มารู้จัก.. พัดลมไฟฟ้า กันเถอะ
พัดลมไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสามัญประจำบ้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูไหนก็ถูกใช้งานเพื่อปัดเป่าความร้อนภายในบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อนที่แสนจะอบอ้าว
แต่ พัดลมไฟฟ้า ก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการเลือกซื้อพัดลมใหม่สักตัว ควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ รวมถึงการใช้งานอย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราสามารถประหยัดไฟได้ในระยะยาวเช่นกัน
วันนี้ขออาสาพาไปรู้จักกับส่วนประกอบต่างๆและหลักการทำงานเบื้องต้นของพัดลมไฟฟ้า ที่มีใช้งานกันแทบทุกบ้าน รวมถึงการดูแลรักษาเพื่อช่วยให้พัดลมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยยืดอายุการทำงานให้ให้ยาวนานยิ่งขึ้น หรือเมื่อเกิดความผิดปกติหรือเกิดปัญหาเล็กๆน้อยๆ เราจะได้แก้ไขได้ตรงจุด
ประเภทของ พัดลมไฟฟ้า
พัดลมที่ใช้งานกันตามบ้านส่วนใหญ่นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ พัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมตั้งพื้น และพัดลมแขวนนัง โดยมีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ยกเว้น! พัดลมไร้ใบพัด ที่จะบอกกล่าวในลำดับถัดไป
ส่วนประกอบของพัดลม
แบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
- ตัวเครื่อง (มอเตอร์ไฟฟ้า)
- กลไกที่ทำให้พัดลมหยุดกับที่หรือหมุนส่ายไปมา
- ใบพัดและตะแกรงคลุมใบพัด
- สวิตช์ควบคุมการทำงาน (เปิด/ปิด)
- เต้าเสียบ(ปลั๊กตัวผู้)ไฟฟ้า
การทำงานของพัดลมแบบดั้งเดิม
พัดลมไฟฟ้าทั่วไปจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ดังนั้นเมื่อเราเสียบปลั๊กไฟของพัดลมเข้ากับเต้ารับไฟฟ้า แล้วกดสวิตช์หรือปุ่มเลือกให้ลมแรงหรือเบาตามที่ต้องการ กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้าสู่ตัวมอเตอร์ จะทำให้แกนมอเตอร์หมุนใบพัดที่ติดอยู่กับแกนก็จะหมุนตามไปด้วย จึงเกิดลมพัดออกมานั่นเอง
พัดลมไร้ใบพัด
ไดสัน (Dyson) บริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติอังกฤษ โดยเจมส์ ไดสัน ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้ใบพัดของพัดลมแบบดั้งเดิมหมดความหมายไปเลย นั่นคือ พัดลมไร้ใบพัด ไดสัน Air Multiplier ที่ให้ลมเย็นอย่างสม่ำเสมอ โดยอากาศจะถูกดูดเร่งผ่านช่องวงแหวนที่อยู่ภายในหัวจ่ายลม กลายเป็นกระแสลมพ่นออกจากหัวจ่ายลมที่กำหนดทิศทางลมได้ พัดลมชนิดนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีตะแกรงป้องกันใบพัด ทำให้ปลอดภัยและง่ายต่อการทำความสะอาด
การทำงานของเทคโนโลยี Air Multiplier
อากาศจะถูกดูดเข้าไปในเครื่องด้วยมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง จากนั้นอากาศจะถูกดูดเร่งผ่านช่องวงแหวนที่อยู่ภายในหัวจ่ายลม กลายเป็นกระแสลมพ่นออกจากหัวจ่ายลมที่สามารถกำหนดทิศทางลมได้ อากาศที่อยู่รายรอบจะถูกดึงให้เข้ามาในกระแสลมนี้ด้วย จึงให้สายลมเย็นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
นับจากนั้นทีมวิศวกรของไดสันก็ไม่หยุดยั้งการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไว้ พวกเขาได้พัฒนาพัดลมไร้ใบพัดรุ่นแรกให้ดียิ่งขึ้น โดยทำงานเงียบขึ้นกว่าเดิม 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงให้แรงลมที่ดีเยี่ยม ทีมวิศวกรได้ออกแบบกล่อง Helmholtz เพื่อดักเสียงลมที่เคลื่อนผ่านพัดลม โดยตัวกล่องดักเสียงสามารถลดความดังของเสียงลงได้เหลือเพียง 1,000 Hz หรือเท่ากับเสียงปีกของยุง
TIPS : การเลือกซื้อและการดูแลรักษาพัดลม
- พิจารณาตามความต้องการและสถานที่ที่ใช้งาน เช่น ถ้าครอบครัวขนาดเล็ก มีสมาชิกเพียง 1-2 คน เลือกใช้พัดลมแบบตั้งโต๊ะก็เพียงพอแล้ว เพราะมีขนาดกระทัดรัดและใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าพัดลมแบบตั้งพื้น แต่ถ้าที่บ้านมีเด็กเล็กหรืออยู่ในวัยกำลังซน พัดลมไร้ใบพัดก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลิอกที่ดี
- ควรเลือกสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย มอก.จากสำนักงานมาตฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะนอกจากจะได้สินค้าที่มีคุณภาพแล้ว ยังประหยัดไฟอีกด้วย
- หมั่นทำความสะอาดพัดลมตามจุดต่างๆ เช่น ใบพัดและตะแกรงครอบใบพัด อย่าให้ฝุ่นละอองเกาะจับมากเกินไป รวมถึงช่องลมตรงฝาครอบมอเตอร์ของพัดลม ซึ่งเป็นช่องระบายความร้อนของมอเตอร์ อย่าให้มีคราบน้ำมันหรือฝุ่นละอองเกาะจับเช่นกัน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของมอเตอร์ลดลง และสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
เรื่อง : สุพจน์ เพชรศักดิ์วงศ์
ภาพประกอบ : ภาสกร เจยาคม
แก้ปัญหา พัดลมหมุนช้าให้กลับมามีพลัง
รู้จัก “พัดลมไอเย็น” ที่ไม่ใช่ “พัดลมไอน้ำ”
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x