เคยเป็นแบบนี้กันบ้างไหม เมื่อหลอดไฟเสีย เราก็รีบไปที่ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือแผนกฮาร์ดแวร์ตามห้าง เพื่อหาซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนใหม่ แต่ก็ต้องยืนงงๆ อยู่นานสองนาน ว่าต้องเลือกแบบไหนดี
เพราะมี หลอดไฟ ให้เลือกมากมาย และเมื่อเจ้าของร้านหรือพนักงานถามว่าจะซื้อหลอดไฟแบบไหนดี หลอดไส้หรือหลอดแอลอีดี ขั้วหลอด E14 หรือ E27 ชอบแสงแบบเดย์ไลท์หรือวอร์มไวท์ ใช้กี่วัตต์ ฯลฯ คราวนี้ยิ่งทำอะไรไม่ถูกเลย เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าหลอดไฟที่ซื้อมาพร้อมกับโคมไฟที่บ้านคือหลอดไฟแบบไหนกันแน่ (ถ้าไม่ได้ถอดหลอดไฟที่เสียออกมาเพื่อนำไปเป็นตัวอย่าง) แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป วันนี้ผมมีคำแนะนำมาฝาก ถ้าต้องไปซื้อหลอดไฟอีกครั้ง ก็บอกพนักงานขายอย่างมั่นใจไปเลยว่า อยากได้หลอดไฟแบบไหนมาใช้ ไม่ต้องยืนงงๆให้เสียเวลาอีกแล้ว
1. ขั้วหลอดไฟ..สำคัญจริงๆนะ จะบอกให้
ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ แต่ถ้าดูหลอดไฟให้แน่ๆ ต้องดูที่ขั้วหลอดไฟ! งานนี้ผมพูดจริงๆนะ ไม่ได้ล้อเล่น เพราะจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับหลายๆท่าน เมื่อซื้อหลอดไฟใหม่มาเปลี่ยนหลอดไฟที่เสียแล้ว แต่กลับเปลี่ยนไม่ได้ สร้างความหงุดหงิดใจได้ทั้งวัน อาจต้องเสียเวลากลับไปเปลี่ยนหลอดใหม่ที่ร้าน หรือยอมเสียเงินไปฟรีๆเลยก็มี
เรื่องนี้แก้ไขได้ ถ้าเรารู้จักหลอดไฟและลักษณะขั้วหลอดแบบมาตรฐานที่มีให้เลือกใช้กับโคมไฟแบบต่างๆ โดยสังเกตจากขั้วหลอดที่ติดอยู่ที่โคมไฟว่าเป็นแบบไหน เพราะว่าหลอดไฟกับขั้วหลอดต้องเป็นชนิดเดียวกัน (ถึงจะใส่ด้วยกันได้) เช่น ถ้าขั้วหลอดเป็นแบบเกลียว (Edison Lamp Base) หรือตระกูล E จะใช้กับหลอดไฟฐานเกลียวอย่างหลอดไส้ (Incandescent) หลอดจำปา (Candle Shape) หรือพวกหลอดตะเกียบ (Compact Fluorescent) โดยขั้วหลอดที่เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปก็คือ E27 และ E14 โดยตัวเลขหมายถึงเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอด มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
แต่ถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) จะมีเขี้ยวยื่นออกมาจากปลายหลอด เพื่อสวมเข้ากับชุดรางที่ใช้งานร่วมกับบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันตามบ้านนั้นก็คือ หลอด T8 หรือหลอดผอมที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง แต่ก็ยังมีหลอดผอมจอมประหยัดหรือที่เรียกว่าหลอด T5 น้องเล็กสุดที่ให้แสงสว่างเทียบเท่ากับหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป แต่กินไฟน้อยกว่า โดยตัว T ย่อมาจาก (Tubular) และตัวเลขตามหลังจะบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางชองหลอด มีหน่วบเป็นหุน
นอกจากนี้ยังมีหลอดไฟที่เน้นการส่องสว่างเฉพาะจุด เพื่อช่วยให้วัตถุอย่างภาพวาด หรือเครื่องประดับดูโดดเด่นยิ่งขึ้น นั่นคือ หลอดฮาโลเจน (Halogen) โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลอดฮาโลเจนแรงดันต่ำ และหลอดฮาโลเจนแรงดันทั่วไป
หลอดฮาโลเจนแรงดันต่ำ จะใช้กับแรงดันไฟฟ้า 12 โวลท์ (Volt) แต่เนื่องจากไฟบ้านเรา มีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลท์ จึงต่อตรงเลยไม่ได้ ต้องต่อผ่านหม้อแปลงเสียก่อน ตัวอย่างหลอดประเภทนี้ก็มีทั้งหลอด G4, GU5.3, MR16 ฯลฯ
ส่วนหลอดฮาโลเจนแรงดันทั่วไป ที่ระบุว่าใช้กับแรงดันไฟฟ้า 220 โวลท์ สามารถต่อตรงได้เลย ไม่ต้องมีหม้อแปลง หลอดประเภทนี้ก็มีทั้งหลอด G9 , GU10 ,GX53 เป็นต้น
