The Writer’s Quarters บ้านเข็มทิศชีวิต
ทีมงาน “บ้านและสวน” เคยมีโอกาสไปเยือนบ้านของ คุณอ้อย- ฐิตินาถ ณ พัทลุง ผู้เขียน “เข็มทิศชีวิต” หนังสือที่ว่าด้วยการบริหารความคิด เปิดประตูชีวิตสู่ความสุขผ่านธรรมะและหลักปรัชญาชีวิตกันมาแล้ว และนี่ถือเป็นการพบปะกันอีกครั้ง กับการเปิดประตูบ้านให้เราเข้าไปเรียนรู้โลกใบเล็กแสนสุขของเธอ สไตล์โมเดิร์นคลาสสิก
“ครูอ้อยมองว่าบ้านเป็นงานศิลปะที่เราอยู่กับมันได้ทุกวัน และเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเพื่อเก็บ เพื่ออยู่ หรือเพื่อขายก็ได้เหมือนกัน”
เมื่อชอบซื้อบ้าน ความชื่นชอบหลงใหลในการตกแต่งบ้านจึงมีอยู่มากเช่นกัน คุณอ้อยสนใจศึกษาสไตล์การตกแต่ง ต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับบ้านที่เธอมีอยู่ จนมาถึงคอนโดมิเนียมดูเพล็กซ์ 2 ชั้นที่เธอนึกอยากเปลี่ยนสไตล์ให้แตกต่างจากที่เคยทำมา
“อยากจะเปลี่ยนจากสไตล์โมเดิร์นร่วมสมัยที่เคยทำมา เป็นอะไรที่ฉีกออกไปเลย เลยคิดว่าต้องหานักออกแบบที่กล้าทำไปพร้อมกับเรา ก็ได้มารู้จักกับคุณขวัญจาก Zoulliving”
“เป็นความบังเอิญที่ขวัญไปเข้าเรียนกับครูอ้อยแล้วได้พูดคุยกันค่ะ” คุณขวัญ เกตุศิริ ผู้ออกแบบเล่ายิ้มๆ โดย ขยายความต่ออีกนิดว่า เมื่อคุณอ้อยได้ดูผลงานที่ผ่านมา รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันพอสมควร เธอก็ตัดสินใจให้คุณขวัญเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบทันที คุณอ้อยมีโจทย์ที่ชัดเจนอยู่ 3 ข้อ ได้แก่
“บ้านครูอ้อยต้องมีเดย์เบดขนาดใหญ่ทั่วบ้านเพื่อให้นอนกลิ้ง นอนพักได้ทุกมุม ต้องมีที่เก็บของเยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และผิวสัมผัสของเฟอร์นิเจอร์กับของตกแต่งต่างๆต้องดูนุ่มน่าสัมผัส”
งานแรกที่คุณขวัญลงมือทำก็คือ การวางแปลนห้องใหม่ ด้วยการรวบเอาห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก และห้องรับประทาน อาหารเข้าไว้ด้วยกัน ทำเป็น Big Living Room เพื่อเปิดพื้นที่เชื่อมต่อให้ใช้งานได้ตรงวัตถุประสงค์ เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้าที่คุณขวัญออกแบบให้มีโต๊ะสองตัวขนาบข้าง เพื่อใช้วางของกระจุกกระจิกอย่างพวกกุญแจ แว่นตา จดหมายต่างๆ ซึ่งจากจุดนี้โครงสร้างเดิมเป็นพื้นที่ใต้บันไดก็ทำเป็นห้องเก็บของขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านเป็นที่วางกระเป๋าของแขกที่มาเยี่ยม เช่นเดียวกับห้องครัวที่รื้อผนังเดิมออก เพื่อทำเป็นชั้นเก็บแก้ว จาน ชาม ซึ่งเชื่อมต่อกับส่วนเคาน์เตอร์บริการ ทำให้ห้องครัวและส่วนรับประทานอาหารดูโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น
