หลงรัก ชา ร้อน - บ้านและสวน

หลงรัก ชา ร้อน

ชา อากาศร้อนๆ แบบนี้ เป็นใครก็ต้องเลือกดื่มชาเย็นหรือกาแฟเย็นแก้วโปรดที่ผ่านการปรุงรสให้หวานเพราะเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นมาได้

แต่ครั้งนี้อยากชวนคุณมาลองสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยการจิบ ชา ร้อนเพื่อคลายร้อน ใช่แล้ว ไม่ผิดค่ะ ชาร้อนช่วยคลายร้อนได้ตามศาสตร์และศิลป์แห่งโลกตะวันออกที่ปรับสมดุลให้ร่างกาย

ชา

ก่อนไปจิบชา ลองมารู้เรื่องประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาสักนิด ถ้าเปรียบเทียบกับตำนานของกาแฟซึ่งเริ่มต้นช่วงศตวรรษที่ 6 แต่ชานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ห้าพันปีก่อนแล้ว ในรูปแบบของยาสำหรับจักรพรรดิจีน จึงถือว่าชาเป็นของสูงส่งและเป็นของขวัญที่แสดงถึงมิตรภาพและความห่วงใยที่ผู้คนอยากจะมอบให้แก่กัน เหล่าศิลปินกับนักปราชญ์ของจีนยังนิยมจิบชาระหว่างสนทนาเรื่องปรัชญาการเมืองการปกครอง รวมไปถึงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจก่อนลงมือทำงานศิลปะ

เพราะชาที่ปลูกดีและหมักได้ดี เห็นเป็นใบชาแห้งๆ ที่ไม่ใช่ชาสำเร็จรูปเป็นผงอยู่ในซองนั้นสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์และระบบภายในร่างกายคนเราได้  ทำให้รู้สึกร้อนได้ เย็นได้ ฟุ้งซ่านได้ หรือสงบลงก็ได้ นั่นเป็นความมหัศจรรย์ของชา ที่คุณธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ Tea Master แห่ง Peace – Oriental Teahouse ร้านชาเทรนด์ใหม่ในซอยสุขุมวิท 49 บอกเล่าให้ฟัง

“ชามีอยู่สามกลุ่ม คือชาไม่หมัก (Non-Fermented Tea) ชากึ่งหมัก (Semi Fermented Tea) และชาหมักแก่ (Fully-Fermented Tea) โดยการหมักเริ่มตั้งแต่ผึ่งชา นวดชา และหยุดปฏิกิริยาของเอนไซม์ ทำให้ได้กลิ่น สี และรสแตกต่างกัน

“ชาที่ไม่หมักแต่ผ่านความร้อน นวด และทำให้แห้งจะมีคาเฟอีนสูงจึงมักนิยมดื่มก่อนบ่ายสาม คือพวกชาเขียวญี่ปุ่นที่ให้สีออกเขียวหรือเขียวอมเหลืองช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ส่วนชากึ่งหมักที่ทั้งผึ่งแดดผึ่งในร่มและนำมาตบนวดเพื่อกระตุ้นการหมัก พวกนี้เป็นชาอู่หลงที่ให้น้ำสีเหลืองอมเขียวหรือน้ำตาลอมเขียวมีกลิ่นหอมและรสชาติฝาดชุ่มคอ มีกรดอ่อนๆ จึงช่วยย่อยอาหารและลดคลอเรสตอรอลได้ คนจีนจึงดื่มชาหมักเพื่อช่วยเรื่องท้องกับลำไส้ ส่วนชาหมักแก่ที่มีคาเฟอีนน้อยสุด เป็นชาแก่ ชาดำ ชาแดงที่ให้น้ำสีน้ำตาลแดง ตัวจุลินทรีย์ที่อยู่ในใบมันกินคาเฟอีนแล้วเปลี่ยนเป็นยา ช่วยระบบเผาผลาญไปจนถึงขับถ่าย ดังนั้นที่ว่าดื่มชาแล้วท้องผูกจึงเป็นความเข้าใจผิด เพราะชาที่ดื่มแล้วท้องผูกคือชาพังที่ไม่เหลือคุณสมบัติของชาอยู่แล้ว”

ใบชาเขียว Gyokuro ที่ผสมซอยยูสุลงไปเพิ่มความเปรี้ยวเล็กน้อย นำมาเสิร์ฟเป็นถ้วยสุดท้ายเพื่อช่วยตัดรสชาติอูมามิที่ได้จากตอนจิบน้ำชาในถ้วยแรกได้