พระตำหนักจิตรลดา พระราชวังที่ไม่เหมือนนิทานเล่มใด - บ้านและสวน

พระตำหนักจิตรลดา พระราชวังที่ไม่เหมือนนิทานเล่มใด

Reference ที่มา : http://travel.mthai.com/blog/144578.html

“…ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดา และบริเวณสวนจิตรลดาที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้เต็มปากว่าในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินด้วยพระองค์เอง…”

ประโยคข้างต้นเป็นคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา
ที่กล่าวในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.
๒๕๒๓ ได้ฉายภาพพระตำหนักจิตรลดา
พระราชวังของในหลวงได้อย่างชัดเจน

เนื่องจากภายในพระราชวังแห่งนี้ ไม่มีสิ่งหรูหราที่มากไปกว่า นาข้าวทดลอง บ่อปลานิล โรงเลี้ยงโคนม
เรือนเพาะชำ โรงเห็ด ฯลฯ

อันเป็นเสมือนห้องทดลองส่วนพระองค์ของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ที่ยากจะหาได้จากพระราชวังในนิทานเล่มใด

พื้นที่ส่วนพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทย

20170109-ptt-for-king-content-support-content-palace-2
ภาพต้นฉบับ ที่มา: http://travel.mthai.com/blog/144578.html

นับจากในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยเริ่มต้นที่ภาคกลาง จนกระทั่งเสด็จไปครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ในหลวงได้เห็นทุกข์สุขของพสกนิกรในจังหวัดต่างๆ และทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มีความเดือดร้อนกันมาก โดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรม พระองค์จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตรของไทยให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อช่วยให้พสกนิกรของพระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก

จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะศึกษา ค้นคว้า และทดลองโครงการต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อที่จะพระราชทานความรู้ที่เหมาะสมแก่พสกนิกรในแต่ละท้องที่ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาอาชีพของตนต่อไป

พ.ศ. ๒๕๐๔ ในหลวงทรงนำพระราชดำรินั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการอุทิศพื้นที่ในเขตพระราชฐาน
พระตำหนักจิตรลดารโหฐานของพระองค์ เป็นสถานที่ทดลองตามพระราชประสงค์ ภายใต้ชื่อ
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาโดยจำลองความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรจากภาคต่างๆ
ทั่วประเทศ มาอยู่ในบริเวณที่ประทับ เพื่อทดลองหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ถูกต้องและตรงจุดด้วยพระองค์เอง โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากประโยชน์สุขของพสกนิกร ดังที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้

เรื่องโดยย่อเกี่ยวกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

20170109-ptt-for-king-content-support-content-palace-3
ภาพต้นฉบับ ที่มา: http://travel.mthai.com/blog/144578.html

ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔ ปีแรกของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในหลวงเริ่มต้นจากการทำ นาข้าวทดลองและ ป่าไม้สาธิตก่อนจะมาเป็นกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ อาทิ โรงสีข้าว การเพาะเลี้ยงปลานิล เรือนเพาะชำ ห้องปฏิบัติการวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โรงโคนม และโรงนมผงสวนดุสิต ซึ่งเป็นโรงนมผงแห่งแรกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังเกิดภาวะนมสดล้นตลาด ผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไม่สามารถขายนมสดที่ผลิตได้ ในหลวงทราบความ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขนาดย่อมขึ้นภายในสวนจิตรลดา ทดลองผลิตนมผงจากนมสดที่รับซื้อจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม เพื่อแก้ปัญหานมสดล้นตลาด จะค่อยๆ หยั่งฝังลึกภายใต้ร่มเงาของพระราชวังแห่งนี้

ครั้งหนึ่งในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดขึ้น หลังพระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูโบราณราชประเพณีอีกครั้ง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียม และเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจให้เกษตรกร เนื่องจากพิธีนี้ระงับไม่ได้จัดมานานถึง ๒๔ ปี

ในวันนั้นในหลวงทรงมีพระราชดำรัสแก่กลุ่มชาวนาที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทว่า

“…ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง เพราะทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบาก เป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยข้าวพันธุ์ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน

“อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป…”

