6. ซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม
- พยายามนำความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
- เฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้า ที่มีส่วนประกอบของโครงไม้และผ้าหุ้มฟองน้ำต่างๆ หากโครงไม้ยังใช้ได้ ถอดเฉพาะโครงไปตากแดดแล้วเก็บไปหุ้มนวมใหม่ ส่วนฟองน้ำและผ้าหุ้ม ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนใหม่เลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ แม้จะตากแดดให้แห้ง เชื้อโรคก็ยังมีอยู่
- เฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง หากเป็นโครงสร้างไม้จริงต้องดูแลเป็นส่วนๆไป เช่นโครงไม้ด้านในหากไม่ผุกร่อน ให้ทิ้งไว้จนแห้งสนิทแล้วทำสีใหม่ ส่วนหน้าบานตู้ หากเป็นไม้อัดอาจต้องทำใจเพราะจะเกิดการบวมน้ำการนำกลับมาใช้ใหม่คงเป็นเรื่องยาก แนะนำให้เปลี่ยนบานใหม่ ทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิดรวมถึงอย่าลืมตรวจสอบระบบไฟต่างๆที่อยู่ภายในตู้บิลท์อินด้วย
- เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ควรรอให้แห้งสนิทก่อน มิฉะนั้นจะลอกได้
- เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของเหล็ก อย่างขาตู้ที่ต้องแช่น้ำแบบเต็มๆจนเกิดสนิม ให้นำชิ้นส่วนนั้นออกไปตากแดดจัด จากนั้นเมื่อแห้งดีให้ใช้น้ำยาขัดสนิมขัดคราบออก แล้วเคลือบผิวด้วยน้ำยากันสนิมและพ่นสีใหม่ ก็จะกลับสู่สภาพเดิม
- เฟอร์นิเจอร์หนังแท้ ควรต้องยกให้พ้นน้ำเพราะการทำความสะอาดคราบสกปรกที่เกิดจากน้ำเน่ายากเอาการอยู่ จะใช้น้ำยาแรงๆหรือขัดมากๆก็ไม่ได้ นี่ยังไม่รวมกับสีที่อาจด่างจากการแช่น้ำด้วย กรณีที่ไม่ได้แช่น้ำ แต่มีเชื้อราขึ้นเป็นจุดๆจากความชื้นในบ้านควรซื้อน้ำยาทำความสะอาดเครื่องหนังแท้ หรือถ้าไม่อยากเสียเงินให้ใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูหรือแอมโมเนียเช็ดเบาๆหลายๆครั้งจนคราบหมดไป จากนั้นเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำเปล่าจนหมดกลิ่น ผึ่งลมให้แห้งสนิท แล้วจึงลงน้ำยารักษาเครื่องหนังให้ทั่ว
7. ซ่อมประตูบ้านหลังน้ำท่วม
ประตูที่จะเกิดปัญหามากคือประตูไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้จริงหรือไม้อัด ส่วนประตูที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น พีวีซี มักไม่ค่อยเป็นอะไร ยกเว้นส่วนที่เป็นโลหะ เช่น บานพับและลูกบิดอาจเกิดสนิม ประตูไม้ที่แช่น้ำนานๆจะมีการบวมโก่งซึ่งทำให้เปิด – ปิดลำบาก ควรถอดออกมาผึ่งลมให้แห้งอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ แล้วนำไปขัดสีเก่าออก อุดโป๊รอยแยก รอยแตกให้ดีก่อนทำสีใหม่ หรือถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ปิดผิวด้วยไม้วีเนียร์ใหม่เลย
บานพับและลูกบิดก็ต้องเป่าลมให้แห้ง ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออก หยอดน้ำมันหล่อลื่น ถ้ายังใช้การได้ดีอยู่ก็ใช้ของเดิมได้ ส่วนวงกบไม้อาจมีการบวมโก่ง ถ้าแห้งแล้วยังปิดประตูไม่เข้า ต้องนำบานประตูมาไสออกบ้าง
8. น้ำท่วมนอกบ้านวอลล์เปเปอร์ในบ้านจะเป็นอะไรไหม
น้ำท่วมภายนอกแม้ไม่ได้เข้ามาในตัวบ้านก็ทำให้ผนังชื้น บ้านที่ติดวอลล์เปเปอร์อาจมองไม่เห็นว่ามีคราบน้ำและความชื้นอยู่ที่ผนัง เมื่อน้ำลดให้ใช้พัดลมเป่าทั่วผนัง เป่าทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 – 2 วัน แต่ต้องเป็นกรณีที่น้ำท่วมแค่ภายนอกน้ำไม่โดนวอลล์เปเปอร์โดยตรง และเป็นน้ำขังไม่เกิน 2 – 3 วันเท่านั้น เพราะถ้าเกินกว่านั้นผนังจะรับความชื้นไว้สูงและเกิดเชื้อราภายใน ส่งผลให้วอลล์เปเปอร์เสื่อมสภาพเร็วและต้องลอกออกอยู่ดี
