ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาช้านาน เรานำไม้มาใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะทำเป็นบ้านทั้งหลังหรือเป็นส่วนประกอบต่างๆ ในการตกแต่ง
แต่ด้วยความเป็นธรรมชาติของไม้ ทำให้เราต้อง ดูแลรักษาเนื้อไม้ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานด้วย ครั้งนี้ “บ้านและสวน” จะพาคุณมาดูวิธี ดูแลรักษาบ้านไม้ ในส่วนต่างๆ ของบ้านคุณกัน
ประตูหน้าต่าง โครงสร้างไม้นอกบ้าน
การป้องกัน : ปกป้องผิวไม้จากความชื้นและแสงแดดด้วยการทาสีน้ำมัน สีน้ำพลาสติก สำหรับงานไม้โดยเฉพาะ หรือใช้สีย้อมไม้ (Wood Stain) ซึ่งทาแล้วซึมเข้าเนื้อไม้ จึงโปร่งแสงเห็นลายไม้ ใช้ง่าย เพียงเตรียมพื้นผิวให้สะอาดและแห้งสนิทก็ทาทับหน้าได้ทันที สีเหล่านี้จะมีความทนทานต่อน้ำและแสงแดดมากกว่าน้ำยาเคลือบผิวชนิดที่เป็นฟิล์มใส เช่น พอลิยูรีเทนหรือแล็กเกอร์ เราขอแนะนำให้ป้องกันปลวกและมอดด้วยการใช้น้ำยาป้องกันแมลงกินไม้ ทาให้ทั่วก่อนจะทาสี ถ้าจะลงมือทำเองให้พึงระวังว่าน้ำยาชนิดนี้เป็นยาฆ่าแมลง ต้องสวมถุงมือ ใส่หน้ากาก ทำงานอยู่เหนือลม และควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างกระป๋อง หรือจะให้ปลอดภัยที่สุดก็คือจ้างมืออาชีพเข้ามาวางระบบป้องกันและกำจัดปลวกเสียเลย
การดูแลรักษา : ไม้นอกบ้าน แม้จะอยู่ในที่ร่มก็ยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การหด บิด และโก่งตัวเป็นเรื่องปกติ ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือบานหน้าต่างไม้ที่เริ่มเปิดปิดไม่สะดวก สีก็ลอกล่อน สามารถแก้ไขได้โดยขัดสีที่เสียหายออกให้ถึงเนื้อไม้ และไสผิวให้เรียบก่อนลงสีใหม่ การทาสีย้อมไม้จะต้องทา 2 – 3 ชั้น แต่ละชั้นควรทิ้งระยะให้แห้งอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
ระเบียง ชาน และไม้ที่อยู่กลางแจ้ง
การป้องกัน : ไม้ที่นำมาใช้ทำพื้นทางเดิน ระเบียง หรือส่วนที่ต้องตากแดดตากฝน อาทิ ซุ้มประตู เรือนเพาะชำ หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้ในสวน ควรเลือกใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้แดง หรือไม้เต็ง เพราะมีความแข็งแกร่ง แมลงกินไม้ไม่ค่อยชอบ และควรทาสีย้อมไม้ เพื่อช่วยลดการดูดซับและสูญเสียความชื้นในเนื้อไม้ ซึ่งในตลาดตอนนี้มีสีย้อมไม้บางชนิดที่ผสมน้ำยากันปลวกด้วย จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับไม้กลางแจ้ง แม้สีสันอาจมีให้เลือกไม่มากเท่าสีย้อมไม้ทั่วไป แต่ที่แน่ๆ คือทนทานกว่าพอลิยูรีเทน ที่แม้จะดูมันวาว แต่ทนแดดได้ไม่นาน ควรตีเว้นร่องพื้นระเบียงห่างกันเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลลงด้านล่างได้สะดวก สำหรับโครงสร้างไม้ เช่น ซุ้มไม้เลื้อย หรือเฟอร์นิเจอร์ในสวน ก็สามารถทาสีน้ำมันทับได้ เพราะมีความทนทานสูง สีสันสวยงาม แต่ไม่เหมาะสำหรับทาพื้น เพราะจะลื่นเวลาเปียก
