ICA2017 การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่ 6

ICA2017 การประกวด
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่
6 Innovative Craft Award 2017

         เพื่อไม่ให้งานฝีมือช่างพื้นถิ่นสูญหายไป รวมถึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศศป. ซึ่งเป็น Enhancing Navigator หรือผู้ชี้ทาง ได้สร้างโอกาสให้คนทั้งสองกลุ่มได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานหัตถกรรมและแหล่งชุมชนกลุ่มหัตถกรรมหรือช่างฝีมือ ทั้งเก่าและใหม่ โดยนำไปพัฒนาเป็นงานหัตถกรรมในรูปแบบของชิ้นงานศิลปะแนวใหม่

พร้อมกันนี้ ทางศศป. ยังได้จัดโครงการประกวดผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาและชุมชนหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีความร่วมสมัยและโดดเด่นในการผสานเทคนิคดั้งเดิมกับนวัตกรรมใหม่ๆ จาก 9 สายงานหัตถกรรม ได้แก่ เครื่องไม้ เครื่องสาน เครื่องถัก เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องหิน มานำเสนอผลงาน โดยปีนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ “Communi-Craft” หรือชุมชนบันดาลใจ เพื่อเน้นเปิดมุมมองใหม่จากการพัฒนางานร่วมกัน เติมเต็มส่วนที่ขาดหายด้วยทักษะงานออกแบบที่ผสานเข้ากับงานชุมชน ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ที่ช่างฝีมือและช่างในชุมชนมีอยู่ ใส่ใจไปถึงรายละเอียด พร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้ต่างที่ต่างถิ่นส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต ปีนี้มีผลงานเชิงหัตถกรรมที่ผสานด้วยนวัตกรรมและมุมมองใหม่ๆ น่าสนใจทุกชิ้น มีอะไรบ้าง ไปชมกันค่ะ

ประเภทประชาชนทั่วไป
รางวัลชนะเลิศ

ชื่อ เฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ / กวิสรา อนันต์ศฤงคาร

ชื่อผลงาน บัว Bua

แนวคิด บาตรบุเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงถึงคุณค่าของความปราณีตเป็นเอกลักษณ์ของเทคนิคการขึ้นมือ และยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณและแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้นการออกแบบงานชิ้นนี้จึงต้องการดึงคุณค่าของความงามจากการทำบาตรบุมาตีความใหม่ ที่ช่วยอนุรักษ์งานฝีมือดั้งเดิม โดยปรับลดความไม่จำเป็น และสร้างองค์ความรู้เทคนิคใหม่เพิ่มเติม ให้สามารถสอดประสานเข้ากับวิถีของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เรื่องราวและแรงศัทธาถูกบอกเล่าสืบทอดออกไปอย่างสร้างสรรค์

เทคนิค  ใช้การขึ้นรูปบ้านบาตร Hammered bowl /เทคนิคการทำสี /Oxidized metal surfaces , Patina color , Thermochromic color

ชื่อ เกษมสันต์ ยอดสง่า

ชื่อผลงาน จับแสง (capture light)

แนวคิด เป็นการพยายามบันทึกภาพของแสงจากฟ้าที่ถูกสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างในชุมชนเมือง(กรุงเทพมหานคร) บดบังจนก่อให้เกิดรูปร่างเฉพาะตัวขึ้น

เทคนิค งานมุกประยุกต์

ชื่อ ณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย / จารุวรรณคำเมือง

ชื่อผลงาน กระเบื้องฟาง (KRA BURNG FANG)

แนวคิด เป็นแจกันที่สะท้อนให้เห็นความผสมผสานระหว่างรูปทรง Geometric form ของสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่กับงานหัตถกรรมกระดาษฟางข้าว ซึ่งทำจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของชุมชนในชนบท ผ่านการขึ้นรูปโดยประยุกต์ใช้เทคนิคของงานเซรามิค ร่วมกับวัสดุทางอุตสาหกรรมอย่าง แก้ว เซรามิคและไม้ ได้อย่างกลมกลืน

