“บ้านหลังนี้หากดูเผินๆ จะเหมือนถังน้ำมันที่กำลังกลิ้งตกเขา เมื่อเข้าไปข้างใน อาจจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าถ้ำ แต่ถ้ามองออกมานอกหน้าต่างกลับรู้สึกเหมือนอยู่บนบ้านต้นไม้”
“อะไรคือเหตุผลที่ทำให้บ้านนี้ หันหลังออกมาทางหน้าบ้าน “นั่นคือคำถามแรกของเรา เมื่อมองเห็นบ้านชานเมืองซิดนีย์หน้าตาแปลกๆหลังนี้ หากมองจากถนนหลักจะเห็นวัตถุประหลาดขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายถังน้ำมันเหล็กตั้งอยู่ท้ายซอย ไม่เห็นหน้าต่างหรือประตู แต่มีจักรยานเสือภูเขาจอดอยู่ข้างๆ “ถังเหล็ก”ดังกล่าว ทำให้พอจะเดาได้ว่าที่นี่มีคนอาศัยอยู่ เราเดินไปตามทาง แต่ต้องชะงักเมื่อเห็นกิ้งก่าตัวใหญ่นอนขวางประตูทางเข้าบ้าน สักพักคุณกิ้งก่าเจ้าที่ก็ให้ทางเราเหมือนเข้าใจภาษาไทย (จริงๆแล้วมันวิ่งหนีลงป่าหลังบ้านด้วยความรำคาญ) บ้านหลังนี้ดูลึกลับ เพราะไม่อาจบอกได้เลยว่า ภายในจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร
ไม่นานนักคุณจอห์นเจ้าของบ้านตัวจริงก็ออกมาเปิดประตู ที่ดูเหมือนปากทางเข้าถ้ำ เขาต้อนรับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้มต่างจากเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนั้น ระหว่างที่เราเดินผ่านห้องโถงทางเข้า ซึ่งมีลักษณะแคบและสูง ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในถ้ำจริงๆ แต่เป็นถ้ำที่มีสีออกจะหวานๆหน่อย คุณจอห์นจึงรีบขยายความเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ว่า “ผมตั้งชื่อบ้านนี้ว่า ฮัสเกอร์ ดู 2 ตามชื่อวงร็อคฮาร์ดคอร์รุ่นเก๋า ที่ผมชอบ แต่สีนี้ภรรยาผมเป็นคนเลือกครับ”
บ้านหลังนี้หากดูเผินๆ จะเหมือนถังน้ำมันที่กำลังกลิ้งตกเขา เมื่อเดินเข้าไปข้างใน อาจรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าถ้ำ แต่ถ้ามองออกมานอกหน้าต่างกลับรู้สึกเหมือนอยู่บนบ้านต้นไม้ เพราะมองเห็นทิวทัศน์รอบๆที่ปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ได้จากมุมสูง
กลับมาที่ข้อสงสัยของเรา คุณจอห์นเล่าว่าเขาต้องการให้บ้านเป็น “เพื่อน” กับหุบเขามากกว่าถนน ซึ่งนี่คือโจทย์ที่เขาให้กับสถาปนิก หลังจากร่วมกันตีความก่อนการออกแบบ เพื่อหาบุคลิก และคอนเซ็ปต์ของบ้าน ในที่สุดพวกเขาก็ได้ข้อสรุปที่นึกมโนภาพตามได้ว่า บ้านหลังนี้ควรจะหันหน้าเข้าป่า ยืนเขย่งอยู่บนหน้าผา มองลงไปเห็นเนินเขา เปิดแขนรับลมทะเลที่ผ่านเข้ามาในหุบเขาให้มากที่สุด และดูกลมกลืนกับต้นไม้รอบๆ ขณะเดียวกันต้องดูเด่นเห็นได้ชัดจากถนน เช่นเดียวกับบ้านหลายหลังที่เราได้เห็นในการเดินทางครั้งนี้ ความเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศเป็นอัตลักษณ์ของบ้านแนวโมเดิร์นในประเทศออสเตรเลีย อาจเป็นเพราะภูมิประเทศของเขามีบุคลิกที่แรงและเด่นชัด หรืออาจจะเป็นเพราะความรักในการใช้ชีวิตนอกบ้านของชาวออสซี่ ทำให้พวกเขาต้องการดึงชีวิตชีวาจากภายนอกเข้ามาไว้ภายในบ้านให้มากที่สุดก็เป็นได้
ไม่ใช่เฉพาะความสัมพันธ์ในทางตรง เช่น การเปิดรับอากาศหรือทิวทัศน์จากภายนอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงการจัดองค์ประกอบภายในบ้านด้วย บ้านบนพื้นที่ราบโดยทั่วไปจะมีการวางแผนผังจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน แต่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนหน้าผา ดังนั้นความลาดเอียงของพื้นที่จะส่งผลต่อการวางระดับชั้นภายในบ้าน การวางแผนผังบ้านจึงเริ่มที่ชั้นสองของบ้านซึ่งเป็นโถงทางเข้า ชั้นล่างเป็นห้องนอนและห้องน้ำ ส่วนชั้นสามเป็นส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร และชั้นลอยเหนือชั้นสามเป็นห้องครัว ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาโค้งที่ช่วยห่อหุ้มปริมาตรอันซับซ้อนของบ้านนี้ไว้ ผู้ออกแบบบอกเราว่าการเล่นกับภูมิประเทศภายนอกของบ้าน ส่งผลให้พื้นที่ภายในเกิดความสนุกสนานไปด้วย การเล่นระดับระหว่างห้องต่างๆช่วยให้เกิดชีวิตชีวาในบ้านไปพร้อมๆกับการรับรู้ถึงสภาพภูมิประเทศนอกบ้าน เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้อาศัยรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว
บ้านหลังนี้มีลวดลายประดับประดาไม่มากนัก ตามสไตล์มินิมัลลิสต์ แต่เน้นการแสดงพื้นผิวและสีสันของวัสดุแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก สังกะสี และไม้ที่ไม่ได้ทาสีทับ ทำให้บ้านมีสองบุคลิก ด้านหนึ่งคือความอ่อนน้อมพร้อมใจไปกับธรรมชาติรอบบ้าน ไม่แข่งขันประชันความงามกับป่าเขา แต่อีกด้านก็คือ การกล้าแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ภูมิใจกับรายละเอียดในการก่อสร้าง และวัสดุหลากชนิดที่ประกอบเป็นบ้านหลังนี้ สุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปว่าบ้านนี้ไม่ได้หันหลังให้เราดู แท้ที่จริงมันเป็นด้าน “หน้า” ด้านหนึ่งของมันนั่นเอง
เรื่อง: เจรมัย พิทักษ์วงศ์
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ออกแบบ: เอลเลน วูลลีย์