9 ไอเดีย ลดความร้อนให้กับบ้าน

              ลดความร้อนให้กับบ้าน

 อากาศร้อนขึ้นทุกวัน จนบางครั้งเครื่องปรับอากาศก็ยังเอาไม่อยู่ ซึ่งอาจพานให้อารมณ์เสียหงุดหงิดใส่คนข้างๆ สร้างบรรยากาศมาคุภายในบ้านไปกันใหญ่

คอลัมน์ “ดีไซน์ไอเดีย” ฉบับนี้ ชวนคุณผู้อ่านมาหาวิธีอยู่ร่วมกับอากาศร้อนๆได้อย่างเป็นสุขด้วย 9 ไอเดียที่ช่วยให้เราอยู่ในบ้านแบบเย็นสบายทั้งกายและใจกันค่ะ  ลดความร้อนให้กับบ้าน 

ลดความร้อนให้บ้าน

1. หลังคาขาวๆ

สถานที่: บ้านคุณรชพร ชูช่วย
สถานที่ : บ้านคุณกุลกนิษฐ์ ทังสุนันทน์
         ความร้อนภายในบ้านนั้นจะส่งผ่านมาทางหลังคามากที่สุด การเลือกใช้หลังคาสีขาวหรือสีอ่อนจะช่วยให้บ้านเย็นลงได้ เพราะมีผลวิจัยว่าหลังคาสีขาวช่วยสะท้อนความร้อนได้มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ สีครีม 65 เปอร์เซ็นต์  สีฟ้าอ่อน 50 เปอร์เซ็นต์ สีแดง 26 เปอร์เซ็นต์ และสีเทา 25 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิภายในบ้านเราก็จะเย็นลง 5 -10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้รูปแบบของหลังคาก็มีผลต่อการสะท้อนแสงเช่นกัน หลังคาเรียบแบนหรือหลังคาเพิงหมาแหงนจะช่วยสะท้อนความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศได้โดยตรง ทั้งยังไม่รบกวนสายตาและสะท้อนความร้อนสู่บ้านข้างเคียงอีกด้วย
ลดความร้อนให้กับบ้าน
house-idea-02-021
2. เพิ่มเป็นสองชั้น
สถานที่ : บ้านคุณพีรยา บุนนาค และคุณปีเตอร์ ซี
               ผนังด้านทิศตะวันตกหรือใต้ที่ได้รับแสงแดดและความร้อนเต็มๆในช่วงกลางวันควรทำผนังหนาสองชั้น โดยใช้วัสดุที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผนังก่ออิฐฉาบปูน ผนังก่ออิฐมวลเบา หรือผนังเบาอย่างแผ่นยิปซั่มหรือสมาร์ทบอร์ด อย่าลืมเว้นพื้นที่ตรงกลางสำหรับการระบายอากาศหรือจะติดฉนวนกันความร้อนอีกชั้นก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแทรกซึมเข้าสู่ภายในบ้านได้ง่ายๆ
 house-idea-02-042
3. สีเย็น…สบายตัว
สถานที่: บ้านคุณพานิช แก้วประสิทธิ์ และคุณพนม บุญวาณิชการ
       ผนังภายในบ้านควรเลือกใช้โทนสีอ่อนหรือโทนสีพาสเทล เช่น ฟ้าอ่อน เขียวมินต์ เพราะโทนสีเหล่านี้มีผลต่ออารมณ์ของผู้อยู่อาศัย ช่วยให้รู้สึกเย็นตา ผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังกระจายแสงได้ดีกว่าสีเข้ม จึงไม่เก็บสะสมความร้อนไว้นาน
house-idea-02-031
4. พัดลมติดเพดาน 
สถานที่ : บ้านคุณชัชชา สุขศรีวงศ์
       นอกจากการเปิดหน้าต่างให้ลมได้ระบายเข้า-ออกแล้ว การติดพัดลมบนเพดานยังช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของอากาศภายในบ้านได้อีกทางหนึ่ง โดยเลือกติดตั้งเหนือพื้นที่ที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น ส่วนรับแขก ส่วนนั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหาร ก็จะช่วยให้เหงื่อระบายได้เร็วขึ้น ไม่ร้อนอับ
 house-idea-02-061
