การบั่นยอด …เป็นการทำร้ายต้นไม้จริงหรือ

ภาพต้นไม้ถูก บั่นยอด จนกุดตามริมถนนบางสายที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงสร้างความรู้สึกหดหู่แก่ผู้สัญจรผ่านไปมาไม่น้อยและได้กลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดทีเดียว

ซึ่งบางส่วนก็อ้างอิงด้วยว่าทำไมต้นไม้กับเสาไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์หรือเวียดนามถึงอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้อง บั่นยอด จนกุดอย่างบ้านเรา

ผมเองมีโอกาสได้ร่วมฟังงานเสวนาเรื่อง “ต้นไม้กับสายไฟฟ้า จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” โดยมีคุณช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการ เราลองมาฟังคำตอบจากฝั่งวิชาการกันก่อนครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ พัฒนเดช อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการตัดต้นไม้ว่าเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นไม้ไปสัมผัสโดยตรงกับสายไฟฟ้าแรงสูง มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร อันเป็นสาเหตุทำให้ไฟดับ กระแสไฟรั่ว หรือสายไฟเกิดไหม้ จึงต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม ปัจจุบันสายไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯได้เปลี่ยนมาใช้สาย Space Aerial Cabal (SAC หรือ ASC) แบบหุ้มฉนวนสองชั้น ใช้คู่กับตัวล็อกสายไฟซึ่งช่วยลดระยะการแกว่งไปมาทำให้ต้นไม้อยู่ใกล้กับสายไฟได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสายไฟโดยตรง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังได้ยกตัวอย่างเอกสารสารอิงในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาการตัดต้นไม้ที่เจริญเติบโตกีดขวางสายไฟฟ้า และต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการจัดการเพื่อให้ต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกับเสาไฟฟ้าได้อย่างไร้ปัญหา ประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในครั้งนี้คือช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดเสียง และเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเมืองให้สวยงามร่มรื่น จนได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันดูแลรักษา ทำให้งบประมาณรายจ่ายค่อยๆลดลงในที่สุด

สำหรับวิธีการตัดแต่งต้นไม้ให้อยู่ร่วมกับเสาไฟฟ้าได้ ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้ฟังว่า ศาสตร์การตัดแต่งนี้เป็นความรู้ที่เกิดจากศึกษาค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ในต่างประเทศ จนเกิดเป็นวิชารุกขกรรม และนับว่าเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาชนช่วยกันกระตุ้นทำให้มีผู้เข้ามาเรียนรู้วิธีตัดแต่งต้นไม้ใหญ่กันมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ เช่น การไฟฟ้า กรุงเทพมหานคร หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ควรให้บุคลากรมาร่วมอบรมการตัดต้นไม้อย่างถูกวิธี ซึ่งได้แก่ การตัดแบบเบี่ยงทิศ (Directional Pruning) โดยตัดกิ่งหรือลำต้นที่ขวางแนวสายไฟออก เป็นการบังคับให้ต้นไม้เติบโตแบบหลบสายไฟได้

ขณะที่ผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณชีวิน พัฒนคูหะ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษาเขต 3 ภาคเหนือ ก็กล่าวว่าได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องขอบคุณทางเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดนโยบายที่เป็นวาระสำคัญและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันได้จัดตั้งทีมดูแลต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟโดยเฉพาะและจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน และนำไปขยายผลให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน

ด้านผู้แทนจากการไฟฟ้านครหลวง คุณยโสธร สุขประสงค์ ผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวง เขตบางพลี ยอมรับว่าสมัยก่อนมีการใช้สายแบบที่ไม่มีฉนวนหุ้มภายนอก ทำให้เสาไฟกับต้นไม้ต้องมีระยะห่างกันมากพอสมควร แต่ปัจจุบันก็พยายามเลือกหาสายไฟที่ทำให้ระยะห่างของต้นไม้กับสายไฟอยู่ใกล้กันได้มากขึ้น รวมถึงเริ่มนำสายไฟในเขตเมืองลงใต้ดินไปแล้วบางส่วน สำหรับการปฏิบัติงานตัดต้นไม้ก็ใช้วิธีเดียวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นการว่าจ้างผู้รับเหมามาช่วยตัดแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักไม่ค่อยทราบวิธีการตัดหรือดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี จึงอยากได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกรด้วย

สำหรับเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในเมือง คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหาคร กล่าวว่า ในปีหนึ่งๆสามารถตัดแต่งต้นไม้ได้อย่างมาก 2 ครั้ง เว้นในช่วงฤดูหนาวที่จะไม่ทำ มีแค่ดูแลตัดแต่งเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เนื่องจากทางกรุงเทพมหาครมีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากร แต่ก็ยืนยันว่าผู้บริหารของกรุงเทพมหานครและการไฟฟ้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยกรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้ จึงอยากให้ทุกคนร่วมมือกันและช่วยเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

บั่นยอด
Source : BIGTreesProject / เครือข่ายต้นไม้ในเมือง

กลับมาที่หัวเรื่องที่ผมตั้งคำถามไว้ว่า“การบั่นยอด เป็นการทำร้ายต้นไม้จริงหรือ” ผมนำข้อสงสัยนี้ไปสอบถาม ครูต้อ – ธราดล ทันด่วน ครูต้นไม้ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ได้รับคำตอบว่า ต้นไม้เมืองร้อนต่างกับเมืองหนาวตรงที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว

หากความสูงของเรือนยอดและลำต้นไม่สมดุล เมื่อเจอแรงลมก็จะทำให้เกิดการหักหรือฉีกขาดได้ง่าย ฉะนั้นการบั่นยอดต้นไม้บางชนิด ย้ำว่าบางชนิดสามารถทำได้ เพื่อขยายขนาดของลำต้นให้ใหญ่ เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการยืนต้นได้อย่างมั่นคง บวกกับศาสตร์วิชารุกขกรรมการตัดแต่งที่ถูกวิธีก็ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตและมีรูปทรงสวยงามได้ เพราะต้นไม้มีถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกัน นิสัยและความชอบก็ย่อมแตกต่างกัน ต้นไม้อายุน้อยอาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ แต่ต้นไม้ที่อายุมากก็ยากที่จะปรับตัว เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยผู้มีความรู้และความชำนาญด้านนี้มาช่วยกันดูแลร่วมกันทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน เผื่อในวันข้างหน้าบ้านเราอาจกลายเป็นเมืองสีเขียวดั่งเช่นที่ฝันเอาไว้ก็เป็นได้


ดูวิธีตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ที่ถูกต้อง