เทคนิค หล่อขึ้นรูปทรง 3มิติ โดยใช้แม่พิมพ์ของงานเซรามิคมาประยุกต์ใช้กับการขึ้นรูปฟางข้าวให้เป็นกระเบื้อง mosaic ผ่านการทำสีดำเฉดต่างๆจากถ่าน

ชื่อ ทรงเผ่า บำเพิง

ชื่อผลงาน ส่องสว่าง Light Up

แนวคิดการนำภูมิปัญญาชุมชนที่ทำผ้าไหมมัดหมี่มาประยุกต์ใช้ ผสมผสานกับเทคนิคของการทอและการปัก เกิดเป็นมิติใหม่ของผ้าท้องถิ่นที่นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะท้องถิ่น กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบร่วมสมัยที่ผสมผสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เทคนิค การทำมัดหมี่ ,การปัก

ชื่อ ผุสดี ศรีอำพันพฤกษ์ ไปรีชา รักซ้อน /สุกัญญา วงษ์เกษร

ชื่อผลงาน กระเบื้องเบญจรงค์ประดับผนังและพื้น

แนวคิด จากบทบาทของเครื่องใช้ภาชนะและเครื่องประดับตกแต่งแบบเบญจรงค์ สร้างแรงบันดาลใจสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วิถีและภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานในเชิงสากลเกิดเป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงสร้างสรรค์ได้อีกหลายแขนงทั้งงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบตกแต่งภายใน และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ งานออกแบบกระเบื้องเบญจรงค์ประดับผนังแลเพื้นชุดนี้ได้ประยุกต์ลวดลายจิตรกรรมฝาผนังของไทยให้เป็นชิ้นงานกระเบื้องที่มีรูปแบบ และลวดลายเป็นเลขาคณิตเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยสามารถพัฒนารูปทรงรวมถึงการวางลวดลายได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นอำนวยให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง

เทคนิค เครื่องเคลือบเบญจรงค์ประยุกต์เขียนสี กดลายนูนต่ำ เขียนลายทอง

ชื่อ พรพรรณ สุทธิประภา / ดวงรัตน์ นฤคุปต์ชาญชัย / พาภัค มิลินทสูต

ชื่อผลงาน กังวาน

แนวคิด นำลายสับปะรดที่เคยเป็นลวดลาย 2 มิติบนภาชนะเล็กๆมาประยุกต์เป็นกระเบื้องนูนสูงและช่องลมสำหรับตกแต่งผนัง หรือพื้นผิวขนาดใหญ่เพื่อเป็นการสะท้อนคุณค่าและสร้างมุมมองใหม่ให้กับลวดลายที่เรียบง่ายแต่งดงามต่อยอดกังวานไปได้ไกลเต็มศักยภาพที่แท้จริงของลายสับปะรด

เทคนิค หล่อน้ำดิน

ชื่อ รัฐชาติ พลแสน / พนิดา พรหมเมตตา

ชื่อผลงาน คืนถิ่น Raturnee

แนวคิด ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของรังนก ซึ่งรังนกเปรียบเสมือนสัญลักษณ์การกลับมาของครอบครัวและถิ่นของตัวเองโดยผลงานชุดคืนถิ่นนี้สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อปลุกใจให้คนที่ทำงานพลัดถิ่นได้กลับมาเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพื่อผลักดันทำให้เกิดอาชีพของคนในชุมชนซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยนำเอาลวดลายของผ้าไหมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่นักออกแบบอาศัยอยู่ถ่ายทอดผ่านเทคนิคกระบวนการจากสานกระติบและการย้อมสีผ้าไหมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

เทคนิค จักสาน การย้อมสีของผ้าไหม

ชื่อ วรภัทร เมืองรวมญาติ

ชื่อผลงาน ปฏิสัมพันธ์

แนวคิด ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทด้านปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากขึ้นส่งผลให้ศิลปหัตถกรรมยิ่งถูกลืมเลือน จึงมีแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคด้วยเทคนิคงานจักสานที่สามารถ ขยำ บิด ยุบ ย่อ เหมือนการปั้นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปทรงของผลิตภัณฑ์ซึ่งนอกจากจะตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้ใช้ แล้วยังเป็นประโยชน์ในการปรับรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยให้เกิดความน่าสนใจในยุคปัจจุบันอีกทางหนึ่งด้วย

