บ้านเพื่อสุขภาพ บ้านที่ดีต่อสุขภาพควรมีภาวะน่าสบาย อยู่แล้วมีความสุขกายสบายอารมณ์ เปรียบเหมือนอาหารสุขภาพที่รับประทานแล้วช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การออกแบบบ้านที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับการรับรู้ทางร่างกายและจิตใจเท่าๆกับเรื่องความสวยงาม เช่น การออกแบบแสงสว่างภายในไม่ให้มืดหรือจ้าจนเกินไป หรือการออกแบบผนังสองชั้นเพื่อลดเสียงรบกวนจากการจราจรบนท้องถนน รวมถึงวัสดุตกแต่งที่ทำความสะอาดง่าย ไม่เก็บฝุ่น เพื่อให้บ้านเป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ดีไซน์ไอเดียฉบับนี้ นำเสนอ 10 ไอเดียผ่านประสาทรับรู้พื้นฐานที่จะช่วยให้บ้านสวยน่าอยู่และเป็น “บ้านอยู่สบาย” ที่สุด
1. ตาเมื่อย…ล้า
สำหรับพื้นที่ในบ้านที่ต้องใช้สายตาจ้องมองนานๆ เช่น ส่วนดูทีวี ส่วนทำงาน หรือพื้นที่พักผ่อน ควรคำนึงถึงเรื่องแสงสว่างให้ทั่วถึงและเพียงพอ ช่วยให้ตาไม่เมื่อยล้าหรือหลีกเลี่ยงแสงจากภายนอกที่อาจส่องย้อนเข้าสู่ดวงตา สร้างความรำคาญ หากไม่สบายตามากอาจส่งผลให้เป็นไมเกรนได้ ดังนั้นควรออกแบบให้ผนังด้านหลังทีวีหรือคอมพิวเตอร์เป็นผนังทึบที่ไม่มีแสงส่องผ่านโดยตรง หลีกเลี่ยงผนังด้านที่แสงเข้าได้ เช่น หน้าต่าง ผนังกระจก หากจำเป็นควรติดม่านเพิ่มเติม นอกจากนี้อาจเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่เฉพาะจุดเพื่อให้แสงที่ดูนวลสบายตา
2. สว่างตา
พื้นที่ทางเดิน โถงกลางบ้านหรือห้องน้ำควรได้รับแสงจากธรรมชาติอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้บริเวณนั้นสว่างทั่วโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แถมความร้อนที่ได้จากแสงธรรมชาติยังช่วยลดกลิ่นอับในห้องได้อีกทาง โดยอาจออกแบบหลังคาให้มีสกายไลต์กลางบ้าน หรือใช้ผนังกระจกใสบานใหญ่ รวมถึงการเลือกใช้บานเกล็ดหรือบล็อกแก้วแทนผนังทึบ
3. สีสบายตา
การเลือกใช้สีเยอะหรือสีสดใสภายในบ้านอาจช่วยให้บ้านดูสดชื่นไม่น่าเบื่อ แต่ถ้าต้องการบรรยากาศที่ผ่อนคลายสบายตา ควรเลือกใช้โทนสีอ่อน พาสเทล หรือเอิร์ธโทน ซึ่งเหมาะกับห้องที่ต้องใช้เวลาอยู่นานๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ก่อนอื่นควรมองหาสีที่ชอบเพื่อกำหนดเป็นโทนสีหลักของผนังและพื้นจะช่วยให้เห็นภาพรวม จากนั้นจึงค่อยเลือกโทนสีของเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งให้กลมกลืนในโทนสีเดียวกัน นอกจากนี้ก็ควรใช้สีทาภายในที่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย เช่น สีน้ำอะคริลิก หรือสีฟอกอากาศที่สามารถดักจับมลพิษในอากาศ ช่วยให้อากาศภายในบ้านสดชื่น น่าอยู่ และดีต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัย
4. เหงาหู
บ้านที่เงียบเกินไปแม้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็อาจทำให้การอยู่อาศัยไม่สบายเท่าที่ควร เช่น บ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ อาจเกิดเสียงก้องสะท้อนจากผนังไปมาจนเกิดความรำคาญ การตกแต่งด้วยวัสดุที่มีส่วนผสมของผ้า เช่น เฟอร์นิเจอร์บุผ้า ผ้าม่าน หรือวัสดุดูดซับเสียง จะช่วยให้ปัญหาของเสียงก้องหายไปได้ นอกจากนี้ยังมีวัสดุน่าสนใจ เช่น วอลล์เปเปอร์คอลเล็กชั่น EcoArt แบรนด์ HYTEX จาก Goodrich ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการดูดซับเสียงได้ด้วย
5. ดัง…กำลังสบายหู
องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าเสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลถือว่าเป็นอันตรายต่อหู บ้านที่อยู่ติดถนนใหญ่ หรือในแนวทางขึ้น-ลงของเครื่องบินอาจประสบปัญหานี้ ดังนั้นการออกแบบให้มีผนังบ้านที่หนากว่าปกติ หรือการก่อผนังสองชั้นอาจช่วยกันเสียงจากภายนอกเข้าสู่ภายในได้ รวมถึงการกรุฉนวน แผ่นดูดซับเสียง หรือแม้แต่ผ้าม่านก็ช่วยกันเสียงจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้านได้ด้วยเช่นกัน
หน้า 1 2