ช่างชุ่ย : สู่ขอบฟ้าใหม่ของชุมชนคนสร้างสรรค์

ช่างชุ่ย ช่วงนี้ใครผ่านไปแถวถนนสิรินธร (เยื้องๆโรงพยาบาลหู ตา คอ จมูก) น่าจะเห็นเครื่องบิน Lockheed  รุ่น TriStar ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่รกร้างซึ่งเต็มไปด้วยอาคารรูปทรงแปลกตา อันประกอบด้วยสังกะสี หน้าต่างหลากหลายขนาด และอะไรสักอย่างที่ช่างทำไว้อย่าง “ชุ่ยๆ” แต่จงจับตาเอาไว้ให้มั่น เพราะเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ที่นี่จะทำหน้าที่เป็นอากาศยานจะพาทุกคนพุ่งทะยานไปสู่ขอบฟ้าใหม่ของคำว่า “ชุมชนคนสร้างสรรค์” และกัปตันก็จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก คุณลิ้ม – สมชัย ส่งวัฒนา ซีอีโอและอาร์ตไดเร็กเตอร์แห่งอาณาจักร Flynow  เรามีโอกาสได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปของ “ช่างชุ่ย” ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ลองมาฟังไอเดียการสร้างพื้นที่สุดสร้างสรรค์แห่งนี้พร้อมๆกันครับ

ช่างชุ่ย

จริงๆแล้ว “ช่างชุ่ย” คืออะไร

เรื่องชื่อนี่เป็นประเด็นเลย…ซึ่งนั่นแหละคือความเป็น “ช่างชุ่ย” มันจุดประกายให้คนได้คิดตาม คุณล่ะคิดว่าช่างชุ่ยคืออะไร เห็นไหมว่ามันน่าสนใจแล้ว นี่คือหัวใจของช่างชุ่ย คือการที่คนจะได้จุดประกายความคิด ทั้งด้วยประเด็นที่คิดขึ้นเองจากสิ่งต่างๆ จากแรงบันดาลใจ จากคำถาม หรือจากคนกับคนด้วยกันเอง ที่นี่คือพรมแดนใหม่สำหรับคนหลากรุ่น มันมีความหลากหลาย มีความไม่สมบูรณ์พร้อม ถ้าผมตั้งชื่อว่า “ช่างสมบูรณ์” มันจะเกิดคำถามให้จุดประกายกันเช่นนี้เหรอ และหากมองดูประเทศเรา มันชุ่ยไหม มันชุ่ย…ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี แต่ความชุ่ยๆนี่แหละคือเสน่ห์ความเป็นไทย

วันนี้ประเทศไทยควรมีอะไรที่จะเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ คนที่จะเป็นอนาคตของชาติเรา ซึ่งมันต้องเกิดมาจากเนื้อแท้ของเรานี่แหละ ดูสิว่าชาวต่างชาติเขาปลาบปลื้มอะไรของเรา วัฒนธรรมริมถนน ผัดไท ข้าวสาร จตุจักร แล้วเรากำลังเดินหน้าไปในทิศทางใดกัน จิตวิญญาณที่แท้ของเราคืออะไร จิตวิญญาณของเราคือความเป็นกบฏ เพราะไทยคืออิสระ บังคับไม่ได้ เราจึงเปิดพื้นที่นี้ให้ทุกคนได้มานั่งคุยกัน มาระเบิดปัญญาอย่างไม่มีชนชั้น คนหลากหลายช่วงวัยได้มาซัดกันทางความคิด มาแลกเปลี่ยน มันคือความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่นี่เป็นพื้นที่ของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักศิลปะ นักคิด หรือทำอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าทำสิ่งนั้นอย่างสุดจิตวิญญาณแล้วก็ขอให้ลองมาคุยกัน เราจะยินดีมากถ้าเห็นคนพยายามสร้างโอกาสและไขว่คว้าอนาคตจนสำเร็จ “ช่างชุ่ย” คือพื้นที่แบบนั้น

ทุกวันนี้ทุนนิยมมักถูกต่อว่า ซึ่งเราไม่ปฏิเสธทุนนิยม ผมสร้างพื้นที่นี้ให้มันร่วมกันไป เป็นพื้นที่ที่เริ่มจากคนที่ใช้สมองซีกขวานำซีกซ้าย แต่ก็ต้องพัฒนาสมองซีกซ้ายควบคู่กันไปด้วย เพื่อว่าจะได้ไม่พ่ายแพ้ต่อโลกใบนี้ ถ้าที่อื่นมันเป็นไปไม่ได้ พื้นที่นี้แหละที่จะสร้างความเป็นไปได้นั้นขึ้นมา

