สบาย ๆ สไตล์อาเซียน

หลายปีที่ผ่านมาทีมงาน “บ้านและสวน” มีโอกาสไปเยือนหลายๆเมืองใหญ่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทุกครั้งที่ออกเดินทาง เราชอบค้นหาความเชื่อมโยงของเมืองเหล่านี้กับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ซึ่งมีทั้งที่ทำให้รู้สึกรักเมืองไทยมากขึ้น และมองเห็นข้อบกพร่องของบ้านเราได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรามองหานั้นไม่ใช่ความศิวิไลซ์แบบเมืองใหญ่ แต่กลับเป็นงานสถาปัตยกรรมจากบ้านหรือพื้นที่เล็กๆในเมืองใหญ่ที่ได้ผ่านตา

และเมื่อเห็นแล้วก็มักยกกล้องขึ้นมาถ่ายเก็บไว้ เราจึงขอสรุปความประทับใจเหล่านั้นมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้สัมผัสถึงความสบายในแบบฉบับบ้านอาเซียนไปด้วยกัน

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบระเบียง

พื้นที่ภายนอกเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภายใน

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบห้องนั่งเล่น ไอเดียแต่งห้องนั่งเล่น

หลายครั้งที่เราไปเยือนบ้านในอาเซียนแล้วพบ “สวนกลางบ้าน” หรือในทางกลับกันก็มักมี “ห้องรับแขกกลางสวน” นั่นเป็นเพราะธรรมชาติคือสิ่งที่เติมเต็มความรู้สึกสบายให้บ้านในภูมิภาคนี้ได้เสมอ ปัจจุบันสถาปนิกหลายคนนิยมออกแบบให้เกิดพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างความเป็นภายในกับภายนอกบ้านได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้กลางบ้าน เพื่อให้เกิดร่มเงาจากแสงธรรมชาติที่สาดส่องลงมาจากเพดาน หรือการเว้นพื้นที่สลับกันระหว่างสวนกับพื้นที่ใช้สอย ให้ทั้งสองส่วนช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน เมื่อเส้นแบ่งระหว่างภายในกับภายนอกเริ่มจางลง ความเป็นไปได้ใหม่ๆของการออกแบบพื้นที่จึงมีมากขึ้น

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล โมเดิร์นทรอปิคัล

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากจนผู้คนเริ่มรับปริมาณข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวันไม่ไหว การได้ปล่อยตัวเองให้อยู่ท่ามกลางความสงบและสบายร่วมกับธรรมชาติบ้างจึงเป็นทางออกที่ดี ซึ่งการออกแบบให้บ้านหลุดพ้นความเป็น “กล่อง” ที่ปิดทึบ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเยียวยาจิตใจที่น่าสนใจ

วัสดุดั้งเดิมที่นำมาใช้ในรูปแบบใหม่

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

ผู้คนในภูมิภาคอาเซียนมีพรสวรรค์ด้านงานฝีมือ แม้แต่วัสดุก่อสร้างที่ใช้กันมาเนิ่นนานก็เกิดจากงานเหล่านี้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหลังคาสาน โครงไม้ไผ่ หรืออิฐมอญ

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

ปัจจุบันนักออกแบบยังนิยมนำวัสดุเชยๆที่อยู่มานับร้อยปีกลับมาใช้ แต่ใช้แนวคิดอันแยบยลช่วยสร้างความน่าสนใจและนำพาให้วัสดุเหล่านี้ข้ามไปสู่ขอบเขตใหม่ๆได้เสมอ เพียงแค่การเรียงผนังอิฐมอญในแต่ละประเทศก็มีรูปแบบหลากหลาย และสร้างความน่าประทับใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงยังชอบใช้วัสดุเดิมๆกัน เท่าที่เราสอบถามนักออกแบบก็มักได้รับตอบว่า “แล้วทำไมจะไม่ใช้ล่ะ ในเมื่อมันยังมีคุณสมบัติที่ดี สวย ช่างทำงานได้ง่าย ที่สำคัญราคาก็ย่อมเยา” ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ภาษาของแสงและเงา

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

แสงแดดนั้นร้อนแรงขนาดไหน คนไทยคงเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยทีเดียว การออกแบบพื้นที่ซึ่งควรจะ “เย็นสบาย” ในบ้านอาเซียนจึงมักสร้างให้อยู่ใน “เงามืด” ด้วยความแตกต่างของแสงและเงานี้เองจึงเกิดเป็นภาษาเฉพาะของพวกเราชาวอาเซียน

การเลือกใช้วัสดุที่สามารถป้องกันแสงแดดได้และปล่อยให้แสงบางส่วนลอดเข้ามา เช่น การเรียงอิฐ หรือการทำระแนงบังแดด เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้บ่อยๆบนผนังอาคารฝั่งทิศใต้ที่โดนแดดทั้งวัน  ชานบ้านที่มีชายคายื่นยาว หรือพื้นที่ใต้ถุนของบ้าน ก็จะทำให้พื้นที่อยู่อาศัย เช่น ห้องนั่งเล่นได้รับร่มเงาที่ดีตลอดทั้งวัน ยิ่งถ้าชานบ้านนั้นหันไปหาสวนสวยๆด้วย จะดูคล้ายกับเป็นฉากภาพยนตร์แบบพานอรามาเลยทีเดียว

สร้างลำดับการเข้าถึงพื้นที่

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

เมื่อเข้าใจเรื่องแสงและเงาแล้ว จึงเกิดวิธีการอยู่กับแดดที่น่าสนใจ บ้านในเขตอาเซียนมักสร้างลำดับของพื้นที่เพื่อเป็นแนวกันชน (Buffer) ของสภาพอากาศภายนอกที่รุนแรง ทั้งแดด ลม และฝน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งมีพื้นที่หน้าอาคารที่เรียกว่า “อาเขต” (Arcade) ไว้สร้างร่มเงาบังแดดที่จะส่องเข้าสู่ตัวอาคาร และสามารถเดินสัญจรได้ในยามฝนตก เกิดเป็นลำดับของพื้นที่ที่ไล่เรียงจากเปลือกอาคาร พื้นที่ระหว่างกลาง และภายในอาคาร

