” บ้านไทย ” ในสมัยก่อนมีการออกแบบให้ยกพื้นสูง ด้านล่างเป็นใต้ถุนเรือน ถือเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนโบราณ ซึ่งช่วยในเรื่องความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและขโมย อีกทั้งมวลอากาศใต้บ้านยังช่วยให้อากาศร้อนถ่ายเทได้ดี บ้านจึงไม่ร้อน ทว่าในทางกลับกัน หากเราลองกลับหัวบ้าน นำส่วนที่เป็นใต้ถุนโล่งสลับเป็นส่วนบนของอาคารแทน ผลที่ได้ก็จะออกมาเป็นบ้านที่มีส่วนนั่งเล่นโปร่งกว้างอยู่ชั้นสอง มีมุมมองกว้างไกล และรับลมเย็นสบาย เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง อย่างบ้านกลางทุ่ง กลางนา กลางป่าเขาในต่างจังหวัด
- ที่จอดรถ
- ครัว
- ส่วนรับประทานอาหาร
- ส่วนนั่งเล่น
- โถงบันได
- ห้องน้ำ
- ส่วนซักล้าง
- ห้องแม่บ้าน
- ระเบียง
- ส่วนพักผ่อน
- ส่วนแต่งตัว
- ห้องนอนพ่อแม่
- ห้องนอนลูก
แต่สำหรับโจทย์การออกแบบ “บ้านในฝัน” ฉบับนี้ กำหนดให้เป็นบ้านของคู่สามีภรรยาที่มีลูกชายวัยรุ่นหนึ่งคน เป็นครอบครัวเดี่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ พื้นที่ชั้นหนึ่งเริ่มจากทางเข้าบ้านจะพบที่จอดรถซึ่งสามารถจอดได้ 2 คัน วางส่วนครัวไว้ด้านหน้าบ้านเพื่อความสะดวกในการขนของเข้าบ้าน ต่อมาจะพบส่วนรับประทานอาหารและส่วนนั่งเล่น ซึ่งต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกัน เปิดมุมมองสู่สวนกลางบ้าน ถัดไปจะมีทางเดินกระจกใสเชื่อมไปสู่ส่วนพักผ่อน ส่วนด้านหลังบ้านทำเป็นห้องแม่บ้าน ส่วนซักล้าง และห้องน้ำเผื่อไว้ด้วย ชั้นสองหากทำเป็นพื้นที่โล่งเปิดรับลมหมดก็อาจมากเกินไป จึงยกห้องนอนมาไว้ชั้นบน (ซึ่งน่าจะถูกใจคนไทยมากกว่าด้วย) เป็นห้องนอนพ่อแม่และห้องนอนลูกชาย แต่ละห้องเพิ่มความพิเศษด้วยระเบียงขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งสู่บรรยากาศภายนอกคล้ายอยู่ใต้ถุนแต่วิวดีกว่า รับลมมากกว่า วัสดุที่ใช้ก็เรียบง่าย เป็นผนังฉาบเรียบทาสี อาจเน้นผนังบางส่วนด้วยการกรุไม้
- มุมมองจากสวนกลางบ้าน ตัวอาคารมีรูปแบบเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์น
- บริเวณระเบียงชั้นสอง ใช้เสาเหล็กรูปตัวเอช (H) ทาสีกันสนิม จากนั้นก็ทาสีเทาเข้มหรือสีดำ ช่วยเสริมให้บ้านดูมั่นคงและแข็งแรงขึ้น
- พื้นระเบียงไม้สักทำสีธรรมชาติ ตีเว้นร่อง 5 มิลลิเมตร เพื่อระบายน้ำ
- ราวกันตกทำจากกระจกเทมเปอร์ (กระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อน ทำให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น) หนา 12 มิลลิเมตร ยึดด้วยกรอบอะลูมิเนียม
- ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ทาสีขาว ตัดกับสีของไม้สัก ทำให้บ้านดูโดดเด่นขึ้น
เมื่อใช้แนวคิดของ “บ้านไทยกลับหัว” พื้นที่ชั้นบนซึ่งเป็นระเบียง จึงทำหน้าที่เป็นหลังคาที่มีหลังคาจริงคลุมทับอีกทีหนึ่ง ลมที่พัดผ่านระเบียงก็ทำให้ห้องชั้นล่างไม่ร้อนด้วย
พื้นที่ใช้สอย 280 ตารางเมตร
ออกแบบและทัศนียภาพ : “คุณลมัด”