เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน ผ่านความงามของ บ้านอิฐ หลังนี้

เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน ผ่านความงามของบ้านอิฐหลังนี้

บ้านอิฐ หลังนี้คือตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมที่เล่นกับเรื่องราวของอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ  ไม่ว่าจะในแง่ขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบความเชื่อมโยงของพื้นที่ภายในบ้าน หรือการสอดประสานเรื่องราวผ่านการตกแต่ง

ที่ตั้งของบ้านอยู่ในย่าน Petaling Jaya รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย แม้จะเป็นย่านที่มีบ้านเดี่ยวอยู่เยอะ แต่ก็ไม่ได้มีพื้นที่เหลือเฟือขนาดจะสร้างบ้านที่กินบริเวณกว้างๆได้ Dr.Tan Loke Mun ผู้ออกแบบ ได้รับโจทย์จาก Mr. Kenneth Koh เจ้าของบ้าน ให้รื้อบ้านเดิมออกและสร้างบ้านหลังใหม่ขนาดสูงสามชั้นแทน

บ้านอิฐ

จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือผนังกระเบื้องดินเผาที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ซึ่งแท้จริงแล้วคือหลังคาของบ้านเดิมนั่นเอง “ระหว่างที่รื้อบ้านเดิม เราก็พบว่ากระเบื้องหลังคาชุดนี้เป็นงานฝีมือจากสมัยที่มาเลเซียยังนำเข้ากระเบื้องหลังคาจากกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จึงรื้อเก็บไว้อย่างดี และนำมาใช้เป็นผนังที่สร้างความเป็นส่วนตัว รวมถึงป้องกันความร้อนให้ตัวบ้าน นอกจากนี้ผิวสัมผัสของกระเบื้องดินเผาเก่าก็สร้างความเชื่อมโยงกับวัสดุในบ้านได้เป็นอย่างดีด้วย หากต้องการสิ่งที่จะดูดีไปได้นานๆ และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาด้วย ก็ทำให้เราตัดสินใจเลือกใช้วัสดุดั้งเดิมของบ้าน และเติมเต็มด้วยอิฐมอญ คอนกรีต และเหล็ก”

การออกแบบบ้านหลังนี้เริ่มจากการจัดการพื้นที่ในลักษณะ “กล่อง” มีพื้นผิวภายนอกเป็นผนังกระเบื้องหลังคาดินเผาเดิม โดยติดตั้งบนโครงสร้างเหล็กที่ยึดกระเบื้องทุกแผ่นในแนวตั้ง สามารถเปิด-ปิดการรับแสงได้อย่างอิสระ ชุดโครงสร้างเหล็กนี้ต่อเนื่องจากโครงสร้างหลักของบ้าน ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่“ภายใน” และ “ภายนอก” ที่สอดรับกันอย่างได้จังหวะลงตัว

ผู้ออกแบบเลือกที่จะให้พื้นที่ในแต่ละส่วนของบ้านมีอารมณ์แบบ “ภายนอก” สอดแทรกอยู่ ทั้งการเปิดผนังกระจกรับบรรยากาศของสวน การเลือกใช้ไม้กระถางในร่มที่เชื่อมโยงกับสวนภายนอก และการเปิดพื้นที่ Double Volume ให้สูงโปร่ง เมื่อแสงแดดอ่อนๆสาดเข้ามาในส่วนรับแขก ผนวกกับลมแผ่วๆจากพัดลมเพดาน จึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสวน แม้จะเป็นห้องปรับอากาศก็ตามที

นอกจากการเล่นกับการจัดวางพื้นที่ให้สอดรับกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บ้านหลังนี้ทำได้ดีก็คือการสร้างบรรยากาศที่อยู่เหนือ “กาลเวลา” ด้วยความที่เจ้าของบ้านมีพื้นเพมาจากเมืองมะละกา จึงเลือกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์จีนที่ทำโดยช่างชาวมะละกา ซึ่งมีทั้งงานเก่าสะสมและงานร่วมสมัย โดยเฉพาะภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองนี้ที่อยู่ในความทรงจำของเจ้าของบ้าน เมื่อจัดวางอยู่ท่ามกลางผนังปูนเปลือยและอิฐแดง ก็ช่วยเติมเต็มบรรยากาศของบ้านนี้ให้ดูคล้ายตึกแถวในมะละกา แต่เป็นบริบทที่มีความร่วมสมัยขึ้น

ไม่บ่อยนักที่เราจะพบบ้านในเมืองใหญ่ที่ให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง เป็นธรรมชาติ และเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราว ความลงตัวของการใช้วัสดุเก่าและใหม่ การเลือกใช้พื้นผิวของวัสดุที่ล้อรับกับพื้นเพของเจ้าของบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งไร้กาลเวลาอย่างแท้จริง อย่างน้อยเจ้าของบ้านก็น่าจะส่งมอบความทรงจำของเขาแก่รุ่นต่อไปของครอบครัวได้ผ่านทางบ้านหลังนี้

 

เจ้าของ : Mr. Kenneth Koh

ออกแบบ : DRTAN LM ARCHITECT by Dr.Tan Loke Mun

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

ประสานงาน : Mr.Lesvin Diong