บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล กลิ่นอายไทยๆที่วางตัวบ้านในแนวยาว โดยทำระเบียงขนาดใหญ่เกาะไปตามตัวบ้าน เพื่อเปิดมุมมองไปยังวิวธรรมชาติรอบๆที่สวยงามและสงบเงียบ นอกจากนี้ยังยกใต้ถุนสูงเพื่อเติมเต็มความเป็นบ้านสำหรับการพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น
ผมยืนอยู่หน้าบ้านหลังนี้ห่างออกไปเพียงไม่กี่ก้าว และห่างจากสถาปนิกและเจ้าของบ้านเพียงไม่กี่เซนติเมตร ที่ซุ้มประตูคอนกรีต สูง 5 เมตร ประกอบด้วยบานประตูและระแนงด้านบนซึ่งเป็นไม้สัก เป็นจุดแรกที่ทำให้ผมเริ่มรับรู้ได้ว่าเข้ามาสู่ตัวบ้านแล้ว ทางเดินปูหินทรายสีขาวทอดยาวไปยังบันไดหลักของบ้านซึ่งเผยให้เห็นช่องเปิดที่อยู่เหนือบันไดขึ้นไป เมื่ออยู่ภายนอกทางเดินนี้สร้างเส้นนำสายตาที่น่าสนใจ พร้อมชวนเชิญให้เราเดินเข้าไป
บ้านโมเดิร์นทรอปิคั
คุณอภิชาต ศรีอรุณ และคุณพัทธวดี ธีระสุภะเสฎฐ์ สองสถาปนิกผู้ออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรม บอกกับผมว่า “ด้วยที่ตั้งซึ่งรายล้อมด้วยต้นไม้อยู่ในเมืองเชียงใหม่ มีความเป็นธรรมชาติและความสงบอยู่แล้ว มลพิษด้านเสียงและอากาศจึงไม่มีเลย ด้านหลังติดกับพื้นที่ของบ้านก็มีบึงขนาดย่อม ถัดไปก็เป็นต้นไม้เขียวครึ้ม ในวันที่อากาศสดใส สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้จากระเบียงของบ้าน พื้นที่ที่สวยงามย่อมส่งผลถึงการออกแบบเสมอ ในขั้นตอนของการร่างแบบ เรื่องการเปิดมุมมองและการรับลมรับแสงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”
เมื่อบวกกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้หลงเสน่ห์บ้านที่มีผังยาว หรือ “Long House” ที่มีให้เห็นทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยเจ้าของบ้านได้นำบ้านแบบมีผังยาวในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านหลังนี้ “อันดับแรกเจ้าของบ้านบอกกับเราเลยว่าชอบบ้านแบบที่มีผังยาวๆ เราก็กลับมาศึกษาว่าบ้านแบบนี้มีลักษณะเด่นอย่างไร มีอะไรที่เอื้อต่อพื้นที่นี้บ้าง พอลองวางตัวอาคารคร่าวๆก็พบว่าการที่ตัวอาคารมีลักษณะยาวและด้านสกัดไม่กว้างนัก ทำให้เกิดการจัดเรียงห้องที่ต่อเนื่องกันไปตามยาว นอกจากนี้ยังมีระเบียงขนาดใหญ่เกาะไปตามตัวอาคารที่ยาวเรียวไป มุมมองที่ได้จึงเปิดกว้าง และอากาศก็ถ่ายเทได้ดี เพราะไม่มีห้องใดซ้อนทับกัน” คุณอภิชาตบอกกับผมเช่นนั้น
ตามแบบของบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล สถาปนิกใช้การยกใต้ถุนสูงและปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างสำหรับกิจกรรมอเนกประสงค์ที่ชั้นล่าง แต่ในความว่างและโล่งนั้นผู้ออกแบบพยายามสอดแทรกความหมายและการใช้งานเอาไว้อย่างแยบยล การใช้งานที่ว่าอาจไม่ใช่การทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหรือทำเป็นห้องเก็บของไว้ใต้ถุนบ้าน แต่การใช้งานของบ้านหลังนี้เป็นการใช้ที่เติมเต็มความเป็นบ้านสำหรับการพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น “ตั้งแต่ทางเข้าบ้านที่มีซุ้มประตูสูง เราออกแบบให้ต้องเดินผ่านทางเดินทอดยาวที่มุ่งสู่ตัวบ้าน ด้านข้างมีแนวกำแพงสีขาวที่เผยให้เห็นบึงเล็กๆซึ่งอยู่หลังบ้านตามจังหวะการเว้นช่องของกำแพงนี้ เป็นการเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นให้คนได้เดินต่อไปภายในบ้าน”
