ปัจจุบันที่อยู่อาศัยกึ่งทีทำงานประเภทโฮมออฟฟิศ ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนเราต้องการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าและประหยัดเวลาในการเดินทางไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานประเภทออฟฟิศนั่งโต๊ะ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสตูดิโอทำงานศิลปะ ต่างต้องพิจารณาเรื่องการจัดการพื้นที่ให้มีความเป็นส่วนตัวและสาธารณะในเวลาเดียวกัน เพราะไม่ได้มีแค่เจ้าของบ้านที่ใช้งานนั่นเอง วันนี้เราจึงขอพูดถึงการสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้านแบบโฮมออฟฟิศ และการสร้างพื้นที่สาธารณะของออฟฟิศให้น่าใช้งานโดยไม่รบกวนที่อยู่อาศัย กับ 9 หลักการที่อยากให้คุณพิจารณาดังนี้ครับ
1. กั้นด้วยผนังบังตาหรือชุดบานประตู
เพิ่มผนังบังตาหรือชุดบานประตูที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วน ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ที่อยู่อาศัย รวมถึงการใช้งานในออฟฟิศซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะก็จะสะดวกมากขึ้น ผนังบังตาอาจเป็นได้ทั้งผนังบานสูงชนระดับเพดานและผนังเตี้ยบังสายตาเฉพาะในระดับเหนือพื้นที่ทำงาน รูปแบบที่ใช้ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นส่วนตัวที่ต้องการ เช่น แผงระแนงไม้ที่ยังเห็นกันได้ในบางมุมมอง หรือใช้วัสดุทึบ เช่น การกั้นผนังเบาหรือกระจกฝ้า เหมาะสำหรับการแบ่งพื้นที่ที่ไม่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากนัก
2. สร้างการรับรู้ที่แตกต่างระหว่างพื้นที่ใช้สอยด้วยระดับพื้น
ยกระดับพื้นที่ส่วนตัวให้สูงขึ้นเล็กน้อย ช่วยสร้างการรับรู้ที่แตกต่างในแง่ของการใช้สอยพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมได้ อาจใช้ร่วมกับผนังบังตาหรือประตูบานเลื่อนสลับ ก็ทำให้การใช้งานพื้นที่ดูลงตัว เป็นการบอกอาณาเขตการใช้งานที่ชัดเจนขึ้น
3. แยกทางเข้า-ออกระหว่างบ้านกับที่ทำงานให้ชัดเจน
หากส่วนออฟฟิศมีบรรยากาศค่อนข้างจอแจ และในส่วนที่พักอาศัยต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น การแยกประตูทางเข้า-ออกของทั้งสองพื้นที่ออกจากกันอย่างชัดเจนจะช่วยควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆของผู้ใช้งานอาคาร เช่น บุคคลภายนอกซึ่งมาติดต่องานจะไม่สามารถเข้าถึงบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวได้
4. แยกชั้น แยกฟังก์ชัน เชื่อมกันด้วยมุมมอง
แยกพื้นที่พักอาศัยออกจากส่วนออฟฟิศโดยใช้ระดับชั้นของอาคารที่แตกต่างกัน เป็นการควบคุมการเข้าถึงของผู้ใช้งานอาคารได้อีกวิธีหนึ่ง ออกแบบผนังระหว่างทั้งสองพื้นที่ให้มีชุดหน้าต่างกระจกสักบานหรือปรับเป็นผนังโล่งพร้อมทำราวกันตก ก็ช่วยเชื่อมโยงมุมมองของทั้งสองพื้นที่เข้าหากันได้
5. ทำทางเข้า-ออกเล็กๆแยกจากทางเข้าหลัก
นอกจากทางเข้าหลักของส่วนที่ทำงานแล้ว บ้านก็ควรมีทางเข้า-ออกแยกต่างหากด้วย อาจทำให้ดูเล็กๆ เป็นส่วนตัว และปลีกตัวจากทางที่มีคนเข้า-ออกเยอะๆ อย่าลืมจัดสวนร่มรื่นระหว่างทางเดินเข้าบ้าน จะช่วยสร้างบรรยากาศได้ดี และต้นไม้ยังเป็นตัวช่วยกรองมลพิษทั้งฝุ่นควันและเสียงรบกวนที่จะเข้ามายังบริเวณบ้านได้ด้วย
6. ผนังทึบช่วยบังสายตาและแบ่งแยกการใช้งานได้ดี
หากไม่สามารถแยกตัวบ้านกับส่วนทำงานออกจากกันได้อย่างชัดเจน การใช้ผนังทึบกั้นระหว่างทั้งสองส่วนนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดีและใช้ได้ผล ความสูงประมาณ 2 – 3 เมตร เจาะช่องบางส่วนเพื่อให้มองผ่านได้บ้าง เท่านี้เราก็จัดสรรพื้นที่ โฮมออฟฟิศ ได้มากขึ้นแล้ว
7. สร้างพื้นที่ส่วนตัวในบ้านให้ชัดเจน
แม้ลักษณะของ โฮมออฟฟิศ จะมีทั้งบ้านและที่ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่เราก็ไม่ควรละเลยบรรยากาศที่น่าอยู่ของบ้าน อาจเว้นพื้นที่สำหรับจัดเป็นมุมเปิดโล่งเพื่อจัดสวน ขุดบ่อ หรือทำระเบียงไว้นั่งพักผ่อนก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องเป็นพื้นที่ส่วนตัวจริงๆ คนภายนอกไม่สามารถเข้ามาใช้งานส่วนนี้ได้
8. เลือกทิศทางและตำแหน่งที่อยู่สบาย
การเลือกทิศทางและตำแหน่งของทั้งส่วนบ้านและออฟฟิศเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยพิจารณาจากช่วงเวลาในการใช้งานเป็นหลัก ส่วนออฟฟิศนั้นใช้งานในช่วงเช้าถึงเย็น ส่วนบ้านก็จะใช้งานในช่วงเย็นเป็นต้นไป ฉะนั้นหากต้องการให้บ้านไม่รับแสงแดดและร้อนเกินไป ตำแหน่งที่เหมาะสมคือทางด้านทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ส่วนออฟฟิศที่อาจต้องการแสงธรรมชาติในการทำงานมากกว่าก็ควรอยู่ในทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เป็นต้น
9. คิดถึงความน่าอยู่ของบ้านและเผื่อการต่อเติมในอนาคต
บ้านเป็นที่ที่ครอบครัวของเราจะต้องใช้อยู่อาศัย สิ่งแรกที่ต้องมีคือความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ในอนาคตสมาชิกในบ้านอาจมีจำนวนมากขึ้น จนต้องต่อเติมขยายพื้นที่บ้าน จึงควรคิดถึงเรื่องนี้ไว้ก่อนด้วย เรื่องงานต่างๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ออฟฟิศจึงอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร แต่บ้านเป็นสิ่งที่ครอบครัวจะอยู่ไปอีกยาวนาน ควรแบ่งแยกสัดส่วนให้ดีก่อนตัดสินใจลงมือทำ
เชื่อว่าหลักการทั้ง 9 ข้อจะช่วยให้ความเป็นบ้านใช้งานร่วมกับพื้นที่ทำงานได้อย่างลงตัว ทั้งพื้นที่ของครอบครัวที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและที่พื้นที่กึ่งสาธารณะของส่วนกลางด้วยครับ!
เรื่องโดย : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์, ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพโดย : คลังภาพบ้านและสวน