จังหวะไทยๆ ของบ้านริมคลองสามเสน
นอกจากสไตล์ที่เด่นชัดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้ก็คือ การวางตัวบ้านอย่างที่เรียกว่า “วางขวาง” กับที่ดิน ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนัก อาจารย์ต้นข้าวอธิบายให้เราฟังว่า “เพราะคุณขจรอยากให้บ้านอยู่ติดกับน้ำ ไหนๆก็อยู่ติดคลอง ถ้าบ้านอยู่ไกลน้ำก็คงน่าเสียดาย และการวางขวางแบบนี้ทำให้บ้านได้รับลมตลอดเวลาจากสนามหญ้าออกไปยังคลอง”
จริงอย่างที่อาจารย์ต้นข้าวว่า บ้านหลังนี้มีลมพัดผ่านแทบจะตลอดเวลา
“จริงๆคือเราต้องการสร้างความรู้สึกที่อยู่ระหว่างภายในกับภายนอก แม้ว่าบ้านจะมีการออกแบบพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีความเป็นทรอปิคัลอยู่ เราออกแบบให้บ้านสามารถเปิดรับอากาศได้อย่างเต็มที่จากระเบียงและบานประตูที่เปิดออกได้หมดทั้งผนัง ขณะเดียวกันระเบียงและบานเปิดก็ทำหน้าที่บังแดดให้อาคารด้วย เกิดเป็นลำดับของพื้นที่จากนอกบ้านที่มีแดดสู่ร่มเงาภายในบ้าน”
แม้ว่าจะเข้าสู่ยามบ่าย บ้านหลังนี้ยังคงร่มรื่นและร่มเย็นด้วยการออกแบบชานบ้านที่มีระเบียงยื่นยาวออกไป สามารถนั่งเล่นได้คล้ายกับ “อาเขต” หรือพื้นที่หน้าอาคารของบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส การออกแบบประตูระเบียงที่เมื่อเปิดออกจนสุดแล้วยังเป็นแผงบังแดดแนวตั้งได้ในตัว ซึ่งก็ประยุกต์มาจาก “บานกระทุ้ง” ของบ้านไทยนั่นเอง การออกแบบเหล่านี้ช่วยสร้าง “ภาวะน่าสบาย” ให้อาคารที่อยู่อาศัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ บ้านในกรุงเทพฯที่พึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่น้อยจึงสามารถเกิดขึ้นได้จริง เพียงแค่อาจต้องคิดเผื่อในเรื่องของทิศทางแดด ลม ฝน และบริบทรอบข้าง
นี่ก็คือบ้านริมคลองขนาดกำลังพอเหมาะที่มีการตกแต่งแบบโมเดิร์ผสมผสานไปกับของเก่า ของสะสม และประตูหน้าต่างจากเรือนไทย จนเกิดเป็นจังหวะไทยๆในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งขอบอกว่าทั้งสวยงามและน่าอยู่จริงๆ
เจ้าของ : คุณขจร ธนะแพสย์ และ Mr. Eugene Kroon
ออกแบบ: Research Studio Panin โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์