หากเอ่ยถึงชื่อ “ ลุลา ” หลายท่านคงรู้จักเธอเป็นอย่างดี ผ่านผลงานเพลงแนวบอสซ่าฟังสบาย หรือจากบทสัมภาษณ์อื่นๆ ผมไม่แปลกใจที่หลายท่านคงจะมีภาพตัวตนของเธอผู้นี้อยู่ในความคิดตามมุมมองของแต่ละคน หากว่าบ้านเป็นเหมือนตัวตนของผู้เป็นเจ้าของซึ่งสะท้อนผ่านมุมต่างๆ ภายในบ้าน บ้านหลังนี้คงสะท้อนตัวตนของ คุณลุลา หรือ คุณตุ๊กตา – กันยารัตน์ ติยะพรไชย ออกมาได้อย่างเปิดเผยทุกแง่มุม ทั้งมุมที่เราเคยรู้จักเธอและในมุมที่จะทำให้เรารู้จักตัวตนของเธอมากยิ่งขึ้น
ผมออกจะประหม่าเล็กน้อยเมื่อยืนอยู่หน้าประตูห้องของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในย่านเอกมัย เพราะผู้ที่อยู่ภายในคือศิลปินชื่อดัง เมื่อประตูบานนั้นเปิดออก คุณลุลาก็ปรากฏตรงหน้า พร้อมเอ่ยคำทักทายอย่างเป็นกันเอง ก่อนพาเราเดินชมบรรยากาศภายในห้องซึ่งเดิมตกแต่งในแบบยุค 1970 มีการกั้นพื้นที่เป็นหลายๆ ห้องตามการใช้งาน หลังคุณลุลาได้ห้องนี้มาก็ทุบผนังห้องที่เคยกั้นไว้เหลือเพียง 2 ส่วน ส่วนแรกคือครัว ส่วนรับแขก – นั่งเล่น และสวนเล็กๆ ริมระเบียง ส่วนที่สองคือห้องนอนและมุมทำงาน การตกแต่งโดยรวมใช้โทนสีขาว ดูสว่าง เข้ากับประตูกระจกโปร่งใสที่รับแสงธรรมชาติเข้ามา ทำให้ห้องดูกว้างขึ้นและไม่ทึบ ตัวฝ้าเพดานและงานระบบเดิมถูกรื้อออกหมดเพื่อเดินระบบใหม่ตามบริเวณใต้แนวคาน ก่อนตีโครงไม้หุ้มต่ำลงมา 10 เซนติเมตรรอบคาน แล้วทาสีตกแต่งให้เกิดเท็กซ์เจอร์ดูคล้ายไม้เก่า ที่สะดุดตาคือผนังข้างประตูเล็กๆที่ก่ออิฐเรียงกันสวยงาม ซึ่งใช้เป็นที่แขวนจักรยานและสิ่งของต่างๆ
“อยากใช้มุมนี้แขวนจักรยานและพวกรองเท้าปีนเขา เพราะชอบกิจกรรมผจญภัย ช่วงที่ไม่มีงานก็จะออกต่างจังหวัด ส่วนมากจะไปกระบี่เพื่อปีนหน้าผา แล้วก็ไปภูเก็ตเพื่อเล่นเซิร์ฟ ช่วงหลังก็จะเล่นพวกกีฬาที่มันเซฟมากขึ้น เช่น ปีนผาจำลอง รู้สึกชอบมากกว่าพวกฟิตเนส อีกอย่างเป็นคนชอบอะไรน่ารักๆ โทนของบ้านส่วนใหญ่จึงเป็นสไตล์แชบบี้ชิก โดยจะเลือกเฟอร์นิเจอร์เก่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นสีขาวหรือสีอ่อนๆเราก็เลยรู้สึกว่าชอบแบบนี้”
คุณลุลาเล่าให้เราฟังขณะพาไปชมยังส่วนต่างๆ ของบ้านในมุมครัวตกแต่งอย่างเรียบง่าย โดยได้สีสันสดใสจากบรรดาถ้วยจานชามเซรามิก รวมไปถึงเครื่องครัวอื่นๆ ซึ่งคุณลุลาเริ่มสะสมจากการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในช่วง 2 – 3 ปี หลังจากที่คิดทำบ้าน ส่วนโต๊ะไม้ตรงกลางสั่งทำพิเศษให้ขนาดพอดีกับพื้นที่ตรงกลางของห้อง เป็นไอส์แลนด์สำหรับเตรียมอาหารและเก็บเครื่องครัวต่างๆ ต่อกับโต๊ะรับประทานอาหารอีกตัว ถัดไปก่อนถึงระเบียงเป็นมุมรับแขกและนั่งพักผ่อนดูโทรทัศน์ ซึ่งรายล้อมด้วยบรรดาของสะสมที่โปรดปราน ตั้งแต่หมวก กระเป๋าหวาย ตุ๊กตาตัวเล็กกระจุกกระจิก รวมถึงมุมเปียโนและเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ด้วย คุณลุลามักใช้นั่งเล่นแต่งเพลงในบางเวลา ทั้งหมดนี้ช่วยเติมความมีชีวิตให้คอนโดมีเนียมแห่งนี้มีความเป็นบ้านที่อบอุ่นยิ่งขึ้น
