ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำโครงการเกี่ยวกับ “ผ้าขาวม้า” ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้า เดอะซีรี่ ในรายการมายโฮม หรือรายการชื่นใจไทยแลนด์ ทางช่องอมรินทร์ทีวีเอชดี 34 ซึ่งงานทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ( การรวมพลังของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน) ที่พยายามทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย
ผ้าขาวม้า เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ผ้าเคียนเอว” (เคียน แปลว่า พัน ผูก คาด) เริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยเชียงแสน ชาวไทยในสมัยก่อนก็นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง และอื่นๆ การใช้งานของผ้าขาวม้าเกิดขึ้นอย่างหลากหลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากผ้าคาดเอวก็มาเป็นผ้าสำหรับห่ออาวุธ เก็บสัมภาระ ใช้ปูพื้น ใช้นุ่งอาบน้ำ เป็นต้น ขนาดทั่วไปของผ้าขาวม้าอยู่ที่ 2 ศอก (ความกว้าง) คูณ 3-4 ศอก (ความยาว) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความสูงของผู้ชายไทยทั่วไป โดยความกว้างที่ว่านี้จะยาวจากเอวไปจนถึงกลางลำแข้ง ในขณะที่ความยาวสามารถพันรอบเอวแล้วเหลือเศษออกมาเล็กน้อย สำหรับในท้องถิ่นแถบอีสาน ผ้าขาวม้าอาจจะเรียกว่า “ผ้าแพร” ซึ่งส่วนใหญ่จะทอจาก “กี่ทอผ้า” โดยมีความยาวประมาณ 20-30 เมตรต่อการทอแต่ละครั้ง จากนั้นจะนำมาตัดลงให้เหลือผืนละ “หนึ่งวา” ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผ้าแพรวา” ในขณะที่ทางภาคใต้จะเรียกว่า “ผ้าซักอาบ” อันสืบเนื่องมาจากประโยชน์หลักของตัวผ้าที่นิยมใช้กันในขณะอาบน้ำ
สรุปได้ว่า ผ้าขาวม้า เป็นผ้าท้องถิ่นของไทยที่มีมายาวนานกว่า 500 ปี เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน และมีหลายชุมชนทั่วประเทศที่ยึดถืออาชีพทอผ้าขาวม้าเพื่อเลี้ยงชีพ ผ้าขาวม้าของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านวัตถุดิบ ลวดลาย คุณภาพ และความเป็นมาเชิงลึก ซึ่งคนทั่วไปอาจยังไม่มีความเข้าใจถึงรายละเอียดเหล่านี้ และอาจไม่เห็นคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรม
ถึงเวลาที่คนไทยต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นผ่านการบอกเล่าความเป็นมาของผ้าขาวม้าของตนให้แก่สังคม และยังเป็นพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลักดันให้เกิดการแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นสินค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตรงต่อความต้องการของตลาด ที่สำคัญเป็นการช่วยสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน