สมุนไพร .... คุ้นชื่อแต่ไม่คุ้นหน้า 4 ชนิด ... - บ้านและสวน
สมุนไพร คุ้นชื่อ แต่ไม่คุ้นหน้า

สมุนไพร คุ้นชื่อ แต่ไม่คุ้นหน้า

เฉาก๊วย  เก๊กฮวย หล่อฮังก๊วย และแปะก๊วย … พูดถึงชื่อเหล่านี้แล้วก็พานให้นึกไปถึงเครื่องดื่มดับกระหาย คลายร้อน โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวสุดๆแบบนี้ เราเชื่อว่าคุณคงเคยลองดื่มหรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นพืช สมุนไพร ที่มีสรรพคุณทางยา แต่หลายคนอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตาต้นจริงๆมาก่อน         บ้านและสวน จึงขออาสาพาคุณไปยลโฉมพืชมากประโยชน์เหล่านี้กันค่ะ

สมุนไพร คุ้นชื่อ แต่ไม่คุ้นหน้า

เฉาก๊วย

เฉาก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://www.chekyang.com/

เป็น สมุนไพร วงศ์มินต์ วงศ์เดียวกับสะระแหน่ กะเพรา โหระพา แมงลัก และยี่หร่า เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก ลำต้นกลมเปราะและหักง่ายคล้ายสะระแหน่ กิ่งก้านแผ่กว้างคลุมดินยาวได้ 2-3 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื้อย ก้านใบสีขาวยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวสด ช่วงที่ใบดกจะดูหนาแน่นทำให้น่าชมมาก ดอกเฉาก๊วยมีสีขาว ออกเป็นช่อแบบเชิงลดคล้ายดอกกะเพราตามซอกใบและปลายยอดแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก เวลามีดอกดกและบานพร้อมๆกันจะดูสวยแปลกตามาก ดอกออกได้เรื่อยๆเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง

เฉาก๊วย
เครดิต: https://plant.daleysfruit.com.au/
การปลูกเฉาก๊วย

เฉาก๊วยเป็นไม้ชอบแดดและความชุ่มชื้น ขึ้นได้ในดินทั่วไป ก่อนปลูกจึงควรผสมกาบมะพร้าวแห้งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พร้อมใส่แกลบดำลงไปอย่างละ 1 ส่วน เพื่อให้อุ้มน้ำและมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา เหมาะจะปลูกทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและลงกระถางปากกว้างตั้งไว้ตามหัวเสาหรือรั้วหน้าบ้าน ควรบำรุงต้นด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก โดยให้ 10 วันต่อครั้ง  จะทำให้ต้นเจริญเติบโตเร็ว หากปลูกเป็นจำนวนมากอาจนำทั้งต้นไปตากแห้ง แล้วขายให้คนซื้อไปต้มทำน้ำเฉาก๊วย ก็เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ปลูกเฉาก๊วย สมุนไพร
เครดิต: https://www.alibaba.com/showroom/chinensis-mesona.html
ประโยชน์ของเฉาก๊วย
เครดิต: https://en.wikipedia.org/wiki/Platostoma_palustre
ประโยชน์ของเฉาก๊วย

แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน ร้อนใน ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ลดอาการตับอักเสบ ลดอาการไขข้ออักเสบ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้หากนำต้นเฉาก๊วยไปต้มให้เดือด แล้วนำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มเป็นประจำ จะช่วยลดอาการของโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้ด้วย


เก๊กฮวย

เก๊กฮวย สมุนไพร
เครดิต: http://biodiversitycyprus.blogspot.com/2016/03/glebionis-coronaria-var-coronaria-cyprus.html
เก๊กฮวย สมุนไพร
เครดิต: http://www.coolgarden.me/chrysanthemums-planting-care-1448/

ดอกเก๊กฮวยหรือจวี๋ฮัวมีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์หลักที่ใช้เป็นยาคือสีขาว ส่วนสายพันธุ์ดอกสีเหลืองจะใช้แตกต่างจากพันธุ์สีขาวเล็กน้อย นอกนั้นก็เป็นพันธุ์เก๊กฮวยป่า ต้นเก๊กฮวยดอกสีขาว สูง 60-150 เซนติเมตร การเก็บดอกเป็นยาจะเก็บเมื่อเข้าสู่ปลายฤดูใบไม้ร่วงและช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้ชนิดนี้บาน โดยนำมาตากในที่ร่มจนแห้ง คุณสมบัติประจำตัวของเก๊กฮวยคือมีกลิ่นฉุน ขม และรสหวาน ช่วยขับไล่ลม ช่วยขจัดความร้อนหรือไฟออกจากตับ อันจะมีผลช่วยในการรักษาโรคทางตา และขจัดสารพิษออกจากร่างกาย

ประโยชน์ของเก๊กฮวย เก๊กฮวย สมุนไพร
เครดิต: http://sukkaphap-d.com/
ประโยชน์ของเก๊กฮวย    
แก้หวัด แก้ร้อนใน แก้อาการตาเจ็บ ตาบวม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 5-9 กรัม นำไปต้มหรือชงเป็นชาสำหรับดื่ม

หล่อฮังก๊วย

หล่อฮั่งก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://www.chemicalbook.com/SupplyInfo_96609.htm

หล่อฮังก๊วยเป็นพืชในวงศ์แตง ถือเป็นพืชสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง ผลของหล่อฮังก๊วยมีลักษณะกลมเหมือนไข่เป็ด         มีเปลือกแข็งล้อมรอบเนื้อผลไม้แต่มีความเปราะ ในช่วงที่ยังไม่สุกผลจะมีสีเขียวและเข้มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นสีเขียวเข้มแกมดำ และผลจะรีลง แพทย์แผนจีนจะนำผลหล่อฮังก๊วยไปตากแห้งหรือลนไฟจนแห้ง เมื่อทดลองลองเคาะผลแล้วมีเสียงกังวาน ก็ถือว่าใช้ได้ สามารถนำไปต้มหรือผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเป็นเครื่องดื่มแก้ร้อนในได้

หล่อฮั่งก๊วย สมุนไพร
http://www.zevia.com/blog/monk-fruit-rundown/
ลูกหล่อฮั่งก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://sukkaphap-d.com/
ประโยชน์ของหล่อฮั่งก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://www.aliexpress.com/
ประโยชน์ของหล่อฮังก๊วย
  • หล่อฮังก๊วยมีฤทธิ์เย็น ให้รสหวาน เนื่องจากมีสารโมโกรไซด์ (Mogrosides) ที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 250 เท่า แต่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น จึงปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • สารโมโกรไซด์ในหล่อฮังก๊วยสามารถยับยั้งการเจริญของเนื้องอก และเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  • แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
  • รักษาโรคไอกรน หอบหืด และหลอดลมอักเสบ

แปะก๊วย

แปะก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://balconygardenweb.com/growing-ginkgo-biloba-tree-ginkgo-biloba-tree-care-and-how-to-grow-it/

ต้นแปะก๊วยมีกิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ก็มีการกระจายพันธุ์ไปยังทวีปอเมริกาและยุโรปด้วย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน ริมถนน หรือปลูกเพี่อกินเนื้อในของเมล็ด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร ทุกส่วนไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขาห่างๆ เปลือกสีเทา ต้นแก่เปลือกสีนํ้าตาลอมเหลือง

ใบแปะก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://landscapeplants.oregonstate.edu/plants/ginkgo-biloba

ใบแปะก๊วยจะออกมาจากปลายกิ่งสั้น ปลายใบเว้าตรงกลาง มีรอยเว้าตื้น ๆหลายแห่ง หรือเป็นคลื่น โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบเรียงถี่ ๆ เป็นรูปพัด ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ก่อนผลัดใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบเรียวยาว ดอกแปะก๊วยเป็นดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ออกที่ปลายกิ่งสั้น บริเวณเดียวกับที่เกิดใบ ดอกเพศผู้แต่ละกิ่งจะออกประมาณ 4-6 ช่อ ลักษณะช่อแทงห้อยลง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูติดที่ปลายก้านเกสรมี 2 ลอน ดอกเพศเมียออกกิ่งละ 2-3 ดอก ดอกมีก้านยาว ที่ปลายก้านมีไข่ 2 เมล็ด ไข่ไม่มีรังไข่หุ้ม แต่มักเจริญเติบโตเพียงเมล็ดเดียว ผลค่อนข้างกลมหรือรี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เป็นผลชนิดมีเนื้อนุ่ม แต่เมล็ดแข็ง เมื่อสุกจะมีสีเหลือง ผิวมีนวล และกลิ่นค่อนข้างเหม็น ส่วนเมล็ดเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ เปลือกแข็ง สีออกเหลืองนวล เนื้อภายในเมล็ดเมื่อทำให้สุกใช้เป็นอาหารได้ทั้งคาวและหวาน

 

ผลแปะก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://www.michigangardener.com/website-extra-janets-journal/
ผลแปะก๊วย สมุนไพร
เครดิต: http://www.seriouseats.com/2010/10/the-nasty-bits-gingko-nuts.html

ประโยชน์ของแปะก๊วย สมุนไพร

ประโยชน์ของแปะก๊วย

แปะก๊วยมีสรรพคุณทางยาหลายประการ อาทิ สารสกัดจากใบช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต เมล็ดต้องขจัดสารพิษออกไปก่อนจึงจะรับประทานได้ ใช้เป็นยาฝาดสมาน ระงับประสาท ขับเสมหะ แก้ไอ หืดหอบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด ขับพยาธิ ลดไข้ และสารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะต่อเชื้อวัณโรค เปลือกเมล็ดมีฤทธิ์กัดทำลาย เมื่อสัมผัสจะทำให้ผิวหนังอักเสบ จึงมีผู้นำไปใช้เป็นยาฆ่าแมลงด้วย


เรื่อง Bundaree D.

 ทำความรู้จักกับสมุนไพรอื่นๆ คลิก