สำหรับกรณีที่น้ำท่วมขังอยู่ภายในบ้านและโดนวอลล์เปเปอร์โดยตรงเป็นเวลานาน ก็จำเป็นต้องลอกออกสถานเดียวแล้วปล่อยให้ผนังแห้งเอง โดยจะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนซอกมุมต่างๆที่ดูท่าว่าจะมีความชื้นสะสมอยู่มากสามารถใช้พัดลมหรือดรายร์เป่าผมช่วยเป่าก็ได้ ที่สำคัญหากผนังปูนมีลักษณะหลุดล่อนก็ควรกะเทาะออกแล้วฉาบปูนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนจะติดวอลล์เปเปอร์
เมื่อเลือกซื้อวอลล์เปเปอร์ใหม่ควรเลือกแบบที่เป็นไวนิล หรือเปลี่ยนไปใช้วอลล์คัฟเวอริ่ง (Wall Covering) จะมีความทนทานมากว่าวอลล์เปเปอร์ที่เป็นกระดาษ
9. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จมน้ำ ซ่อมใช้ต่อได้ไหม
หลังน้ำลดถ้าอยากรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังใช้งานได้ไหม ควรทำให้แห้งสนิทก่อนจะเสียบปลั๊ก หากไม่แน่ใจควรให้ช่างที่ชำนาญมาตรวจสอบหรือซ่อมแซม โทร.ปรึกษาฝ่ายบริการหลังการขายของบริษัทที่ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นจะดีที่สุด เขาจะรู้ว่าต้องเปลี่ยนอะไรดีกว่าช่างทั่วไป แต่ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าดูเสียหายมากก็ไม่ควรเสี่ยงนำมาใช้งาน หาซื้อใหม่ดีกว่า
หลายคนสงสัยว่าปกติคอมเพรสเซอร์แอร์หรือเครื่องปั๊มน้ำก็อยู่ด้านนอกและโดนฝนมาตลอดไม่เห็นจะเสียหายเลย ก็ต้องบอกว่าตัวถังของเครื่องป้องกันน้ำฉีดและน้ำกระเด็นใส่ได้ แต่ถ้าจมน้ำเกินหนึ่งชั่วโมงโอกาสรอดก็ริบหรี่ ดังนั้นเราจึงควรติดตั้งอุปกรณืเหล่านี้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
10. ตรวจสอบถังน้ำบนดินและถังน้ำใต้ดิน
บ้านใครมีถังน้ำบนดินให้ตรวจสอบว่า ภายในมีการรั่วของน้ำที่ท่วมเข้ามาหรือไม่ ส่วนใต้ดินต้องตรวจสอบ “ฝา” ของถังน้ำให้ถี่ถ้วน เพราะเวลาน้ำท่วม ถังน้ำจะอยู่ใต้น้ำหากฝาของถังน้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดีหรือชำรุด น้ำสกปรกก็จะปะปนกับน้ำสะอาดในถังได้
สำหรับการแก้ไขปัญหา หากเป็นถังน้ำบนดิน ถังสเตนเลสจะมีปัญหาเรื่องสนิม วิธีการอุดรอยรั่วอาจพอทำได้ในระยะสั้นและเสี่ยงที่จะรั่วซึมได้อีก แนะนำให้เปลี่ยนเป็นถังแบบไฟเบอร์กลาส เพราะทนทานและไม่เป็นสนิม
หากไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำเล็ดรอดเข้ามาในถังได้ ก็ขอให้ต่อท่อน้ำตรงจากท่อประปาหน้าบ้านเข้ามาที่ตัวบ้านของเราเลย (โดยปกติแล้ว บ้านที่มีถังน้ำใต้ดินจะมีวาล์วหมุนเปิดทางให้น้ำประปาจากหน้าบ้านวิ่งเข้ามาในบ้านโดยตรง ต้องหาวาล์วตัวนี้ให้เจอ น้ำจะเบาลงหน่อยแต่ยังเป็นน้ำสะอาด) หลังจากน้ำลดแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ถังบนดินหรือเปลี่ยนจากถังปูนใต้ดินมาเป็นถังน้ำสำเร็จรูปที่ออกแบบสำหรับใต้ดินโดยเฉพาะ
11. ตรวจสอบรั้วบ้านว่ายังดูดีอยู่รึเปล่า
วิธีตรวจสอบสภาพกำแพงรั้วต้องดูด้วยตาเท่านั้น สังเกตดีๆว่ามีรอยร้าวไหม เอียงหรือทรุดตัวเป็นคลื่นบ้างไหม ถ้ามีเพียงเล็กน้อยควรหาไม้มาค้ำยันและเรียกช่างซ่อม อีกอย่างที่ต้องสังเกต ดินใต้แนวกำแพงรั้วอาจโดนน้ำชะไปจนเกิดเป็นโพรง ควรเร่งทำแนวอิฐบล็อกกันไว้แล้วอัดดินเสริมเข้าไปให้แน่น ป้องกันดินในบ้านคุณไหลออกไปซึ่งจะมีผลต่อรากฐานของรั้วได้
วิธีซ่อมมีหลายวิธี ถ้าเสาและคานปูนยังอยู่ในสภาพดี แก้โดยการทุบอิฐบล็อกและก่อใหม่เป็นจุดๆ แต่ถ้าเสียหายหลายจุดอาจจำเป็นต้องก่อใหม่ด้วยวัสดุที่เบากว่า เช่น อิฐมวลเบา หรือทำเป็นระแนงรั้วไม้หรือไม้เทียม ทั้งนี้เพื่อให้น้ำหนักเบาลง ในกรณีที่ทรุดหรือเอียงต้องรื้อทำใหม่เท่านั้น
เขียน : กองบรรณาธิการบ้านและสวน, room, my home