“โต๊ะกินข้าวมีขนาดยาวเป็นพิเศษ ด้านล่างยังทำเป็นลิ้นชักและที่ใส่ของ เพราะครูอ้อยมักเปลี่ยนมาใช้เป็นโต๊ะประชุมเมื่อมีงานต้องพูดคุยจริงจังค่ะ” ถัดจากส่วนนี้ก็เข้าสู่ส่วนนั่งเล่นพักผ่อนที่ผู้ออกแบบเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ แทนที่จะเป็นชุดโซฟากระจุ๋มกระจิ๋มกระจายตัวกัน “จริงๆ แล้วเมื่อเลือกชิ้นที่ใหญ่จะยิ่งทำให้ห้องดูแกรนด์ ดูโอ่โถงมากขึ้นด้วยซ้ำ เคล็ดลับคือของต้องพอดีกับขนาดห้อง แล้วพยายามดันให้ชิดผนังมากที่สุด จะได้ไม่เหลือสเปซที่ไม่เกิดประโยชน์ค่ะ”
คุณขวัญเล่าต่อว่าบริเวณชั้นล่างทั้งหมดสามารถรับรองแขกเหรื่อเวลามีประชุมหรือปาร์ตี้ได้ไม่ต่ำกว่า 60 คน เพราะมีทั้งที่รับประทานอาหาร ที่นั่งเล่นขนาดใหญ่ เรื่อยไปจนถึงระเบียงรอบห้องที่เมื่อเปิดประตูบานเลื่อนออกก็จะกลายเป็นสเปซเดียวกันทั้งหมด ใช้งานต่อเนื่องได้ไม่ติดขัดเลยแม้แต่น้อย
“ครูอ้อยรู้สึกว่าคุณขวัญเป็นนักออกแบบที่กล้าหาญ คือกล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น ครูอ้อยให้โจทย์เขาไปว่าอยากได้ผิวสัมผัสที่ดูนุ่มนวล คุณขวัญก็นําเสนอ Velvet หรือกํามะหยี่ โดยจะใช้เป็นซอฟต์เฟอร์นิชชิ่งอย่างที่บุโซฟา หมอนอิง และอื่นๆ ครูอ้อยก็ชอบและตื่นเต้นมาก เพราะยังไม่เคยเห็นที่ไหนจะใช้กํามะหยี่เยอะเท่านี้มาก่อน ยิ่งเมื่อห้องเสร็จแล้วก็ยิ่งชอบใจจริงๆค่ะ”
เช่นเดียวกับเรื่องเล็กที่ไม่น้อยอย่างปลั๊กไฟที่หลายคนมองข้าม คุณขวัญก็จัดการออกแบบให้มีปลั๊กไฟพร้อมที่เปิด – ปิดหรือที่เก็บมิดชิด และแต่ละจุดยังใช้งานชาร์ตอุปกรณ์ต่างๆได้ 7 – 8 ชิ้น จึงไม่จําเป็นต้องมีปลั๊กพ่วงให้เกะกะเลยสําหรับชั้นสองคุณอ้อยมีโจทย์พิเศษเพิ่มมาอีกข้อก็คือ “ครูอ้อยอยากให้ราวกันตกมีประโยชน์มากกว่านั้น จึงเสนอไปว่าอยากได้เป็นชั้นวางหนังสือ ครูอ้อยเข้าใจนะคะว่ามันยาก เพราะมันต้องรื้อ ต้องคํานวณน้ำหนักอะไรมากมาย แต่คุณขวัญก็ทําให้ได้ ประทับใจมากๆค่ะ”
ราวกันตกแบบเดิมจึงกลายเป็นทางเดินขนาดย่อมที่ซ่อนตู้บิลท์อินขนานไปกับผนังด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านทําเป็นผนังกระจกเพื่อเปิดรับแสงสว่างและยังทําให้มองเห็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสองชั้นได้ด้วย ในส่วนของห้องนอนใหญ่คุณขวัญใช้โทนสีทองเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนโบถส์ คือสงบเหมาะกับการพักผ่อนเช่นเดียวกับของตกแต่งอื่นๆที่จะมีทั้งโทนสีทอง ของที่เป็นโลหะหรือมีผิวสัมผัสแวววาว ทั้งหมดนี้เพื่อให้ห้องนอนเหมาะแก่การพักผ่อน แต่ก็สื่อถึงความสงบงามและนําความรุ่งโรจน์มาสู่เจ้าของด้วย
ถ้าที่พักอาศัยคือศิลปะที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนขึ้น The Writer’s Quarters แห่งนี้ ก็มีทั้งความสง่างามและความประณีต แต่ก็แฝงไว้ด้วยความสงบนุ่มนวลชวนให้ผ่อนคลายเช่นเดียวกับบุคลิกของ คุณอ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
อ่านต่อ : Bossa Blossom House บ้านแสนรักของคุณลุลา
อ่านต่อ : OLIVE TREE HOUSE – จากตัวตนสู่ตัวบ้านเท่ปนหวานของ ดีเจเอกกี้
เจ้าของ : คุณฐิตินาถ ณ พัทลุง
ออกแบบตกแต่งภายใน : บริษัท Zoulliving จํากัด โดยคุณขวัญ เกตุศิริ