สวน “อาจารย์ยักษ์” จิตวิญญาณที่พอเพียง

16 ปีของการเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาจารย์ยักษ์

ทำให้ คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่ใครๆ เรียกว่า “ อาจารย์ยักษ์ ” ได้เข้าถึงชีวิตเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่จู่ๆ ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ ละทิ้งตำแหน่งเลขาธิการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการพิเศษฯ มาเริ่มต้นชีวิตทางการเกษตรจากระดับศูนย์ โดยอาศัยแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นตัวอย่างพิสูจน์และสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรได้เห็นว่าการทำกสิกรรมธรรมชาตินี้สามารถอยู่อย่างมั่งคั่งบนแนวทางที่พอเพียงได้จริงๆ

ไม่ได้อยากเป็นชาวนา

อาจารย์ยักษ์

ผมเป็นคนแปดริ้ว เกิดในท้องนา โตในคลอง ชอบป่า ชอบทุ่งนา ชอบเล่นน้ำในคลอง แต่เมื่อก่อนก็ไม่ได้อยากเป็นชาวนานะ อยากเป็นครู พ่อแม่ส่งมาเรียนในเมืองก็หวังให้จบเป็นเจ้าคนนายคน พอเรียนจบรัฐศาสตร์ก็ไปรับราชการ จนได้ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เห็นพระองค์ท่านทรงทุ่มเทพระวรกาย กำลังทุนทรัพย์ และเวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำนาข้าว ปรับปรุงดินและน้ำ ปลูกป่า ปลูกพืชสมุนไพร วิจัยเรื่องพลังงาน และเทคโนโลยีอีกมากมายที่ทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ท่านบอกว่าบรรพบุรุษเรารู้ว่าตรงไหนควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร นั่นคือทำตามฤดูกาล และไม่ได้อยากให้เราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ไม่ได้อยากให้รวยแบบนั้นเพราะมันไม่มีความสุข แต่อยากให้พัฒนาแบบอะลุ่มอล่วย โดยใช้หลักเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง หยุดพึ่งพาชาติตะวันตก แต่หันกลับมาใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยสืบทอดมาเป็นเกษตรยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย

pts161124-014

แต่พูดในฐานะข้าราชการก็ไม่มีชาวบ้านที่ไหนใครเชื่อหรอก เขาเห็นเรามีเงินเดือนอยู่สบาย จะพูดอะไรก็ได้ เขาท้าให้ผมมาพิสูจน์ ถ้าจะสอนคนอื่นสร้างป่าเราก็ต้องสร้างป่าให้ได้ก่อน ก็เลยตัดสินใจลาออก ตอนแรกใช้ที่ดินร้างกว่า 40 ไร่ของพี่ชายมาทดลองทำ เริ่มด้วยการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมจากการปลูกมันสำปะหลังและปลูกอ้อย ทำให้ดินเก็บน้ำได้ แล้วปลูกต้นไม้ใหญ่ก่อนเลยเพื่อสร้างความเป็นป่า ให้ใบไม้ตกลงมาเป็นปุ๋ยทำให้ดินสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง คือ หนึ่งกินได้ สองใช้งานได้ สามสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพื่อจะได้ประโยชน์ 4 อย่างคือ กินได้ ใช้งานได้ อาศัยได้ และให้ความร่มเย็น แล้วค่อยเลี้ยงปลา กบ และไก่ไว้ในป่าที่เราปลูกนั่นแหละ น้อมนำวิธีของพระองค์ท่านไปทำ จนสามารถตั้งที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเพื่อเผยแพร่แนวคิดและเทคโนโลยีชีวภาพให้เกษตรกรที่สนใจ”

บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง

pts161124-004

เริ่มทดลองจากพื้นที่ 3 ไร่ ขยายเป็น 5 ไร่ และกลายเป็นร้อยไร่ โดยเปลี่ยนเล้าหมูให้เป็นห้องเรียนสำหรับอบรมแบบ Active Learning ซึ่งอาจารย์ยักษ์ย้ำถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีจิตวิญญาณ ด้วยการเริ่มจากความเข้าใจและท่องให้ได้เหมือนศีลห้าที่เราคุ้นเคย แล้วจึงแปลงทฤษฎีที่ท่องนี้ไปปฏิบัติด้วยความอดทน ไม่ข้ามขั้นตอน มีคุณธรรมต่อการทำงาน และเมื่อได้ลงมือทำก็จะพบนวัตกรรม ความรู้ และทักษะใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ สุดท้ายคือใช้แนวทางบริหารแบบคนจนที่ไม่ลงทุนมากจนเกินตัว โดยอาจารย์ยังได้แปลงเป็นทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงไว้ว่า