ผู้ออกแบบยังนำระยะทางและความยาวมาออกแบบรูปด้านและภาพรวมของตัวบ้านด้วย “เพราะตัวบ้านออกแนวยาว จึงต้องคำนึงถึงหลังคาเป็นพิเศษ สัดส่วนของหลังคา ความลาดชัน ระยะยื่นของชายคา มีผลต่อรูปร่างและความสวยงามของบ้านมาก เราเลยแบ่งก้อนหลังคาออกเป็นหลังย่อยๆเพื่อให้ดูไม่หนักและอึดอัด ตอนทำแบบเราก็จะวางแปลนไปพร้อมๆกับการขึ้นรูปด้านรวมไปถึงรูปตัด ปรับเปลี่ยนให้ได้สัดส่วนที่พอใจและสวยงามก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดในแบบจนเป็นอย่างที่เห็นนี้” คุณอภิชาตเน้นย้ำเรื่องสัดส่วนว่ามีผลต่องานสถาปัตยกรรมมาก
คุณพัทธวดีพาผมเดินลัดเลาะไปตามผนังสีขาวที่เว้นช่องว่างอย่างเป็นจังหวะของชั้นล่าง “การเดินภายในบ้านหรืองานสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องที่เราสนใจ เราพยายามออกแบบให้เจ้าของบ้านใช้เวลาในการเดินมากหน่อย เพื่อจะได้รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เป็นอยู่ ค่อยๆก้าวผ่านทางเดินที่หักเลี้ยวตามมุมมองที่ต้องการ เพราะเราอยากให้บ้านเป็นที่ที่ใจของเจ้าของบ้านได้ผ่อนคลาย เราจึงหลีกเลี่ยงการทำทางเดินที่รวบลัดและกระชั้นกับตัวบ้านเกินไป หรือการสร้างบ้านเต็มพื้นที่จนไม่สามารถมีพื้นที่ว่างสำหรับความรู้สึกเลย เราว่าแบบนั้นน่าจะเป็นที่ที่ไม่น่าอยู่นัก”
ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นสองเป็นส่วนของห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องน้ำ รวมถึงห้องพักแขกที่สำรองไว้และแยกส่วนออกมาจากตัวบ้าน มีชานไม้ขนาดใหญ่เชื่อมถึงกันภายใต้ร่มเงาของชายคาที่ยื่นยาว “หากยืนอยู่ที่ห้องรับแขก เราจะเห็นแนวแกนของบ้านหลังนี้ที่จะเปิดทะลุไปถึงห้องนอนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง บ้านยาวๆก็จะสามารถเล่นเรื่องแนวแกนได้ อีกทั้งมีลมพัดผ่านสบาย เพราะไม่มีห้องอื่นๆมาซ้อนทับ”
ระยะทางและความใกล้ไกลมักเข้ามามีส่วนร่วมในทุกช่วงชีวิตของเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระยะทางจากบ้านไปที่ทำงาน ระยะทางจากฉันถึงเธอ ระยะทางจากจุดที่ยืนไปยังวัตถุเป้าหมาย ระยะจากหน้าบ้านถึงห้องนอน หรืออะไรอีกมากมายที่มีช่องว่างและระยะให้เราได้รับรู้ ทว่าเราก็มักมองข้าม “ระหว่างทาง” เหล่านี้และเห็นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของชีวิต แต่สำหรับบ้านหลังนี้ไม่เพียงจะสร้างมาเพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุขและสะดวกสบาย ผมว่า “ระหว่างทาง” ของการมีชีวิตในบ้านก็ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขได้ดีไม่แพ้กันเลยละ
ออกแบบ – ตกแต่งภายใน – ภูมิสถาปัตยกรรม : 639 Architect โดยคุณอภิชาต ศรีอรุณ และคุณพัทธวดี ธีระสุภะเสฎฐ์
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล