99 ไอเดียและเคล็ดลับ ปรับลุคใหม่ให้บ้านน่าอยู่
– TERRACE / BALCONY –
79 หากต้องทาสีกำแพงภายนอก ควรเลือกเฉดสีที่เข้มกว่าที่ต้องการ 1 – 2 เฉดเพราะเรามักเห็นสีภายใต้แสงแดดทำให้ดูสว่างกว่าความเป็นจริง
80 ทาสีที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายในบ้าน เพื่อความต่อเนื่องของสเปซและดึงบรรยากาศเอ๊าต์ดอร์เข้ามาในบ้าน
81 เปลี่ยนลุคระเบียงง่าย ๆ ด้วยพื้นไม้เทียมสำเร็จรูป ควบคู่กับสวนกรวดที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก และไม่เพิ่มน้ำหนักบนโครงสร้างมากนักในกรณีที่เป็นระเบียงคอนโดมิเนียม
82 หญ้าเทียมช่วยเพิ่มสีเขียวสดใสและผิวสัมผัสคล้ายหญ้าจริงได้ง่าย ๆ แต่ต้องระวังเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด และป้องกันไม่ให้น้ำขัง หรือใครจะปรับเปลี่ยนไปใช้ตกแต่งผนังเพื่อสร้างบรรยากาศแทนก็ได้
83 สร้างบรรยากาศเอ๊าต์ดอร์ยามค่ำคืนด้วยแสงสีส้ม (Warm White) อาจติดตั้งโคมไฟ เพื่อแสงสว่างโดยรวม และเพิ่มโคมเทียนเป็นจุด ๆ เพื่อสร้างมิติน่าสนใจให้สเปซ ได้ทั้งความรู้สึกอบอุ่นและโรแมนติกกว่าแสงสีขาว
84 สร้างความน่าสนใจให้มุมสวนเล็ก ๆด้วยการเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบแตกต่างผสมผสานกัน ทั้งใบใหญ่ ใบเล็ก และใบละเอียด ช่วยให้องค์ประกอบของสวนเล็ก ๆ ลงตัวและดูน่าสนใจขึ้น
85 เพิ่มพาร์ทิชันเล็ก ๆ สักมุมที่ระเบียง เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และทำให้ระเบียงมีสเปซใช้งานหลากหลายขึ้น
86 ในมุมระเบียงที่มีร่มรำไร หากปลูกแต่ต้นไม้สีเขียวอย่างเดียวอาจทำให้ดูทึบเกินไปจึงควรปลูกต้นไม้ที่มีดอกสีสันสดใสหรือใบสีอ่อนแซมบ้าง
87 แปลงโฉมคอมเพรสเซอร์แอร์ โดยใช้ตะแกรงเหล็กครอบสั่งทำและติดตั้งง่าย ทั้งยังสามารถออกแบบให้เชื่อมต่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ในตัว
88 เลือกชนิดต้นไม้ตามปริมาณแสงที่ระเบียงได้รับ เช่น ระเบียงรับแดดจัดอาจเลือกปลูกกระบองเพชร ลิ้นมังกร หรือไม้แขวนอย่างเดป โฮย่า พิทูเนีย แต่ถ้าระเบียงอยู่ในจุดที่ร่มชื้นหรือแสงรำไร อาจเลือกปลูกเฟินชนิดต่าง ๆ พรมกำมะหยี่หรือบีโกเนียก็ได้
89 ตกแต่งพื้นที่ระเบียงขนาดเล็กด้วยไม้กระถาง จัดวางให้มีระยะหน้า ระยะกลางและระยะหลังเพื่อให้เกิดมิติตื้นลึก ช่วยให้ระเบียงดูกว้างขึ้น
90 สวนแนวตั้งเป็นคำตอบที่เวิร์คมากสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ถ้าไม่มีเวลาดูแลแผงประตูเหล็กดัดเก๋ ๆ กับต้นไม้เลื้อยดูแลง่าย อย่างองุ่น (ชอบแดดบ่าย) จัสมินด่างและไอวี่ (ชอบแดดเช้ารำไร) ก็สร้างอารมณ์วินเทจได้ง่าย ๆ
91 เพิ่มชั้นวางของแบบโปร่งสำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือวางกระถางต้นไม้ตกแต่ง แต่หากอยู่บนตึกสูงต้องคำนึงถึงแรงลมและฝน โดยการยึดตัวชั้นให้แน่นหนา