เปลี่ยนบ้านเก่าแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นบ้านใหม่ร่วมสมัยอย่างบ้านไม้ริมคลอง
บ้านเก่าริมคลองอายุกว่า 70 ของคุณโอ ธนัตถ์ สิงหสุวิช และ คุณพิม พิม วรรณประภา จากบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ที่ถูกทิ้งเอาไว้เฉยๆ กว่า 20 ปี จึงได้นำมาปรับปรุงเป็นบ้านใหม่แบบ Thai’s Contemporary Modern
ซึ่งยังคงใช้โครงสร้างเดิมของบ้านหลังเก่า รวมไปถึงองค์ประกอบเดิมๆ ของบ้านมาปรับปรุงให้เข้ากับการใช้ชีวิตและสไตล์ที่ทันสมัยขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งขอบอกเลยว่าในขั้นตอนของการปรับปรุงให้เข้ายุคสมัยอย่างไม่ทิ้งกลิ่นอายเดิมๆ นั้นเรียกได้ว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น การ Renovate แบบนี้จะมีหลักคิดอะไรบ้าง วันนี้เราได้สรุปมาเป็นข้อๆให้คุณได้อ่านกันแล้ว
1. รื้อดีไม่มีเสียของ
สำหรับบ้านเก่าอายุเกินกว่า 50 ปี ขึ้นไปนั้น มักจะเป็นบ้านไม้ หรือผสมระหว่างปูนและไม้ หลายๆ ส่วนของบ้านจึงมักกร่อนสลายเสียหายไปตามกาลเวลา การรื้อถอนบ้านเดิมจึงเป็นเรื่องทีต้องทำก่อนขั้นตอนอื่นๆ แต่การรื้อออกโดยไม่ได้วางแผนอาจจะกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายไปได้ เพราะโครงสร้างหรือองค์ประกอบต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างทดแทนหรือซื้อหามาเติมได้ หากรู้จักเลือกใช้ดีๆ การ Renovate จะไม่ใช่เพียงแค่การทำให้บ้านกลับมาใช้งานได้ดี แต่เปรียบเสมือนการชุบชีวิตคุณค่าและความทรงจำให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
2. ผสมผสานองค์ประกอบจากวันวาน
และอย่างที่ได้บอกไปในข้อที่ 1 ถึงการเลือกเก็บเอาองค์ประกอบของบ้านเดิมเอาไว้ แต่การเลือกปรับใช้นั้นไม่จำเป็นต้องคงการใช้งานเดิมๆ ไว้ก็ได้ เช่น ไม้พื้นจากเรือนเดิมอาจกลายเป็นผนังไม้สวยๆ ในบ้านหลัง Renovate หรือจะเป็นชุดหน้าต่างที่นำมาจัดวางใหม่ให้ลงตัว สร้างจังหวะใหม่ๆ จากองค์ประกอบเดิมๆ ให้น่าสนใจขึ้น ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่คนมักนึกไม่ถึง เช่น การลอกสีและการทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ด้วยสีที่อ่อนลงให้แตกต่างไปจากเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มเดิมๆ ที่นิยมในสมัยโบราณ สามารถนำเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าให้ดูร่วมสมัยและเข้ากับการตกแต่งอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างมาก หรือการนำเอาบานหน้าต่างเก่าจากผนังด้านต่างๆ ของบ้านมารวมกันเป็นชุดผนังเดียวก็ทำให้ภาษาของงานสถาปัตยกรรมดูน่าสนใจและลงตัวมากขึ้นกว่าเดิม
3. ปรับพื้นที่เก่าเพื่อการใช้งานใหม่
ในหลายพื้นที่ของบ้านที่เคยมีการใช้งานเดิมอยู่นั้น ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมกับปัจจุบัน เช่น โต๊ะทำงานเดิมของคุณย่า ก็ปรับให้พื้นที่แลดูโปร่งขึ้น ผ่านการกั้นพื้นที่จากพื้นที่รับแขกด้วยชั้นวางของแบบโปร่งที่สามารถมองเห็นกันได้ทั้งสองพื้นที่ เปลี่ยนบานทึบของหน้าต่างให้เป็นบานกระจก รวมทั้งห้องทานข้าวที่แต่เดิมเป็นห้องทำงานและมีพื้นที่ต่อเนื่องยาวออกไปยังชานนอกบ้าน ก็ลดขนาดของห้องลงให้พอดีกับจำนวนสมาชิก จากนั้นจึงกั้นผนังและทิ้งพื้นที่ชายคาให้ต่อเนื่องไปยังชาน ทำให้ห้องทานข้าวมีจังหวะที่อบอุ่นมากยิ่งขึ้น เพราะการ Renovate นั้นไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในวิธีการของบ้านเดิมเสมอไป แต่อยู่ที่วิธีใช้และความเข้าใจในความพอดีเสียมากกว่า
4. เก็บรักษากลิ่นอายของวันวาน
และนี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนบ้านเก่าให้หลายเป็นบ้านใหม่ ความทรงจำที่อบอวลอยู่ในบ้านแต่ละหลังนั้นเป็นคุณค่าที่ควรแก่การตีความและทำความเข้าใจ นักออกแบบที่ดีจะไม่รื้อทำลายกลิ่นอายของความทรงจำเหล่านั้น แต่จะหาวิธีสานต่อเรื่องราวของบ้านแต่ละหลังให้ดำเนินต่อไปผ่านหลากหลายวิธีการ เช่น การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดิมๆ ของบ้านเก่า การสร้างพื้นที่กิจกรรมที่คุ้นเคยจากวันวาน เก็บรักษามุมโปรดของบุคคลในครอบครัวเอาไว้ หรือแม้แต่การประดับภาพครอบครัวตามทางสัญจรในบ้านอย่างโถงบันได สิ่งเล็กๆ อันธรรมดาเหล่านี้ จะกลายเป็นสิ่งมีค่าในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน
และนี่ก็คือตัวอย่างดีๆ ของการเปลี่ยนบ้านเก่าแบบเดิมๆ ให้เป็นบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่าของครอบครัวที่ทิ้งไว้ มรดกจากปู่ย่า หรือแม้แต่บ้านเก่าที่มีให้เลือกหาในแหล่งทรัพย์สินมือสองอย่าง SAM หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด แหล่งรวมบ้าน คอนโดและทรัพย์สินมือสองขนาดใหญ่ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในทำเลดีทั่วประเทศ ลองคลิกเข้าไปที่ www.sam.or.th ดูครับ หากมีข้อสงสัยอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สนใจอย่างไร ก็สามารถติดต่อได้ทาง Call Center 02-686-1888 เช่นกันครับ