ในตอนแรกภาพรวมของ บ้านทาวน์เฮ้าส์ หลังนี้ก็ไม่ต่างจากทาวน์เฮ้าส์ทั่วไป ด้วยหน้ากว้าง 5 เมตร ลึก 18 เมตร เมื่อตัดพื้นที่จอดรถด้านหน้ากับที่ว่างด้านหลังบ้านออกแล้ว ภายในบ้านก็ดูจะเหลือพื้นที่ไม่มากนัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณวิทย์ อ่องแสวงชัย เจ้าของบ้าน สถาปนิก และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปลี่ยนความคับแคบนั้นให้กลายเป็นบ้านที่น่าอยู่ได้อย่างน่าทึ่ง
เขาเล่าถึงการปรับปรุง บ้านทาวน์เฮ้าส์ หลังนี้ให้ฟังว่า “สิ่งแรกที่ทำกับ บ้านทาวน์เฮ้าส์ หลังนี้คือทุบผนังเดิมของชั้นล่างออก ผมเปิดพื้นที่ส่วนหน้ากับหลังบ้านให้ต่อเนื่องกัน ส่วนหน้าบ้านทำเป็นส่วนนั่งเล่นไม่ใช่ห้องรับแขก เพราะการรับแขกมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนหรือคนคุ้นเคยกันทั้งนั้น ส่วนหลังที่ลดระดับลงไปทำเป็นครัว เนื่องจากภรรยาผมชอบทำเบเกอรี่”
ชั้นล่างกำหนดให้เป็นพื้นที่ใช้งานหลักของบ้าน การออกแบบจึงค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องเกี่ยวข้องกับงานระบบหลักของบ้านเกือบทั้งหมด ทั้งท่อน้ำ ไฟฟ้า ถังบำบัด และการเดินท่อสำหรับป้องกันปลวก เจ้าของบ้านจึงต้องลงรายละเอียดมากหน่อย โดยทุกส่วนได้รับการเก็บซ่อนอย่างมิดชิดภายในผนังเรียบ ขณะเดียวกันก็เข้าไปซ่อมบำรุงได้สะดวก
สำหรับการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านก็เน้นความเรียบง่าย มีเท่าที่จำเป็นต่อการใช้สอย รวมถึงเลือกใช้สีให้น้อยที่สุด ทำให้ภายในบ้านดูกว้างและน่าสบาย
“ผมจะทำทุกอย่างในชั้นล่างให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อแก้ปัญหาต่างๆได้แล้ว จึงค่อยทำชั้นบนซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ยากแล้ว ส่วนใหญ่ชั้นบนๆจะเป็นห้องนอนซึ่งเป็นพื้นที่บังคับอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก ยกเว้นห้องนอนใหญ่ที่ทำตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอินคลอเซตต่อกับห้องน้ำ แล้วก็ต่อเติมระเบียงหน้าห้องออกมาอีกหน่อย ส่วนชั้นบนสุดใช้เป็นห้องทำงานของผมเอง
“ผมลงรายละเอียดกับบ้านเยอะมาก ทำอย่างไรก็ได้ให้ภายในดูกว้าง กำหนดพื้นที่ใช้สอยให้ครบเหมือนกับอยู่ในบ้านเดี่ยว ตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆนี่บ้านดูเหมือนบ้านสไตล์มินิมัลมาก จริงๆผมไม่ได้ต้องการให้บ้านเรียบถึงขนาดนั้น แต่อยากให้บ้านมีการใช้งานที่ยืดหยุ่น เต็มไปด้วยประโยชน์สอย และอยู่สบายที่สุดครับ”
ไอเดียปรับปรุงบ้านให้อยู่สบายของอาจารย์ณวิทย์ อ่องแสวงชัย
อาจารย์ณวิทย์รับหน้าที่เป็นทั้งสถาปนิก ผู้ตกแต่งภายใน และผู้รับเหมาสำหรับบ้านของตัวเอง เขามีเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการปรับปรุงบ้านที่น่าสนใจมาฝากดังนี้ครับ
“การที่ผมทุบผนังออกตอนเริ่มงานแต่งบ้านก็เพื่อจะได้เห็นว่าพื้นที่ภายในจะเป็นอย่างไร ได้เห็นส่วนบกพร่องของงานระบบเดิมที่เขาทำไว้ เราจะได้แก้ไขปรับปรุงให้ดีที่สุด เพราะหากอยู่ไปแล้วมาแก้ไขทีหลังก็จะเป็นเรื่องยาก
“ภายในบ้านจะดูเรียบร้อย เพราะผมออกแบบตู้เก็บของให้กลมกลืนจนดูเหมือนเป็นผนัง ผมว่าตู้เก็บของมีความสำคัญกับบ้านมาก คิดดูว่าทุกครั้งเวลากลับบ้านเราจะมีของติดไม้ติดมือกลับมาด้วย หากมีตู้เก็บของไม่มากพอ บ้านก็จะไม่น่าดู อีกอย่างบ้านผมไม่ค่อยมีฝุ่นเลย การเก็บของในตู้ช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นได้ เราเองก็ทำความสะอาดบ้านได้ง่าย เพราะไม่มีของวางเกะกะ ไอเดียนี้ผมซึมซับมาจากการไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
“การทำตู้เก็บของแบบบิลท์อินต้องป้องกันปัญหาเรื่องปลวกด้วย นอกจากการเดินท่อสำหรับอัดน้ำยาแล้ว ไม้ที่ทำตู้ทุกชิ้นต้องลงน้ำยากันปลวกด้วยเช่นกัน
“ผมใช้สีภายในน้อยมาก ใช้สีขาวกับสีไม้ธรรมชาติเท่านั้น เพราะใช้งานได้นานไม่มีตกยุค สีขาวยังทำให้บ้านดูโล่งและให้ความรู้สึกสบายอีกด้วย”
เรื่องโดย : Atta Otto
ภาพโดย : สังวาล พระเทพ, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