“เราต้องเริ่มจากเศรษฐกิจ 4 พอ เป็นขั้นพื้นฐานก่อน คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น แล้วถึงขึ้นไปขั้นที่ 5 สู่การทำบุญทำทาน กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ ขั้นที่ 6 แม้ไม่ใช่ครูก็แบ่งปันและให้ทานได้ ขั้นที่ 7 ใช้ภูมิปัญญานำสิ่งที่เหลือใช้ไปแปรรูปสำหรับไว้ใช้ยามจำเป็น อย่างป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างก็สามารถแปรรูปเก็บรักษาได้ ขั้นที่ 8 พอรู้จักเก็บได้ก็ไม่ต้องซื้อ เราจึงนำไปค้าขายต่อได้ และสุดท้ายขั้นที่ 9 พอร่ำรวยเราก็บอกต่อเป็นเครือข่ายบุญ ทำเงินไปใช้อย่างสร้างสรรค์ หรือสร้างมูลนิธิเพื่อสอนคนอื่นต่อไปอีก ผมเชื่อว่าทุกอาชีพสามารถแปลงปรัชญาพอเพียงเป็นบันไดขั้นต่างๆ ของการเติบโตไปในแนวทางของตัวเองได้ แม้แต่การปรับไปใช้กับชีวิตในเมืองด้วยรูปแบบสวนแนวตั้งก็เช่นเดียวกัน”

งานที่ทำทุกวัน

pts161124-008
pts161124-042

ปัจจุบันอาจารย์ยักษ์มีงานต้องทำมากมาย ไม่ว่าจะในฐานะประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รวมไปถึงที่ปรึกษาให้อีกหลายองค์กร อาจารย์บอกว่าทำงานทุกวัน โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจและพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน

“ผมอบรมมาเกือบห้าร้อยรุ่น และให้ทุกคนจ่ายค่าปรึกษาโดยการไปบอกต่อ บอกชุมชน โรงเรียน วัด ผมอยากให้ชาวบ้านได้สอนชาวบ้านด้วยกันเอง กะเหรี่ยงสอนกะเหรี่ยง เพราะมันจะได้ผลกว่า ตอนนี้ก็เลยมีศูนย์อบรมต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในค่ายทหารและในกระทรวงศึกษาธิการ และผมก็ฝันอยากให้มีศูนย์ฝึกอยู่ในทุกหมู่บ้าน ถ้ารัฐบาลและเอกชนช่วยกันก็เป็นไปได้ แล้วเมืองไทยจะเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ต่างประเทศจะเข้ามาดูงาน ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์มา 4 ปี ขอเวลาให้ผมสัก 4 วันมาเรียนรู้ที่นี่สิ แล้วจะรู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่แค่ปลดหนี้ แต่ยังมีเงินเหลือใช้เผื่อแผ่แบ่งปันนั้นทำได้ด้วยปรัชญาของพระองค์ท่าน”

สานงานตามรอยพ่อ

pts161124-027
pts161124-038

“ทั้งหมดนี้พระองค์ท่านทรงสอนและให้มาเป็นหลักการ แต่เราต้องมาฝึกทำจนรู้ทักษะ ยิ่งทำยิ่งเพิ่มองค์ความรู้ให้ตัวเอง ที่ผมทึ่งและศรัทธาที่สุดคือพระองค์ท่านไม่เคยทรงทำเพื่อตัวเองเลย แต่ทรงทำเพื่อคนอื่นตลอด หลังพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้ว ผมบอกได้เลยว่างานหนักขึ้น แม้ผมจะเศร้าไม่ต่างจากคนอื่น แต่ก็ต้องพลิกให้เป็นพลัง ดึงจิตมาเกาะกับงานที่รัก เร่งสร้างประโยชน์และความดีตามรอยพ่อ เผยแพร่แนวปรัชญาของพ่อให้คนได้นำไปใช้ ถ้าประเทศไทยผสมระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมได้ การท่องเที่ยวก็ตาม ถึงวันนั้นทั่วโลกก็จะมาศึกษา ล่าสุดที่ภูฏานและแคนาดาก็มาศึกษาเราแล้ว

“ตอนนี้ผมพยายามบุกขึ้นพื้นที่ต้นน้ำ 18 จังหวัดตั้งแต่กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน เลย และอุดรธานี เพื่อฟื้นฟูป่า ผมฝันว่าจะกระจายไปทุกลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องกับเรา ทั้งลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มน้ำโขง แต่ที่ผมทำก็ไม่ได้สำเร็จทุกเรื่องนะ ทำร้อยเรื่องไม่ใช่สำเร็จร้อยเรื่อง แต่ต้องทำไปเรื่อยๆ สำคัญที่ความอดทน ไม่ท้อ และมีความรู้กับคุณธรรม อายุ 63 ปีแล้วผมยังไม่รู้เลยว่าความล้มเหลวคืออะไร เพราะผมไม่ท้อไม่เลิก วันหนึ่งก็ต้องสำเร็จ”

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ 0-3826-3078, 08-1863-9703

 

อ่านต่อ : ครอบครัวที่เริ่มต้นจากความพอเพียง

เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”

ภาพ : สังวาล พระเทพ