“สมัยก่อนจะรู้สึกว่าชอบออกนอกบ้านมากกว่า พออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกว่ากลับมาบ้านแล้วมีความสุขใจ เราเลยแต่งบ้านให้เหมือนแนวกระท่อมนิดๆ เพราะรู้สึกว่ามันอบอุ่น บ้านเป็นที่ที่เราอยู่มากที่สุด ใช้ดูทีวีบ้าง เย็บผ้าบ้าง วันไหนครึ้มอกครึ้มใจก็จะทำขนม ทำกับข้าว บางวันมีงานเราก็สามารถทำอยู่หน้าคอมพ์ได้ทั้งวัน บางทีก็ถือโน้ตบุ๊กมานั่งเล่นบนเตียงก็ได้ตามใจเรา”
ข้างประตูกระจกที่เชื่อมไปยังสวนระเบียงมีประตูกระจกอีกบานที่พาาเราเข้าไปสำรวจห้องนอนของเธอ ภายในดูสว่างด้วยหน้าต่างบานใหญ่ที่ยาวไปตลอดแนวผนัง ที่สะดุดตาคงเป็นเตียงนอนสีชมพูอ่อน คลุมด้วยม่านบางๆ ที่ห้อยลงมาจากเพดานด้านบนมีหลอดไฟดวงเล็กประดับรอบๆ รับกับฉากหลังที่เป็นผ้าถักมาคราเม่สีขาวซึ่งใช้คลุมตู้เสื้อผ้า ดูราวกับเตียงของเจ้าหญิงในนิทาน มุมข้างๆ เตียงก็ดูโดดเด่นไม่แพ้กัน เป็นโต๊ะทำงานของคุณลุลา ทั้งงานออกแบบอัลบั้มเพลงในปัจจุบัน วาดภาพ ทำงานศิลปะ และผลงานออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงของใช้ในบ้านจากแบรนด์ธุรกิจส่วนตัวทางออนไลน์ที่ใช้ชื่อ “Lula Home Style” ซึ่งมีที่มาจากความชื่นชอบในงานฝีมือ ประกอบกับชอบค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่แปลกใจเลยที่ผลงานของเธอล้วนแต่มีความน่าสนใจ ดูไม่หยุดนิ่ง
“ล่าสุดเรียนย้อมผ้าคราม เรียนทำเซรามิก เรามีโปรเจ็กต์อยู่ตลอด รู้สึกดีที่มีเพื่อนชอบอะไรเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ตรงนี้ก็จะมีแต่เพื่อนร้องเพลง ดารา หรือพิธีกรอะไรแบบนี้ จริงๆ เราเป็นคนสายวิเวกสันโดษ จะไม่ค่อยไปชุมนุมหรือปาร์ตี้กับใคร นอกจากมีอีเว้นต์พิเศษจริงๆ เลยหาเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันมากกว่า”
ก่อนกลับก็ไม่ลืมขอให้คุณลุลาร้องเพลงและเล่นเปียโนให้เราฟังสดๆ เมื่อเสียงเพลงผสานเข้ากับบรรยากาศของห้อง ความงดงามและไพเราะก็อบอวลไปทั่วทั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงหรือบ้านแสนรักหลังนี้ล้วนสะท้อนตัวตนของเธอออกมาได้อย่างชัดเจน ดูหวาน เรียบง่าย และอบอุ่น ขณะเดียวกันก็มีความ ชัดเจน เท่ สนุกสนาน และเป็นตัวของตัวเอง ผสมรวมกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนท่วงทำนองใหม่ๆที่สร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้เราได้เสมอ ผมไม่รู้ว่าจะนิยามบ้านหลังนี้ว่าอย่างไร รู้เพียงว่าช่างแสนวิเศษเหลือเกินที่ได้มาชม
เจ้าของ : คุณกันยารัตน์ ติยะพรไชย
เรื่อง : “ปัญชัช ชั่งจันทร์”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผู้ช่วยช่างภาพ : บุษกร ควรคิด