สร้างบ้านอย่างในหนัง
หลายครั้งที่ฉากในภาพยนตร์ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ บางครั้งอาจจำได้ติดตากว่าเนื้อเรื่องเสียอีก อาจเป็นเพราะงานสถาปัตยกรรมในภาพยนตร์มีผลต่อการรับรู้ไม่แพ้บทหนังหรือตัวละครก็เป็นได้ …หลังจากได้คุยเรื่องก่อสร้างติดต่อกันมาหลายฉบับ ครั้งนี้ผมขอลดความหนักหน่วงของเนื้อหาในคอลัมน์ “สถาปัตยกรรม” ลง และจะพาคุณผู้อ่านไปเดินเล่นในบ้านของตัวละครเหล่านี้ ไม่แน่นะครับคุณอาจนึกได้ว่าบ้านในฝันของคุณก็คือบ้านของโนบิตะนั่นเอง
Doraemon
ผมเชื่อว่ามีหลายคนอิจฉาเจ้าโนบิตะไม่มากก็น้อยที่มีเจ้าแมวอ้วนสีน้ำเงินนามว่า “โดราเอมอน” คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา แถมยังได้อยู่อาศัยในบ้านหลังน้อยที่แสนจะอบอุ่น ลองมาดูกันว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ช่วยเสริมให้บ้านหลังนี้น่าอยู่
“กลับมาแล้วคร้าบ…บ…บ…”
เป็นประโยคคุ้นเคยที่เจ้าโนบิตะพูดทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน โถงทางเข้าบ้านนี้เป็นเหมือนพื้นที่เล็กๆที่ใช้รองรับกิจกรรมของคนที่กลับมาถึงบ้านและจะออกจากบ้าน ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Genkan” ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ถอดรองเท้าและรับแขกที่ไม่สนิทเพื่อความเป็นส่วนตัว บ้านสมัยใหม่อาจละเลยพื้นที่เหล่านี้ หรือถึงจะมีแต่ก็คงไม่ได้อารมณ์น่ารักเหมือนบ้านหลังนี้
“ทางเดินเอนกประสงค์”
ถัดจากโถงทางเข้าจะเป็นทางเดินภายในที่เชื่อมไปสู่ส่วนต่างๆของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัวหรือห้องน้ำ ด้วยพื้นที่อันจำกัดของประเทศญี่ปุ่น ทางเดินนี้จึงเปรียบเสมือนห้องโถงอีกห้องหนึ่ง ใครกลับมาถึงบ้านคนในบ้านก็แค่ชะโงกหน้าออกมาดูที่ทางเดินนี้เท่านั้น
“ที่นอนของโดราเอมอน”
จะมีใครคาดคิดว่าที่นอนของคนเราจะอยู่ในตู้ได้ แต่สำหรับโดราเอมอนแล้วถือว่าเป็นพื้นที่ที่สบายและปลอดภัยที่สุด เปิดตู้แล้วกระโดดขึ้นไปนอนได้เลย บ้านใครมีเด็กวัยซนคงชอบและสนุกกับการนอนแบบนี้ไม่น้อย แต่ระวังอย่าให้มีระดับสูงมาก เพราะเดี๋ยวจะตกลงมาเจ็บตัวได้
อยากได้บ้านแบบนี้…
– บ้านหลังนี้ให้ความสำคัญกับพื้นที่รอบๆบ้าน และมักไม่ต่อเติมจนแน่นเหมือนบ้านคนไทย แต่เน้นการใช้พื้นที่ภายในอย่างคุ้มค่าและพอเพียง ซึ่งก็เป็นทางออกที่ดีของบ้านขนาดเล็กหลังนี้
– การที่บ้านหลังนี้ดูน่ารักและอบอุ่นเป็นเพราะออกแบบขนาดและความสูงของบ้านให้พอดีกับการใช้งาน อย่างฝ้าเพดานก็สูงประมาณ 2.40 – 2.60 เมตร ห้องนอนของโนบิตะขนาด 2.50 x 3 เมตร ซึ่งก็พอดีกับการใช้งานของเจ้าของห้อง
– ภายในของแต่ละห้องออกแบบขนาดตามระยะของเสื่อทาตามิซึ่งมีตั้งแต่ 3, 4.5, 6, 8, 10 ผืน (เสื่อทาตามิหนึ่งผืนมีขนาด 90 x 180 เซนติเมตร) อีกทั้งเสื่อชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสมดุลของอากาศและความชื้นภายในห้องให้พอดีกับการอยู่อาศัย
– ประตูกระดาษสาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบ้านญี่ปุ่น ใช้กั้นระหว่างห้องภายในบ้านที่ไม่โดนแดดโดนฝนโดยตรง โดยโครงประตูเป็นไม้ที่ตีโครงเป็นช่องๆและขึงกระดาษสา สามารถให้แสงส่องผ่านได้บ้าง อาจนำมาประยุกต์ใช้กับการกั้นห้องภายในระหว่างส่วนแต่งตัวกับส่วนนอนก็ดูเข้าท่าดีเหมือนกัน หรือถ้าอยากให้แข็งแรงถาวรก็ประกบด้วยแผ่นกระจกใส
แปลน
- ทางเดินเข้าบ้าน
- โถงทางเข้า
- ทางเดินภายในบ้าน
- บันได
- ห้องรับแขก
- ห้องนั่งเล่น 1
- ห้องนั่งเล่น 2
- ห้องรับประทานอาหารและครัว
- ห้องอาบน้ำ
- ห้องแต่งตัว
- ห้องน้ำ
- ระเบียง
- สนามหญ้า
- ที่ตากเสื้อผ้า
- ที่นอนโดราเอมอน
- ห้องนอนโนบิตะ
- ห้องนอนใหญ่
เรื่อง : “เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์”
ภาพประกอบ : เอกราช , ปัณณวัจน์