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

บ่อยครั้งที่เราจะเห็นเปลือกอาคารในเขตเขตร้อนชื้นทำหน้าที่ทั้งบังแดดและบังฝนไปในตัว แผงระแนงที่ออกแบบมาให้กรองแสงแดดอันเจิดจ้า ยังมีความโปร่งพอที่ลมจะไหลผ่านเข้าสู่ภายในได้อีกด้วย ซึ่งพื้นที่ระหว่างกลางที่กว้างประมาณ 1 เมตร – 1.50 เมตร จะทำหน้าที่คล้ายแนวกันชน เช่น หากแดดสาดเข้ามา ก็จะเข้าไม่ถึงภายใน หากฝนสาดเข้ามาก็จะเปียกอยู่แค่ตรงทางเดิน นับเป็นการออกแบบพื้นที่อเนกประสงค์เพื่อการรับมือกับสภาพอากาศได้ดีทีเดียว

สถาปัตยกรรมที่หายใจได้

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

สิ่งสำคัญสำหรับสถาปัตยกรรมในแถบอาเซียนก็คือ “การไหลเวียนที่ดีของอากาศ” หรือเรียกง่ายๆว่า “ลม” ก็ได้ ภูมิอากาศแบบทรอปิคัลนั้นมีลมพัดตลอดทั้งวัน น่าเสียดายที่ปัจจุบันบ้านหลายหลังเลือกเปิดเครื่องปรับอากาศแทบการเปิดรับลมธรรมชาติ แต่ก็เข้าใจได้ว่ามลพิษในเมืองน่าจะไม่เหมาะให้เปิดรับลมธรรมชาติ ทว่าบ้านที่เราเคยไปเยือนนั้นมีการเปิดรับลมอย่างดี และการไหลเวียนที่ดีของอากาศก็ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมจนอยากให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้บ้างจริงๆ

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบห้องนอน แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

ขอยกตัวอย่างบ้านที่เราประทับใจ ซึ่งออกแบบโดย Mr. Andra Martin ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย บ้านหลังนี้มีการใช้อิฐที่ออกแบบให้มีช่องหลืบที่บังให้ผู้อยู่อีกฝั่งของผนังไม่สามารถมองเห็นกันได้ แต่โปร่งพอที่ลมจะสามารถทะลุผ่านเข้าสู่ภายในบ้านได้ ทำให้เกิดผลพลอยได้อีกอย่างคือผังของบ้านมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ เพราะ “สถาปัตยกรรมที่หายใจได้” จำเป็นต้องคิดถึงความเชื่อมโยงของพื้นในบ้านตั้งแต่ทางลมเข้า การไหลเวียนของแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงทางลมออก ด้วยเหตุนี้บ้านสวยๆที่เราไปเยือนจะคิดถึงการใช้ธรรมชาติรอบๆบ้านให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ได้สถาปัตยกรรมที่สวยงามและลงตัวมากที่สุด

วัสดุธรรมชาติ + งานฝีมือ

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

จุดเด่นอีกอย่างของบ้านอาเซียนก็คือการเลือกใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้จริง ไม้ไผ่  อิฐ หรือปูนเปลือย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่งานโครงสร้างเท่านั้น ของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงองค์ประกอบในงานตกแต่งภายในที่ทำจากวัสดุเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้บ้านดูอบอุ่นและน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์สไตล์ทรอปิคัล ซึ่งมักทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น อาทิ ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ไผ่ หวาย กก หรือกระจูด แต่มีเทคนิคในการผลิตแตกต่างกันไป ซึ่งในความต่างนั้นก็มีความสวยงามแทรกอยู่

แบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล แบบห้องนอน

นอกจากนี้ของใช้และของตกแต่งบ้านที่มีรายละเอียดของงานหัตถกรรมหรืองานทำมือ ซึ่งแต่ละพื้นถิ่นก็มีสีสัน เทคนิค และกระบวนการผลิตแบบเฉพาะตัว ก็เป็นอีกหนึ่งความพิเศษของบ้านอาเซียนที่ผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

ความประทับใจในกลิ่นอายอาเซียน

บ่อยครั้งที่การเดินทางทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ แต่มากกว่านั้นคือการค้นพบตัวเอง ยิ่งเราค้นหาคำว่า “สถาปัตยกรรมอาเซียน” มากขึ้นเท่าไร ก็กลับมองเห็นความเป็นไปได้ของสถาปัตยกรรมในบ้านเรามากขึ้น การเรียนรู้ความเป็นไทยและอาเซียนผ่านทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และธรรมชาติไปพร้อมกัน อาจมีส่วนทำให้งานออกแบบในวันพรุ่งนี้ตอบสนองการใช้ชีวิตได้ดีและเหมาะสมมากขึ้น

ในฐานะสื่อเรายังคงเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆของภูมิภาคนี้ เพื่อหวังว่าจะได้พบเรื่องราวของงานออกแบบที่น่าประทับใจ และนำมาบอกเล่าให้คุณได้ฟังกันอีก ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ไปเยือนประเทศเวียดนามกันอีกครั้ง รับรองว่ามีบ้านและสถานที่สวยๆที่น่าสนใจมาให้คุณผู้อ่านได้ติดตามชมกันอย่างแน่นอน


เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”, “อัจฉรา จีนคร้าม”
ภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา, คลังภาพบ้านและสวน