เทคนิค การถัก

ชื่อ สาวิน สายมา

ชื่อผลงาน ทีปามาลี TEEPAMALEE

แนวคิด จากภาพจิตรกรรมวนดอกไม้ที่ถูกเรียงร้อยและผสมผสานกันเป็นรูปเครื่องแขวนที่วิจิตรส่องประกายดุจดั่งแสงประทีปทางความคิด ให้นึก และจินตนาการสานต่อได้อย่างวิเศษทำเอานักออกแบบเองได้ฉุกคิดและเห็นถึงความสวยงามของความต่างที่ถูกนำมาร้อยเรียง ตามจังหวะของจินตนาการผสมผสานกันออกมาเป็นความวิจิตรและน่าพิสมัยไม่ต่างอะไรกับวิถีชุมชนที่ทุกๆคนต่างมีความงามที่แตกต่างกันออกไป หากแต่เมื่อใดที่ความต่างถูกนำมาเรียงร้อยด้วยกระบวนการทางศิลปะเข้าด้วยกันก็จะประกอบสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นชุมชนๆหนึ่งนั่นเอง

เทคนิค การจักสานไม้ไผ่ประกอบกับการจารแผ่นทองเป็นลวดลายและพับงอเป็นดอกไม้ การปั้นขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผา ด้วยมือและการเผาแบบรมดำ

ชื่อ เสาวลักษณ์ ก่อศักดิ์วัฒนา

ชื่อผลงาน เชิด Cherd

แนวคิด การเชิดหุ่นกระบอกและการเชิดหนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงมีความเหมือนกันคือการแสดงผลงานที่ทำขึ้นเชิดอยู่กลางอากาศ จากชิ้นงานที่ต่างกันกลุ่มหนึ่ง ทำจากหนังวัวฉลลาย ลงสี อีกกลุ่มจากศิลปะหลายแขนง รวมถึงการปักชุดไทย จึงนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการออกแบบผลงานโดยนำกรองคอใช้สวมบริเวณรอบคอของตัวแสดง มาเป็นรูปทรงหลักแต่ทำจากหนังวัวฉลุลายและปักดิ้นทอง เชิด ลอยอยู่กลางอากาศเหมือนการเชิดหนังตะลุงและการแสดงหุ่นกระบอก

เทคนิค ฉลุลายบนหนังวัว ปักดิ้นทอง

 

ประเภทนักศึกษาระดับอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ

ชื่อ พสิษฐ์ เจริญเผ่า /ศุภวิชญ์ ทองสมบูรณ์ /สุภรตา ทัศคร
ชื่อผลงาน ขด

แนวคิด      การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาการทำไผ่ขดของชาวชุมชนบ้านศรีปันครัว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งโดยปกติเทคนิคการทำไผ่ขดจะใช้ในการขึ้นรูปภาชนะเครื่องเขินของชาวล้านนา เช่น ขันโตก ขันโอ เป็นต้น โดยเก้าอี้ KHOD (ขด) เกิดจากการนำวิธีการทำไผ่ขดที่ใช้ตอกไม้ไผ่ขดรวมกัน       เกิดเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายจากการขด รวมกับการออกแบบเก้าอี้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเก้าอี้เหล็กที่พบเห็นได้ทั่วไป    ให้เกิดเป็นความแปลกใหม่ตามแนวคิด   “Basic Non-basic” ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เทคนิค การขดไม้ไผ่

