ภาพที่ปรากฏตรงหน้าสร้างความแปลกใจไม่น้อย เมื่อมาถึงที่หมายซึ่งเป็นบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยถึง 300 ตารางเมตรหลังนี้ แต่กลับมองเห็นเพียงสนามหญ้าเรียบๆ สุดขอบสนามมีแนวต้นโกงกางที่แหวกพื้นที่ตรงกลางให้มองเห็นน้ำทะเล ซึ่งมีภาพเกาะแก่งและเส้นขอบฟ้าอยู่ไกลๆ ทำให้จินตนาการไม่ออกว่าหน้าตาของบ้านหลังนี้จะเป็นอย่างไร จากความสงสัยจึงกลายเป็นความตื่นเต้น ไม่นานนักก็ได้พบเจ้าของบ้าน นายแพทย์วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา ซึ่งมาขยายความว่า บ้านหลังนี้สร้างอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนสาธารณะของเกาะพะงัน เมื่อมองจากด้านนอกจึงไม่อาจมองเห็นตัวบ้านได้เลย แม้จะสร้างเป็นบ้านสองชั้นก็ตามที ชานไม้
ลักษณะที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือออกแบบเป็นบ้าน 3 หลังแยกจากกัน โดยมีชานไม้เชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นผืนเดียวกัน ดูคล้ายแนวคิดการสร้างบ้านไทยในอดีต บ้านแต่ละหลังมีต่างกัน ทุกหลังนอกจากจะมีเสากับพื้นซึ่งทำจากไม้กันเกราแล้ว ผนังห้องเกือบทุกด้านเป็นกระจกใสขนาดใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดาน ไม่ว่าจะอยู่มุมใดก็มองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ทั้งสิ้น ส่วนแรกของตัวบ้านที่เข้าถึงได้ก็คือชั้นบนของบ้านหลังใหญ่ที่สุด ซึ่งแบ่งพื้นที่ภายในเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนเตียงนอนอยู่ริมหน้าสุด มองเห็นทะเล ตรงกลางลดระดับพื้นลงไปเป็นส่วนนั่งเล่น ดูโทรทัศน์ และส่วนสุดท้ายเป็นแพนทรี่พร้อมส่วนรับประทานอาหาร ส่วนชั้นล่างมีพื้นที่ใช้สอยเท่าชั้นบน โดยให้ความสำคัญกับแพนทรี่หน้าตาเรียบหรู จัดวางชุดโต๊ะรับประทานอาหารและเก้าอี้ตัวสวย รูปทรงเหมือนงานประติมากรรม ถัดไปเป็นห้องนอนเล็ก 2 ห้องแยกอยู่คนละด้าน ตรงกลางระหว่างทั้งสองห้องเป็นส่วนนั่งเล่น และด้านหน้าของห้องนอนทั้งสองห้องเป็นสระว่ายน้ำยาวขนานกับตัวบ้าน
ส่วนบ้านอีกหลังเป็นห้องนอนเล็ก สร้างขนานกับบ้านหลังใหญ่ แม้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ก็ดูไม่อึดอัด เพราะผนังเป็นกระจกใส และบ้านหลังที่สามอยู่ลึกเข้าไปด้านใน เป็นห้องนอนเล็กที่มีส่วนออกกำลังกายด้วย
แม้รูปทรงของบ้านจะดูเรียบง่าย แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี เพราะต้องสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างและขนส่งมาจากกรุงเทพฯโดยใช้แรงงานคนทั้งหมด ส่วนไม้กันเกราที่เป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน คุณหมอวรวุฒิบอกเล่าด้วยความภูมิใจว่า
“กันเกราเป็นไม้ที่ปลูกกันทั่วไปในสวน (ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ไม้ตำเสา’ หรือ ‘ทำเสา’) หาได้ง่ายบนเกาะพะงัน แต่คนที่นี่เขานิยมทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมมากกว่า เป็นไม้ที่มีสีสวยมาก ผมเห็นแล้วชอบจึงขอซื้อมาสะสมไว้ และนำมาทำเป็นเสากลม ซึ่งชาวบ้านไม่ทำกัน ผมตัดสินใจทำโรงกลึงไม้เอง ซื้อเครื่องมือต่างๆ มาทำ การสร้างบ้านหลังนี้ต้องเป็นคนที่อยู่กับไม้และรักไม้มากๆ ต้องคอยเวลาที่เหมาะสม รอจนไม้แห้งได้ที่พร้อมก่อสร้างเสียก่อน เมื่อสร้างมาได้ระยะหนึ่งไม้หมด ก็ต้องไปตระเวนหาตามสวนจากเกาะอื่นๆ มาเติม”
เรียกว่าเป็นบ้านที่สร้างด้วยใจ มองตรงไหนก็ดูน่าอยู่และมีเรื่องราวดีๆ ให้ได้เล่าต่อ อย่างที่เจ้าของบ้านกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ผมบอกไม่ได้ว่าทำไมต้องไม้ แต่ผมรักไม้กันเกราเหล่านี้มาก ความสวยงามและเป็นธรรมชาติของไม้ช่วยให้บ้านสไตล์โมเดิร์นดูลงตัวและอบอุ่นมากๆ ครับ”
เรื่อง : “Otto Otto”
ภาพ : สังวาล พระเทพ
เจ้าของ : นายแพทย์วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา
สถาปนิก : คุณณัฐพล จิตต์หมวด