พระราชดำรัสข้างต้นเป็นหนึ่งในพระราชดำรัสที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล หลังจากในหลวงเสด็จไปทั่วประเทศ พบเห็นความทุกข์ยากและปัญหาของราษฎร แล้วนำปัญหานั้นมาขบคิดแก้ไข ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ความปรารถนาดีของพระองค์ท่านที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยามอย่างแท้จริง

ห้องทดลองที่สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน

ถ้าจะเปรียบพระตำหนักจิตรลดาก็เป็นเสมือน ห้องทดลองของพระองค์ ที่มีเป้าหมายสำคัญคือถ่ายทอด
ความรู้ที่ทรงค้นพบแก่ประชาชน

หนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ที่จัดทำโดย สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดังนี้

. ศึกษา ทดลอง และวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านเกษตร เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล เป็นต้น

. โครงการศึกษาทดลองดังกล่าวเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ได้

. การดำเนินการต่างๆ ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ แต่เป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร

แม้ว่าแต่ละโครงการส่วนพระองค์ฯ และงานศึกษาที่คิดค้นจะมีหลักวิชาการขั้นสูงรองรับ แต่ก็เน้นการใช้วิธีการและเครื่องจักรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถดัดแปลงและหาได้ง่ายในประเทศ

เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้

เราจะแนะหรือไปสอนเขาต้องระวังให้มาก

สิ่งหนึ่งที่ในหลวงทรงเน้นย้ำเสมอ ก่อนจะนำความรู้ใน ห้องทดลอง’  ของพระองค์ไปถ่ายทอด ความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่ทรงได้พิสูจน์และรวบรวมเป็นองค์ความรู้อย่างเป็นระบบแล้ว

ทุกครั้งก่อนที่พระองค์จะพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนา พระองค์จะทรงมีรับสั่งเสมอว่า

“…การที่เราจะแนะหรือไปสอนเขาต้องระวังให้มาก เพราะหากพลาดไปแล้ว เราไม่ได้แย่นะ แต่เขาจะแย่

เช่น เราไปแนะให้เขาปลูกอะไรสักอย่าง ถ้าได้ผลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ผล เขาแย่ เพราะฉะนั้น เราต้องระวังให้มาก และที่แย่กว่านั้นคือต้นไม้ที่เราแนะให้เขาปลูก กว่าจะรู้ว่าสำเร็จหรือไม่ ใช้เวลา ๔ – ๕ ปี เพราะฉะนั้น เรื่องเกษตร ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องระวังอย่างมาก เพราะเมื่อพลาดแล้วฟื้นกลับคืนยาก ไม่เหมือนเรื่องอุตสาหกรรมหรือเรื่องอื่นๆ ที่สามารถไปกู้เงินมาดำเนินการต่อได้ เรื่องธรรมชาติฟื้นกลับมายากที่สุด”

ด้วยพระวิสัยทัศน์ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ วันนี้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการเกษตรของประเทศ และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ

และจากพระราชประสงค์ที่จะให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นโครงการศึกษาทดลอง และเป็นโครงการตัวอย่าง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมกิจการ รวมทั้งฝึกปฏิบัติงาน เพื่อเรียนรู้นำไปเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป

พระราชวังพื้นที่แห่งการทรงงาน ๒๔ ชั่วโมง

005

(ขอบคุณรูปภาพจาก คุณ Sarawut Itsaranuwut)

“พระองค์ก็คงทรงเหนื่อยเหมือนกัน แต่ทรงไม่บ่น ทรงงาน ๓๖๕ วัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยจะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารพัดอย่าง…”

นี่คือข้อความบางส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมเกียรติ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งฉายภาพชีวิตบางฉากของในหลวงขณะที่ประทับอยู่ในพระราชวังของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี

พระราชวังที่เป็นเสมือน ห้องทดลองที่สร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎร ซึ่งไม่เหมือนพระราชวังในนิทานเล่มใด

“ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์”

พระราชดำรัสที่ในหลวงทรงมีถึงบทบาทของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีและเรียบง่ายที่สุด

ว่าเพราะเหตุใดพระราชวังแห่งนี้ถึงไม่เหมือนกับพระราชวังในนิทาน