การดูแลรักษา : ไม้กลางแจ้งต่างๆ จะต้องมีการขัดผิวและทาด้วยสีย้อมพื้นระแนงไม้ (Deck Stain) หรือสีย้อมไม้สำหรับไม้นอกบ้าน (Exterior Wood Stain) ทุก 3 ปี เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน
พื้น ผนัง บันได และไม้ในบ้าน
การป้องกัน : ไม้ในบ้านอาจไม่ต้องต่อสู้กับฝนและแสงแดดมากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องรอยขีดข่วนจากการใช้งานมากกว่า น้ำยาเคลือบผิวชนิดฟิล์มเป็นทางเลือกที่เป็นที่นิยม เพราะดูแลทำความสะอาดง่าย ให้ความมันวาวหรือด้านตามความต้องการ โดยทั่วไปพอลิยูรีเทนจะทนทานกว่า ไม่เหลืองขุ่นง่ายเท่าแล็กเกอร์ ความชื้นจากใต้พื้นไม้ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย (โก่ง) ก่อนปูพื้นไม้ควรรอให้ปูนแห้งสนิทเสียก่อน (อย่าไปเร่งให้ช่างทำงานเร็วเกินไป) ส่วนปัญหาปลวกป้องกันได้ด้วยการทาน้ำยาป้องกันแมลงกินไม้ให้ทั่ว ก่อนจะเคลือบด้วยพอลิยูรีเทน
การดูแลรักษา : การทำความสะอาดไม้ที่เคลือบผิวด้วยฟิล์มนั้นง่ายมาก แค่ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูก็เพียงพอแล้ว เพราะฟิล์มที่เคลือบจะช่วยรักษาความชื้นในเนื้อไม้ได้ดีอยู่แล้ว แต่หากถึงเวลาหมดสภาพ หลุดล่อนหรือเป็นรอยมากๆ อย่าทาน้ำยาเคลือบผิวทับไปเฉยๆ เพราะนอกจากจะดูไม่ดีเท่าไรแล้ว อีกไม่นานก็จะลอกอีก ควรขัดออกให้หมดก่อนแล้วเคลือบใหม่จึงจะดีที่สุด
เฟอร์นิเจอร์ไม้
การป้องกัน : การขัดเคลือบผิวจะช่วยปกป้องเนื้อไม้ไม่ให้สูญเสียหรือดูดซับความชื้นมากเกินไป การยืดหดก็จะลดน้อยลง แล็กเกอร์เคลือบผิวก็จะให้ความเงางาม แต่ถ้าไม่ชอบให้ดูเป็นฟิล์มเคลือบก็ใช้ น้ำมันบำรุงรักษาผิว เช่น Teak Oil หรือ Oil Stain ซึ่งเหมือนเป็นโลชั่นสำหรับไม้ แต่ต้องทาเป็นระยะๆ (ทุก 3 เดือน)
การดูแลรักษา : สำหรับเฟอร์นิเจอร์ใหม่ใช้ผ้านุ่มๆ ชุบน้ำผสมสบู่จางๆเช็ดก็เพียงพอ (อย่าใช้น้ำมาก เพราะจะทำให้ผิวเป็นรอยด่าง) แต่ก็มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ออกมาขายด้วย ทั้งแบบสเปรย์และแบบครีม ซึ่งใช้ง่าย มีกลิ่นหอม ทั้งยังบำรุงผิวไม้ไปพร้อมกับการทำความสะอาด แต่อย่าใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรืแอลกอฮอล์กับไม้เด็ดขาด สำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษให้เช็ดด้วยผ้าแห้งหรือปัดฝุ่นจะดีกว่า โดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงจุดวางที่มีแดดแรงๆ เพราะจะทำลายสีของไม้ หลังจากทำความสะอาดแล้วให้ลง น้ำมันบำรุงผิวอีกที