5. ยิ่งนั่งยิ่งเย็น
สถานที่ : บ้าน Mrs. Li, Tai-Hsien and Mr. Li, Chung-Jen
สถานที่ : บ้านคุณมนพันธ์ มัลลิกะมาส และคุณบิน กิจขจรพงษ์
       โซฟาหรือเก้าอี้ที่ต้องสัมผัสตัวผู้ใช้งาน หากไม่ใช่หนังแท้ ก็แนะนำให้หาตั่งไม้หรือเก้าอี้หวายจะดีกว่า เพราะโซฟาบุผ้านวมนุ่มๆ ยิ่งนั่งจะยิ่งร้อน บางครั้งก็มีกลิ่นเหม็นอับจากการดูดซับเหงื่อ แถมยังเก็บฝุ่นอีกด้วย
house-idea-02-052
6. เท้าเย็น…กายก็เย็น 
สถานที่: บ้านครอบครัวศรีชวาลา
สถานที่: บ้าน Mr. Fung Kai Jin
      พื้นชั้นล่างเลือกปูแผ่นกระเบื้องเซรามิก พอร์ซเลน ดินเผา หรือหินธรรมชาติอย่างหินอ่อนและหินแกรนิตดีกว่า เพราะกักเก็บความเย็นจากพื้นดินได้ดี และระบายความร้อนได้เร็ว ช่วยลดอุณหภูมิพื้นให้เย็นลงได้ เมื่อเท้าสัมผัสจะรู้สึกเย็นสบาย แนะนำให้ใช้กับส่วนทางเดินหลัก ส่วนนั่งเล่น หรือห้องนอน อย่ากลัวว่าจะให้ความรู้สึกเหมือนห้องน้ำ เพราะเดี๋ยวนี้มีกระเบื้องลายสวยน่าใช้ให้เลือกมากมาย
 Design-Idea-75
7. เลิกหลอดไส้
สถานที่ : บ้านดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี
      ใครยังใช้หลอดไส้กับโคมไฟ แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอด T5 หรือหลอดแอลอีดีจะดีกว่า เพราะนอกจากหลอดไส้จะให้ปริมาณแสงสว่างน้อยกว่าแล้ว ยังปล่อยความร้อนออกมามากถึง 100 – 400 องศาเซลเซียส รับรองว่าเปลี่ยนแล้วจะช่วยประหยัดเงินและลดความร้อนภายในบ้านด้วย อย่างตอนนี้ประเทศแคนาดาก็ประกาศเลิกจำหน่ายหลอดไส้แล้วนะ
house-idea-02-071
8. กันแดดไม่ให้เข้า
สถานที่: บ้านคุณขวัญกมล – คุณวัชระ สุทธิวนา
      อีกวิธีที่ช่วยให้บ้านไม่ร้อนคือป้องกันแสงแดดเข้าสู่บ้านโดยตรง หน้าต่างบานใหญ่ด้านทิศตะวันตกและใต้ควรติดฟิล์มกันความร้อนและติดตั้งผ้าม่านกันแสง (Blackout) เพิ่ม เพื่อช่วยกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านในช่วงกลางวัน หน้าต่างบานเล็กหรืออยู่ทิศอื่นอาจใช้ผ้าม่านสองชั้น ชั้นหนึ่งเป็นผ้าโปร่ง อีกชั้นเป็นผ้าม่านทึบ ก็ช่วยกรองแสงเข้าบ้านในช่วงกลางวันได้
 house-idea-02-081
9. ยื่นกันสาด
สถานที่ : บ้านคุณไพศาล – คุณรจนา ธงชัยธนาวุฒิ
       ป้องกันความร้อนเข้าสู่บ้านโดยตรงด้วยการติดตั้งกันสาดในบริเวณที่โดนแสงแดดเต็มๆ เลือกติดได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน และแนวผสม แล้วแต่ทิศทางของแสง เช่น ผนังด้านทิศใต้ควรติดตั้งแบบผสม ทิศตะวันออกและตะวันตกควรติดตั้งกันสาดในแนวตั้ง โดยเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อนอย่างไม้ระแนง กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ และหลังคาโลหะรีดลอน บริเวณโดยรอบก็ปลูกต้นไม้ หรือใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินกรวดแทนพื้นคอนกรีต ก็ยิ่งช่วยระบายความร้อนได้เร็วยิ่งขึ้น ลดความร้อนให้กับบ้าน 

รนภา นิตย์
คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room