บ้านในประเทศศรีลังกา... " คีรีบุหลัน " ... - บ้านและสวน

คีรีบุหลัน

“ทะเลหรือบ้านพักริมทะเลสวยๆหาที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าอยากเห็นภูมิประเทศแท้ๆของศรีลังกา ต้องขึ้นเขาเข้าไปในป่าร้อนชื้นทางส่วนในของประเทศ”

บ้านในประเทศศรีลังกา
กำแพงภายในบ้านสูงพอที่จะแบ่งเป็นห้อง แต่ด้านบนค่อนข้างโปร่ง ทำให้อากาศถ่ายเทและเย็นสบายกำลังดี ไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ

คีรีบุหลัน – บ้านในประเทศศรีลังกา

                บ้านในประเทศศรีลังกา ที่เรามาเยี่ยมชมหลังนี้ต่างจากบ้านหลังอื่นๆที่เราเคยลงฉบับที่แล้ว เพราะที่นี่ไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ “UNESCO World Heritage” เราต้องเดินทางออกจากเมืองกอลล์ขึ้นไปทางเหนืออีกเกือบชั่วโมง จริงๆแล้วระยะทางทั้งหมดแค่ประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ถ้ารถวิ่งเร็วกว่านี้อาจพาเรามาไม่ถึงที่ เพราะเรานั่งรถตุ๊กๆคันจิ๋วขึ้นเขาไปตามถนนแคบๆที่มีรถบรรทุกเป็นเพื่อนร่วมถนน ระหว่างสองข้างทางเต็มไปด้วยไร่ชาสีเขียวชอุ่ม สภาพอากาศร้อนชื้นไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไร สาเหตุที่เรามาดูบ้านหลังนี้เพราะมีคนแนะนำมาว่า ทะเลหรือบ้านพักริมทะเลสวยๆหาที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าอยากเห็นภูมิประเทศแท้ๆของศรีลังกา ต้องขึ้นเขาเข้าไปในป่าร้อนชื้นทางส่วนในของประเทศ

โต๊ะและเก้าอี้รับแขกสไตล์บ้านตากอากาศ ลวดลายสีสันฟ้าขาวของเบาะผ้าและเปลือหอยบนโต๊ะทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วที่นี่อยู่ไม่ไกลจากทะเล ถ้าเบื่อบรรยากาศของป่าเขาก็หันไปหาชายหาดได้

 “Kahanda Kanda” คือชื่อที่แสนไพเราะของบ้านหลังนี้ คนท้องถิ่นบอกว่า หมายถึงภูเขาที่มีสีเหลืองเหมือนพระจันทร์ แต่เรามองไปรอบๆกลับไม่ค่อยเห็นสีเหลืองของภูมิประเทศสักเท่าไร และก็ไม่แน่ใจว่าจะมีช่วงเวลาที่ใบไม้ใบหญ้าเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองอร่ามหรือไม่ แต่สีเหลืองที่ว่าอาจหมายถึงกำแพงสูงของบ้านหลังนี้ก็เป็นได้ กำแพงสีเหลืองสดนี้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของบ้าน เริ่มต้นที่บันไดทางเข้า ทอดยาวผ่านสวน สระน้ำ ศาลา และบ้านทุกหลังไปสิ้นสุดที่หอคอยข้างสระว่ายน้ำ ซึ่งอยู่ทางด้านในสุดของบริเวณบ้าน เมื่อเดินไปตามทางเดินที่ขนานไปกับแนวกำแพงจะเห็นภาพทิวทัศน์ของป่าเขาทางด้านหนึ่ง เมื่อมองลอดผ่านช่องเปิดบนกำแพงก็จะเห็นไร่ชากว้าง ซึ่งเป็นกิจการที่เจ้าของบ้านตั้งใจทำเพื่อเป็นการสร้างงานให้แก่ชาวบ้านในแถบนี้

ห้องนอนแบบโปร่งๆได้ความรู้สึกของกระท่อมกลางป่า มุมนั่งเล่นริมหน้าต่างชวนให้น่านอนกลางวันเป็นอย่างยิ่ง

