“บ้านสไตล์โปรตุกีสหลังนี้อาจเป็นบ้านเก่าในเมืองกอลล์เพียงไม่กี่หลังที่มีสวนขนาดใหญ่ และยังเป็นบ้านที่รอดพ้นจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สินามิ เมื่อเดือน ธันวาคม 2547”
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนไลท์เฮ้าส์ ถนนสายหลักของเมืองกอลล์ แม้จะดูเป็นถนนสายแคบๆ แต่ก็เป็นถนนที่กว้างที่สุดในเมืองนี้ ทั้งบ้านและถนนมีอายุกว่าสองร้อยปี ปลูกสร้างในสไตล์โปรตุกีส แต่สภาพบ้านในปัจจุบันผ่านการซ่อมบำรุงมาเรียบร้อยแล้ว คุณคอลิน เดวีส์ เจ้าของบ้านชาวออสเตรเลียเริ่มเล่าเรื่องราวของบ้านให้ฟังว่า
“เรามาเที่ยวศรีลังกาเมื่อเกือบสามปีก่อน และมีโอกาสมาที่เมืองกอลล์ ก็รู้สึกชอบเพราะทั้งเมืองมีแต่บ้านเก่าอายุเป็นร้อยปีขึ้นไป และเมืองนี้ยังได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง เพราะบ้านเรือนที่สวยงามเหล่านี้ล้วนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ส่วนบ้านหลังนี้เดิมเป็นโรงแรมเล็กๆสำหรับเหล่าแบ๊คแพ็คเกอร์ สภาพค่อนข้างเก่า เมื่อเราเข้ามาดูก็ชอบทันที เลยสอบถามผู้ดูแล และติดต่อขอซื้อ เราตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า ‘ออร์ชาร์ด เฮ้าส์’ เพราะที่แถบนี้เคยเป็นสวนผลไม้มาก่อน ”
คุณคอลินเริ่มต้นซ่อมแซมและปรับปรุงบ้าน ซึ่งต้องใช้เวลานานนับปี เพราะมีการต่อเติมอาคารเพิ่มด้วย “เนื่องจากพื้น ผนัง และหลังคาค่อนข้างเก่ามาก จึงต้องฉาบพื้นกับผนังใหม่ เราทำพื้นเป็นอีพ็อกซีสีขาว ส่วนผนังก็ทาสีขาวในทุกๆส่วนของบ้าน ยกเว้นห้องครัว เสากลมที่รองรับโครงหลังคาตามแนวระเบียงทั้งด้านหน้าบ้านและในบ้าน เดิมมีขนาดเล็กกว่านี้ แต่มีการก่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หลังคาก็ดันส่วนยอดให้สูงขึ้น แต่ส่วนปลายยังอยู่ในระดับเดิม เป็นการเพิ่มความเอียงให้กับหลังคาเพื่อให้ระบายน้ำฝนได้เร็วขึ้น”
บ้านหลังนี้ยังคงลักษณะดั้งเดิมไว้ กล่าวคือเป็นบ้านชั้นเดียว ด้านหน้าค่อนข้างกว้างหากเทียบกับบ้านทั่วๆไปในเมืองกอลล์ (คล้ายห้องแถวขนาด 3 คูหาในบ้านเรา) ช่วงหน้าสุดอยู่ติดถนนเป็นเฉลียงโล่งมีเสากลมต้นใหญ่ 4 ต้นรองรับหลังคา ลึกเข้ามาประมาณเมตรเศษเป็นประตูทางเข้า ซึ่งอยู่ตรงกับช่องว่างระหว่างเสากลมช่วงกลางพอดี ประตูมีลักษณะเป็นบานเปิดคู่ และมีขนาดเล็กกว่าบ้านแบบโบราณหลังอื่น คุณคอลินเป็นคนหาซื้อมาติดตั้ง แต่ละด้านของประตูมีหน้าต่างบานเปิดคู่ด้านละหนึ่งบาน
จากประตูทางเข้ามาจะพบโถงทางเข้าตรงกลาง ขนาบข้างด้วยห้องทำงานและห้องนั่งเล่น สำหรับพื้นที่โถงทางเข้าที่ต่อเนื่องไปยังพื้นที่ด้านในมีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) โดยพื้นที่ด้านในด้านหนึ่งจัดเป็นส่วนรับแขกและอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนรับประทานอาหาร มีประตูบานพับตั้งอยู่ตรงข้ามกับประตูทางเข้าด้านหน้า เป็นส่วนสิ้นสุดของพื้นที่สาธารณะ
หลังประตูบานพับเข้าไปเป็นพื้นที่ส่วนตัว มีเฉลียงโล่งยาวต่อกันเป็นรูปตัวแอล (L) โดยมีเสากลมรองรับเป็นระยะ ด้านหนึ่งเป็นห้องนอน 4 ห้องเรียงติดกัน ตัวเฉลียงมีลักษณะล้อมสวนกลางบ้านอันแสนร่มรื่นไว้ บ้านหลังนี้อาจเป็นบ้านเก่าในเมืองกอลล์เพียงไม่กี่หลังที่มีสวนขนาดใหญ่เช่นนี้
“เพราะพื้นที่สวนนี่เองทำให้เราตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้ เดิมมีต้นไม้ไม่มากดังที่เห็น โชคดีที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นมะม่วงชนิดหนึ่ง(ต้นไม้ชนิดนี้มีมากในภาคใต้ของประเทศไทย ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า ส้มมุด)มันแผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่นแก่บ้านเป็นอย่างมาก เราทำบ่อน้ำเลี้ยงปลาไว้กลางสวนด้วย แล้วสิ่งที่เพิ่มจากเดิมก็มี ศาลานั่งเล่นกลางสวน ซึ่งเราใช้งานมากที่สุด มีสระว่ายน้ำเล็กๆจัดเป็นสวนรวมพรรณไม้ซึ่งจะมีไม้ดอกมากกว่าสวนกลางบ้าน ส่วนหลังสุดของบ้านสร้างเรือนหลังเล็กๆให้เป็นห้องสำหรับแม่บ้าน ชั้นบนมีดาดฟ้าและเป็นที่ติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำ”
นอกจากการปรับปรุงบ้านให้อยู่ในสภาพสวยงามแล้ว เจ้าของบ้านยังคำนึงถึงการระบายน้ำ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำฝนมากเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีระบบการระบายน้ำที่ดี และเรื่องราวอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ เมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวดัตช์เข้ามาครอบครองประเทศศรีลังกา และได้ก่อสร้างแนวกำแพงขนาดใหญ่ไว้รอบเมือง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้บ้านหลังนี้รอดพ้นจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สินามิ เมื่อเดือน ธันวาคม 2547
“นับว่าเป็นโชคดีของเรา เพราะบ้านได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย มีน้ำนองเข้ามาบ้างแล้วก็ไหลออกไปหมด ในสวนมีต้นไม้เสียหายบ้างแต่ก็ไม่มาก”
แม้คุณคอลินจะใช้บ้านหลังนี้เป็นเพียงบ้านสำหรับพักผ่อน ทว่าเขาก็มีความผูกพันกับบ้านไม่น้อย
“เราต้องมาพักผ่อนที่นี่ทุกปี แต่ละครั้งอาจเป็นเวลา1-2 เดือน แล้วแต่โอกาส เพราะเรารู้สึกชอบที่นี่จริงๆครับ”
เจ้าของ-ตกแต่ง : Leslie Walford และColin Davies
เรื่อง : “อาทิตย์” ภาพ : ฤทธิรงค์,ปิยะวุฒิ