รางวัลชนะเลิศอันดับ 1

ชื่อ นครินทร์ ตันติศิริวัฒนา
ชื่อผลงาน รวงไม้

แนวคิด ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งไม้ที่ได้จากการนำเศษวัสดุไม้เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมของชุมชน กลุ่มนักออกแบบที่มีความสนใจในงานไม้มาสร้างคุณค่าก่อเกิดเป็นผลงานชิ้นใหม่  โดยการนำเศษไม้มาตัดเป็นชิ้นๆ   แล้วจึงต่อเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบด้วยเทคนิคการเข้าไม้ เกิดเป็นรูปทรงและลวดลายของชิ้นงาน นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดในแง่ของการนำเศษวัสดุจากชุมชนต่างๆมาผสานสร้างสรรค์ผลงานได้อีกด้วย

เทคนิค การเข้าไม้

รางวัลชนะเลิศอันดับ2


ชื่อ กฤตภาส จุนสมพิศศิริ
ชื่อผลงาน โคมเขิน
แนวคิด เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเครื่องรักโดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมของคนในชุมชนด้วยการนำเครื่องเขินมาเล่าในบริบทใหม่โดยนำเอาความสามารถในการขึ้นทรงของงานจักสานไม้ไผ่และความสารพัดประโยชน์ของยางรักมาผสมผสานกันเป็นโคมไฟแต่งบ้านที่มีน้ำหนักเบาร่วมสมัยและแสดงออกถึงเสน่ห์ของงานรัก
เทคนิค จักสานไมไผ่ ,เช็ดรัก

ชื่อ จิรวุฒิเกยูรวิเชียร / น้ำเพชร ถาวรประดิษฐ์ / กฤษณ์ อินทะนุ
ชื่อผลงาน ขัดประสา
แนวคิด ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าขาวม้าไทยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านานแต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไปอาจทำให้คนไทยหลงลืมคุณค่าเราจึงนำผ้าขาวม้า มาผ่านกระบวนการให้ผ้าคงรูปซึ่งเปรียบเสมือนการหยุดให้คนสมัยนี้เห็นและตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าแต่ยังคงเอกลักษณ์ของตัวมันเองผสมผสานปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตของคนในปัจจุบัน
เทคนิค การย้อมไม้ด้วยนำหมึกที่ได้มาจากสารสกัดธรรมชาติและการนำผ้าขาวม้าเข้ากระบวนการให้ความร้อนกับแผ่นพลาสติกให้ผ้าคงรูป

ชื่อ เจนวิทย์ สุวรรณประดิษฐ์ /ศุภกร เจิมจรุง
ชื่อผลงาน สืบสาน
แนวคิด การตั้งรกรากสำหรับการอยู่อาศัยหรือการสร้างชุมชนของมนุษย์นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เรียนรู้ “กสิกรรม” หรือการเพาะปลูก ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถสร้างแหล่งอาหารและควบคุม ห่วงโซ่อาหาร เมื่อพ้นจากปัจจัยเบื้องต้นมนุษย์เริ่มมองหาความงาม กสิกรรมก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวมันได้อย่างดีเยี่ยมด้วยการให้ผลผลิตเป็นไม้ประดับจากอดีตถึงปัจจุบัน สิ่งเรานั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเพียงแต่สภาพแวดล้อมที่มนุษย์อยู่อาศัยนั้นเปลี่ยนไป วิธีการดูแลรักษาต้นไม้จึงต้องเปลี่ยนตาม กระถางต้นไม้ ที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการ “สาน” เพื่อนำไป “สืบ(พันธุ์)” ของพืชโดยออกแบบรูปร่างและโครงสร้างของตัวกระถางให้สามารถปกป้องดูแลต้นพืช
เทคนิค หัตถกรรมงานสาน

ชื่อ ชาคร ขจรไชยกูล
ชื่อผลงาน ชมจันทร์
แนวคิด ชุดเซรามิกที่มีแนวคิดมาจากการชมดวงจันทร์ของชุมชนชาวมุสลิมที่บูเก๊ะปาแร๊ะ จังหวัดยะลาเพื่อเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นเดือนรอมฎอน หรือการถือศีลอดจึงนำลักษณะของดวงจันทร์มาออกแบบชิ้นงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ต่างกันไปในแต่ละช่วง นอกจากนี้ยังใส่แนวคิดของการถือศีลอดลงไปในงานด้วยการทำให้จานรองรับอาหารได้น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการอดและละเว้นนั่นเอง
เทคนิค Press Mold,Clear Glaze,OF1230

