ในเทศกาล Chiang Mai Design Week 2016 เราได้เห็นชิ้นงานดีไซน์มากมาย ของเหล่านั้นพัฒนาและตีความใหม่โดยนักออกแบบอย่างไร บ้านและสวนขอคัดชิ้นเด่นๆ มานำเสนอให้ชมกัน
เจดีย์ทราย
ริน โดย เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์งานศิลปะแบบจัดวางที่โดดเด่นบนทางเข้าวัดดวงดี มีที่มาที่ไปจากการก่อเจดีย์ทรายแบบเชียงใหม่ซึ่งมักจะนำไม้ไผ่มาล้อมจนเกิดเป็นขั้นบันไดที่ชัดเจน งานนี้ศิลปินนำรูปทรงเดิมมาตัดทอนและตะแคง เสมือนการรินทรายออกมาลอยอยู่กลางอากาศเปลี่ยนทางเข้าระหว่างตึกแถวให้มีเรื่องราวอย่างน่าตื่นตา
อนุสาวรีย์สามกษัตริย์
รูปปั้นอนุสาวรีย์สามกษัตริย์อันงดงาม ถูกถ่ายทอดมาเป็นงานประติมากรรมตกแต่งสามชิ้น ตัดทอนนำเฉพาะส่วนพระอุทัยมาเขียนลายรดน้ำ ปิดทองและเช็ดรัก ในความหมายของอำนาจ ความรักและสุขภาพวัฒนะ ออกแบบโดย รัฐ เปลี่ยนสุข
เจ้าดารารัศมี
สตรีสูงศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ และพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอลเลคชั่นเครื่องประดับ “Every Woman Deserves Elegance” โดย SARRAN ที่ได้รับการสนับสนุนจาก JIM THOMPSON
ดินท้องถิ่นกับงานเซรามิค
ลวดลายเหล่านี้เกิดจากการกำหนดแพทเทิร์นของแผ่นดินก่อนที่จะนำไปเผาเป็นภาชนะInclay Studio ศึกษาและทดลองดินท้องถิ่นจากที่ต่างๆ จนเข้าใจธรรมชาติของดินแต่ละที่ ตั้งแต่ดินจากอ.หางดง อ.แม่ริม และลำปาง พัฒนาเป็นเทคนิคเฉพาะของตนเอง
งานจักรสานเชียงใหม่
ตั้งแต่งานชิ้นใหญ่ที่จัดวางบริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ไปจนถึงงานชิ้นเล็กต่างๆ เราได้เห็นงานจักรสานที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปได้ไม่รู้จบ จาก REALM Pavilion โดยพิบูลย์ อมรจิรพร รวมทั้งงานหลายๆ ชิ้นในโครงการ TRANSFER(S) ของนักออกแบบไทยและฝรั่งเศส
เก้าอี้แขนอ่อน
จากเก้าอี้มีท้าวแขนดั้งเดิม ซึ่งไม่ทราบที่มาแน่ชัด กลายมาเป็นงานออกแบบใหม่จากเหล่าดีไซเนอร์ใน “Re-Design Anonymous Chair” ที่ตีความออกไปอย่างหลากหลายทั้งเรื่องวัสดุ การเชื่อมต่อ เทคนิก และรูปทรง
ม่อฮ่อมย้อมคราม
การย้อมผ้าด้วยครามสีเข้มซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดแพร่แล้วนิยมไปทั่วถิ่นล้านนา ได้กลายมาเป็นสีธีมของงานนี้ ได้ถูกนำมาออกแบบให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นในงานของแบรนด์ MOHHOM และ Slowstitch Studio