ถ้าอย่างนั้นก็พูดได้ว่า “ช่างชุ่ย” คือชุมชนที่ริเริ่มขึ้นมาโดยคุณลิ้ม

ตอนนี้ผมเป็นกำนันแล้วกัน แต่วันหนึ่งก็คงไปอยู่หลังเวทีและให้คนที่นี่ขึ้นมากำหนดเอง จริงๆเริ่มแรกเราวางแผนกันไว้ว่าจะสร้างเป็นสำนักงานของ Flynow ที่ตั้งอยู่กลางสวนป่าบนเนื้อที่ 11 ไร่ ถ้าทำแบบนั้นก็คงเท่ดี ได้อวดออฟฟิศให้ใครต่อใครชมว่านี่ฉันปลูกป่านะ แต่มันก็ยังไม่มีความสุข จนวันหนึ่งเราเดินทางมาเยอะ ได้เห็นโกดังเก่ากลายเป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนรุ่นใหม่ คนที่มีไฟ ก็เอาวะ…เรามาสร้างพื้นที่แห่งอนาคตกันเถอะ ให้มันมีทั้งพื้นที่ศิลปะ ร้านค้าของคนที่ทำอะไรสักอย่างอย่างตั้งใจจริงๆ เป็นตลาดของคนมีฝัน มีโรงละคร มีพิพิธภัณฑ์ เรามาสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและความสร้างสรรค์ไปเลย

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างบนพื้นที่แห่งนี้

ผมเชื่อว่าเรื่องเก่าคือเรื่องใหม่ และเรื่องใหม่ก็คือเรื่องเก่า ที่นี่ลุงป้าจะมาเล่าอดีตให้หลานฟัง และหลานๆจะเล่าอนาคตให้ลุงๆป้าๆได้ฟัง คนหลายๆคนจะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ความเป็นไทยจะได้แลกเปลี่ยนกับความเป็นต่างชาติ แต่มันจะเกิดขึ้นในบรรยากาศสบายๆ เพราะความสบายๆตรงนี้จะสร้างสภาวะที่ตกผลึกทางศิลปะและปัญญาได้ ที่ตรงนี้จะเกิดอุดมการณ์ที่คนมีฝันได้มาลงมือทำ จะแพ้หรือชนะก็จะได้รู้กัน นั่นแหละคือสิ่งที่เรากำลังหว่านเมล็ดลงไปในคำว่า “ช่างชุ่ย”

สรุปว่านิยามของ “ช่างชุ่ย” คืออะไร

อยากให้ลืมคำว่า “สมบูรณ์แบบ” และลองคิดถึงคำว่า “ชุ่ย” บางขั้นตอนของการสร้างงาน เช่น ช่างที่ทำอาคารเหล่านี้ ในตอนที่เขาได้เรียงหน้าต่างทีละบานลงไปนั้น เราก็ดันไปตัดสินว่าเขาทำงาน “ชุ่ย” ไม่ตั้งใจทำงานบ้างล่ะ อู้บ้างล่ะ แต่เมื่อผลสำเร็จออกมาก็เห็นได้ว่า “งาม” นั่นเป็นเพราะขั้นตอนหรือวิธีการบางอย่างมี “ความเฉพาะตัว”  ที่เราหลงลืมไป เราต้องละวาง ปลดปล่อยมัน เปิดใจให้กว้าง และมองมันอย่างอิสระ และนั่นคือสิ่งที่คุณจะได้พบใน “ช่างชุ่ย” แห่งนี้

นี่ก็คือแนวคิดเบื้องหลังของ “ชุมชนคนสร้างสรรค์” ที่น่าจับตาที่สุดในปีนี้เลยก็ว่าได้ เดือนเมษายนนี้คงได้ออกบินทางความคิดไปพร้อมๆกันอย่างแน่นอน แต่ถ้าอดใจไม่ไหวเข้าไปชมรูปสวยๆได้ก่อนทาง “ช่างชุ่ย”

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”, “นิรดา วิทยาเวช”
ภาพ :  สิทธิศักดิ์ น้ำคำ