2. Warm white, Cool white, Daylight เลือกให้ถูก..ใช้ให้เป็น!
การเลือกซื้อหลอดไฟ นอกจากต้องดูที่ขั้วหลอดให้ชัวร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเช็คให้แน่ใจก่อนซื้อก็คือ เรื่องโทนสีของแสงจากหลอดไฟนั่นเอง เพราะแสงนั้นมีผลกับอารมณ์และประสิทธิภาพในการมองเห็น โดยเฉพาะหลอดไส้ และหลอดประหยัดไฟที่นิยมใช้งานกันตามบ้านพักอาศัย
ทั้งนี้อุณหภูมิสี (Color Temperature) ของแสงจากหลอดไฟมีหน่วยเป็นเคลวิน (Kelvin) โดยอุณหภูมิสีจะบอกเราได้ว่าแสงที่ได้มีความขาวบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าหลอดไฟมีค่าอุณหภูมิสีของแสงน้อย แสงที่ได้จะออกมาในโทนสีเหลือง แต่ถ้าค่าอุณหภูมิสีของแสงสูงขึ้น แสงที่ได้จะออกมาในโทนสีขาวหรือสีขาวอมฟ้า
โดยทั่วไปแสงของหลอดไฟ มีให้เลือก 3 โทนสี ได้แก่
- Warm white จะให้แสงสีแดงอมส้ม หรือขาวอมเหลือง เป็นสีโทนร้อน เหมาะสำหรับการสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นและเป็นกันเอง ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย โดยค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ 2,700 – 3,300 เคลวิน
- Cool white แสงจะเริ่มออกมาทางสีขาว เป็นสีโทนเย็น ดูแล้วสบายตา นิยมใช้กันในร้านค้าต่างๆ อาทิ ร้านขายผักหรือผลไม้ เพื่อช่วยให้สีสันของสินค้าดูสดใสกว่าความเป็นจริง โดยค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ 4,000 – 4,500 เคลวิน
- Daylight ให้แสงสีขาวอมฟ้านิดๆ แต่ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน เราจึงพบเห็นได้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน โดยค่าอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ 6,500 เคลวิน ขึ้นไป
3. ความสว่างและประหยัด..คุณเลือกเองได้!
การเลือกความสว่างของหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น แม้ว่าหลอดไฟที่มีรูปทรงเหมือนกัน อาจให้แสงสว่างที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับค่าความสว่าง ซึ่งมีหน่วยเป็น Lumen (lm) เราสามารถดูค่าความสว่างของหลอดไฟได้จากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีระบุอยู่ข้างกล่อง ยิ่งค่า lumen มาก ความสว่างก็จะมากขึ้นเช่นกัน ส่วนจำนวนวัตต์ (Watt) จะเป็นการบอกถึงกำลังในการกินไฟนั่นเอง เช่น หลอดไส้ขนาด 60 วัตต์ จะให้แสงสว่าง 600 ลูเมน แต่เมื่อเทียบกับหลอดไฟ LED
(Light Emitting Diode) ที่ได้มาตรฐานจะให้ความสว่างเท่ากัน แต่จะกินไฟเพียง 7 วัตต์ เป็นต้น ดังนั้นหลอดไฟจะประหยัดไฟมากน้อยเพียงใด เราคงไม่ได้ดูแค่กำลังวัตต์อย่างเดียว ควรต้องดูควบคู่ไปกับค่าความสว่าง ค่าประสิทธิผล รวมถึงอายุการใช้งานของหลอดไฟด้วยนะครับ
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของหลอดไฟ
เปลี่ยนสีหลอดไฟ บรรยากาศในห้องก็เปลี่ยนไปทันที!
ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้านกันหน่อย
Smart Lighting หลอดไฟ LED สมัยใหม่ทำอะไรได้บ้าง