บ้านหลังนี้ประกอบด้วย เรือนนอน 4 หลัง   และศาลา 2 หลัง ซึ่งใช้รับแขกและรับประทานอาหาร กลุ่มเรือนนอนสำหรับแขกแยกไปอยู่คนละด้านของกำแพงสีเหลืองกับศาลา เพื่อให้ความเป็นส่วนตัว มีระเบียงนั่งเล่นยื่นออกไปเหนือไร่ชา ส่วนศาลาทั้งสองเปิดโล่งในทุกๆด้าน มีลมเย็นๆพัดผ่านตลอดทั้งวัน และยังมองเห็นทะเลสาบในหุบเขาเบื้องล่าง เรือนนอนและศาลาทุกหลังมุงหลังคากระเบื้อง ผนังฉาบปูนทาสีขาว พื้นเป็นปูนเปลือยขัดมัน เพดานโชว์โครงสร้างไม้ ห้องน้ำทุกห้องเป็นแบบหลังคาเปิด คุณจอร์จ คูเปอร์ เจ้าของบ้านซึ่งเป็นมัณฑนากรชาวอังกฤษเลือกที่จะตกแต่งแบบเบาๆด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหลัก เพราะเขาคิดว่าบ้านมีขนาดค่อนข้างใหญ่  และกำแพงสีเหลือก็ดูแรงมากพอแล้ว เขาจึงไม่ต้องการให้การตกแต่งบ้านมาแย่งชิงความเด่นกับธรรมชาติโดยรอบอีก

ระเบียงพักผ่อนข้างห้องนอนแขก ไม่มีโรงแรมใดในละแวกนี้ที่จะให้ภาพทิวทัศน์แสนสวยงามของไร่ชาได้อย่างที่นี่ เหมือนที่มีคนบอกเราว่า ถ้าอยากได้บรรยากาศของประเทศศรีลังกาแท้แบบชาวบ้านๆ ต้องทิ้งทะเลแล้วขึ้นเขา

นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว เสน่ห์ของบ้านหลังนี้คือการได้เห็นคนงานชาวบ้านในไร่ชาของที่นี่ทำงาน ผู้ชายทำงานที่ต้องใช้แรง เช่น ตัดไม้ และงานซ่อมแซมต่างๆ ส่วนผู้หญิงทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน เช่น เก็บยอดอ่อนใบชา และจัดดอกไม้ ทุกคนดูยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยอย่างเป็นกันเอง ชาของที่นี่มีการนำไปขายที่ตลาดสหกรณ์ใบชาในเมือง รายได้ทั้งหมดก็เข้ากระเป๋าชาวบ้านไปเลย ผลประโยชน์ที่เจ้าของบ้านและที่ดินแห่งนี้ได้รับก็คือไร่สวนที่มีชีวิตชีวา และได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ได้อารมณ์ของบ้านตากอากาศกลางไร่กลางสวนแบบศรีลังกาอย่างแท้จริง มีคนงานในละแวกนี้ช่วยเป็นหูเป็นตา มีลูกจ้างคอยช่วยบริการแขกที่มาพักที่บ้านเป็นประจำ เราได้ยินมาว่าที่นี่มีคนงานคนหนึ่งทำอาหารพื้นเมือง เช่น พวกแกงกะทิต่างๆได้อร่อยมาก ถึงขนาดที่ว่าแขกบางคนกลับมาที่นี่เพียงเพื่ออยากลิ้มรสอาหารอีกครั้ง น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสพิสูจน์

แลนด์มาร์คในสวน:บางทีสวนกว้างๆที่โปร่งโล่งอาจดูเว้งว้างเกินไป อาคารแนวตั้งเช่นหอคอยจะช่วยเป็นหลักทาง สายตาได้ แต่อาจไม่ต้องสูงมากหรือมีสีจัดๆอย่างในตัวอย่างเสมอไป

อ่านมาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านบางคนอาจงงว่าชื่อเรื่องที่เราตั้งไปเกี่ยวอะไรกับบ้านหลังนี้ เรื่องมีอยู่ว่า “นาย อารี คนขับรถตุ๊กๆที่พาเราแต็กๆขึ้นเขามาที่นี่ คือคนที่บอกความหมายของชื่อบ้านหลังนี้ให้เราฟัง ถ้าเราจะตั้งชื่อบ้านหลังนี้แบบไทยๆเราคงจะเรียกว่า “เขาพระจันทร์” ตามความหมายของคำว่าKahanda Kanda” แต่อยากให้เพราะพริ้งเสียหน่อยเราเลยตั้งว่า “คีรีบุหลัน” ฟังแล้วเสนาะหูดี

 

เรื่อง : “เจรมัย พิทักษ์วงศ์”

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ปิยะวุฒิ ศรีสกุล

เจ้าของ-ตกแต่ง : Mr.George Cooper