ชื่อ ณัฐวิกา บุญอาจ
ชื่อผลงาน สวัสดีชาวไทยภูเขา
แนวคิด ถ่ายทอดภาพความทรงจำที่ประทับใจจากประสบการณ์การเดินทางไปพบเห็น เรียนรู้ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา (เผ่าลั๊วะ / ปกากะญอ จ.เชียงใหม่) โดยนำหัตถกรรมการทอผ้า ปักผ้าของชาวเขามาประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงาน การออกแบบที่ผสมผสานกลิ่นอายระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและความร่วมสมัยเข้าด้วยกัน
เทคนิค การเย็บ ถัก ทอผ้า และปักผ้าแบบสร้างสรรค์

ชื่อ เถลิงรัฐ รักษายศ
ชื่อผลงาน หริก

แนวคิด “จิบน้ำชา ฟังเสียงนก” วิถีชีวิตในยามเช้ากับบทบาทในสังคมระหว่างคน นก และกรงนก เป็นภูมิปัญญางานไม้ท้องถิ่นที่เป็นสื่อกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนสื่อสาร เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจากวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น จึงนำเทคนิคภูมิปัญญากรงนกมาออกแบบโมบายที่ให้เสียงที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับพื้นที่เสมือนนั่งฟังเสียงนกในยามเช้า

เทคนิค เทคนิคงานไม้ ,ภูมิปัญญากรงนกและการฉลุลายกรงนก

ชื่อ นิโลบล ศรีวิรัตน์
ชื่อผลงาน เคาะตอกเพื่อบอกเรื่องราว

แนวคิด จากเทคนิคการดุนลายที่สะท้อนภูมิปัญญา ผ่านเสียงค้อนกระทบโลหะ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานในอดีตที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจ สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างมีคุณค่า ส่วนมากเป็นงานที่จับต้องได้ยากเนื่องจากนิยมดุนลายเพื่อประดับตกแต่งโบราณสถาน เป็นงานที่มองเห็นเป็นสองมิติ ที่มีความตื้นลึกหนาบาง แตกต่างกันไป จึงมีแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์  สำหรับตกแต่งผนังจากงานดุนลาย โดยใช้แรงบันดาลใจจากปิ่นปักผมที่เป็นเอกลักษณ์ของสารเหนือ ที่นิยมปักปิ่นไว้บนผม เพื่อเป็นการบูชาศีรษะ เป็น Wall Art ที่สามารถจัดตกแต่งดอกไม้ลงบนโครงสร้างที่เปรียบเสมือนผม ที่มีความงาม ชดช้อย อ่อนโยน แต่ยังคงรักษาวิธีการและเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างชัดเจน

เทคนิค การดุนลาย

ชื่อ อถิสรา ห่อไพศาล /ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล / ภควัต วิชัยขัทคะ
ชื่อผลงาน นั่งเสื่อ

แนวคิด     จากการได้ไปเรียนรู้ในชุมชนเสื่อกกทอมือมีลักษณะที่เป็นแผ่นแบนต่อกัน  จึงสนใจอยากทำให้เสื่อมีความสามารถในการขึ้นรูปสามมิติได้ด้วยตัวของมันเองและทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความท้าทาย น่าสนใจและแปลกใจเมื่อได้เห็น พร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้ที่สอดคล้องกับอิริยาบทของผู้ใช้งาน

เทคนิค การขึ้นรูปจากการโลหะทอผสมในเสื่อ

ใครอยากสัมผัสงานดีไซน์กลิ่นอายไทยที่มีความร่วมสมัย เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน มาชมผลงานทั้งหมดนี้ได้ที่ ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 23-26 มีนาคมนี้

เรื่อง ภัทรสิริ,ศุภลักษณ์