ท่อประปา คือหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของบ้าน เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ทำอาหา ล้างจาน หรือรดน้ำต้นไม้ ล้วนต้องใช้น้ำทั้งสิ้น แต่การจะนำน้ำมาใช้นั้นจะต้องมีการวางท่อประปาภายในบ้านเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ดังนั้นการเลือกใช้และติดตั้งท่อประปาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม การเลือกประเภทของท่อประปาให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเลือกท่อประปาที่ทำจากวัสดุที่มีคุณภาพจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น และไม่เกิดความเสียหายขึ้นได้ง่ายๆอีกด้วย สำหรับใครที่กำลังจะสร้างบ้าน หรือวางระบบท่อเราจะมาแนะนำข้อมูลต้นทุนการติดตั้ง และการเลือกใช้ท่อประปาที่ถูกต้องมาฝากกันค่ะ
ต้นทุนค่าท่อประปา
แม้ว่าท่อประปาจะมีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆของบ้าน แต่ต้นทุนค่าท่อประปาสำหรับติดตั้งในบ้านถือว่าถูกมาก เพราะคิดเป็น 1% ของค่าก่อสร้างบ้าน ในกรณีที่ถ้าค่าสร้างบ้านอยู่ที่ 1,000,000 บาท ค่าท่อประปาจะอยู่ประมาณ 10,000 บาท เท่านั้นเอง
การเลือกซื้อท่อ
- เลือกท่อที่มีตราสินค้าและมีตรา มอก.พร้อมตัวเลขบอกขนาดกำกับไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเลือกใช้นั้นได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับการใช้งาน
- เลือกซื้อท่อที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ จะช่วยยืดอายุการใช้งานรวมไปถึงเกิดการเสียหายได้ยาก ควรเลือกใช้ท่อที่ผิวเรียบทั้งด้านนอก และด้านใน จะช่วยทำให้น้ำไหลผ่านสะดวก
- เลือกใช้น้ำยาประสานท่อ ที่มีคุณสมบัติละลายท่อ และข้อต่อใหติดเป็นเนื้อเดียวกัน แทนกาวทาท่อ เพราะจะช่วยป้องกันการรั่วซึมได้ดี
- เลือกข้อต่อกับต่อที่สวมกันได้พอดี และเลือกใช้ยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้
ประเภทของท่อประปา
ท่อประปามี 3 ประเภท แต่ละประเภทนั้นเหมาะกับการใช้งานดังนี้
- ท่อ PVC (ท่อประปาสีฟ้าที่ใช้งานกันทั่วไป) มีความเหนียวและยืดหยุ่น ทนต่อสภาพกรดและด่าง ที่สำคัญปลอดภัยจากสารพิษด้วย ท่อ PVC หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก แถมยังมีข้อต่อรองรับหลายรูปแบบ ช่างประปาทั่วไปชำนาญการติดตั้งท่อประเภทนี้ แต่ไม่เหมาะกับงานภายนอกอาคาร และน้ำที่มีอุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียส
- ท่อ PP-R (Polypropylene Random Copolymer) มี 2 แบบ คือ ท่อ PP-R สำหรับระบบประปาน้ำอุ่น และท่อ PP-R สำหรับน้ำร้อน ท่อประเภทนี้เป็นวัสดุคุณภาพสูงที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย มีคุณสมบัติเป็นฉนวนความร้อนช่วยรักษาอุณหภูมิได้ดี ท่อและข้อต่อเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยวิธีการให้ความร้อนจากเครื่องเชื่อม นิยมใช้กับงานอาคารสูง ราคาไม่แพง สามารถใช้แทนท่อเหล็กได้
- ท่อ CPVC (Chlorinated Polyvinyl Chloride) เป็นท่อสำหรับระบบประปาน้ำร้อนที่นิยมใช้มากในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงประเทศบริเวณตะวันออกกลาง ท่อชนิดนี้ทนความร้อนได้สูง เป็นฉนวนกันความร้อนในตัว ทนทานต่อสารเคมีและการผุกร่อน ติดตั้งง่ายด้วยน้ำยาประสานท่อ จึงหมดกังวลเรื่องการติดตั้งในพื้นที่ๆมีจำกัด เนื่องจากท่อ PP-R และ CPVC เป็นท่อประปาน้ำร้อนที่ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคโดยตรง จึงควารตรวจสอบให้ดีก่อนว่าได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสถาบัน NSF International หรือไม่
การเลือกใช้งานท่อประปา
ท่อประปาใช้สำหรับลำเลียงและจ่ายน้ำ ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อย่างก๊อกน้ำ หรือฝักบัว ปัจจุบันมีท่อประปาที่ได้รับฉลากเขียว ซึ่งเป็นท่อประปาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตจากวัสดุที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน และที่สำคัญปราศจากสารปนเปื้อนอย่างโลหะหนักอีกด้วย
อุปกรณ์สำหรับต่อท่อ
นอกจากท่อประปาแล้ว เรามีอุปกรณ์สำคัญๆที่ใช้สำหรับการต่อท่อด้วย ดังนี้
- น้ำยาประสานท่อ มีขายทั่วไปอยู่ 2 ชนิดคือ ชนิดเข้มข้น และชนิดใส ซึ่งการใช้งานแตกต่างกันไป สำหรับชนิดเข้มข้น ใช้เชื่อมท่อเข้าด้วยกัน ตัวน้ำยามีความหนืดมาก สามารถยึดติดท่อได้อย่างรวดเร็ว และรับแรงดันได้สูงถึง 16 บาร์ เหมาะกับงานคุณภาพสูง เช่น งานอาคารสูงส่วนชนิดใสจะมีความหนืดต่ำ เนื้อใสทำให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับงานบ้านและอาคารทั่วไป
- เทปพันเกลียว ใช้สำหรับพันเกลียวข้อต่อของท่อ เพื่อให้การขันเกลียวมีความหนาแน่นมากขึ้น และกันน้ำไม่ให้รั่วซึมออกมา
- น้ำยาทำความสะอาดท่อพีวีซี ใช้สำหรับทำความสะอาดท่อเมื่อข้อต่อเปื้อนคราบน้ำมันหรือสารหล่อลื่นต่างๆในท่อ ที่เราไม่สามารถใช้มือเข้าไปทำความสะอาดได้
การเลือกท่อประปาให้เหมาะสมกับการใช้งานจะช่วยในเรื่องประหยัดงบประมาณ และหมดปัญหาน้ำรั่วซึม ยิ่งถ้าเลือกวัสดุที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะยิ่งทนทานมีอายุการใช้งานนาน หากใช้ท่อประปาที่ทำจากวัสดุไม่มีคุณภาพจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เช่น ท่อแตก น้ำรั่ว ท่อซึม ฝ้าบวม ฯลฯ แน่นอนว่าเราจะต้องเสียเงินสำหรับการซ่อมแซมมากขึ้น จึงอยากให้คุณเลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยการเลือกใช้วัดุที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าค่ะ
ติดต่อสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ :
ท่อเอสซีจี
บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด
1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กทม. 10800
โทร. 02-586-5328 fax 02-586-2929