแทน
ด้านงานต่อเติมควรทำโครงสร้างใหม่ตั้งแต่ฐานรากแยกออกจากโครงสร้างบ้านเดิมเพื่อป้องกันการทรุดตัว เพราะโครงสร้างบ้านส่วนใหญ่มักไม่ได้เผื่อไว้สำหรับการต่อเติม ส่วนงานภายในควรติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงทั้งฝั่งที่ติดกับตัวบ้านและฝั่งที่ชิดกับเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันเสียงจากภายในออกไปรบกวนภายนอก และกันเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนขณะนั่งทำงานด้านใน
01 เว้นระยะถอยร่นจากรั้วบ้าน ไม่ให้รู้สึกอึดอัดเกินไป โดยการทำชานหน้าออฟฟิศสำหรับพักคอยหรือนั่งพักผ่อน
02 พื้นที่ภายในออฟฟิศควรปรับระดับพื้นขึ้นมาให้เท่ากับระดับภายในบ้านเพื่อความสะดวกในการใช้ห้องน้ำซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อกับภายในบ้าน
03 กั้นพื้นที่ส่วนประชุมและทำงานออกจากกันด้วยผนังเบา นอกจากใช้แยกฟังก์ชันแล้ว ยังสามารถติดตั้งฉากสำหรับฉายโปรเจ็คเตอร์ และเป็นกระดานเขียนงานได้ในตัว
04 โต๊ะประชุม
05 แพนทรี่
06 ตู้เก็บเอกสาร
07 โต๊ะทำงาน
08 ตู้เก็บของ
09 ห้องน้ำเดิมของบ้าน ทุบผนังเดิมออกแล้วทำประตูเชื่อมใช้งานได้ทั้งส่วนออฟฟิศและบุคคลในบ้าน
A ระมัดระวังการรั่วซึมจากรอยต่อระหว่างอาคาร โดยการออกแบบหลังคาของออฟฟิศให้สอดอยู่ใต้ชายคาเดิม ปรับเอียงสโลป และติดตั้งรางระบายน้ำไม่ให้น้ำฝนไหลลงไปสู่บ้านเพื่อนบ้าน
B หลังคาสกายไลท์ โครงทำจากเหล็กแบ่งเป็นช่วง กรุกระจกเทมเปอร์หรือกระจกชนิดทำความสะอาดด้วยตัวเอง (Self-Cleaning Glass) อาจทำเพียงบางส่วนหรือทั้งผืนเพื่อเปิดรับแสงสว่างจากภายนอก ไม่ลืมติดตั้งม่านไฟฟ้าสำหรับกรองแสงเวลาที่มีแสงแดดจัดจ้าเกินไป
TIPS : ข้อควรคำนึงถึงเมื่อเปลี่ยนโรงรถเป็นออฟฟิศ
• วางแผนการจอดรถใหม่ให้เหมาะสม เช่น นำรถไปจอดริมขอบทางหน้าบ้านที่มีขนาดกว้างขวางพอ ไม่ไปกีดขวางทางเข้า – ออกของเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการขัดแย้งในภายหลัง
• พื้นโรงรถเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เป็นการเทพื้นบนดินบดอัด ซึ่งแยกออกจากโครงสร้างของตัวบ้าน การต่อเติมเป็นออฟฟิศอาจเกิดการทรุดตัวได้ในอนาคต จึงควรปรับพื้นให้เป็นโครงสร้างเดียวกับเสา ด้วยการใช้คานเหล็กยึดกับเสาก่อนแล้ววางตงและแผ่นพื้นตามลำดับ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทน้ำหนักจากพื้นลงไปยังเสาและคาน
อ่านต่อ :