CENTRAL EMBASSY สถาปัตยกรรมสัญชาติอังกฤษกลางกรุงเทพมหานคร
Central Embassy การเดินทางมาถึงของสถาปัตยกรรมสัญชาติอังกฤษกลางกรุง
แม้จะเปิดให้เดินห้างมาแล้วกว่า 3 ปี แต่กระเบื้องชิ้นสุดท้ายของศูนย์การค้าหลังใหม่บนถนนวิทยุ ‘เซ็นทรัลเอ็มบาสซี’ ก็เพิ่งจะถูกกรุลงบนผิวอาคารเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาคารเสร็จสมบูรณ์ทั้งวัสดุตกแต่งภายนอกและการก่อสร้างทาวเวอร์ที่ตั้งของโรงแรมหรู ‘Park Hyatt Bangkok’ ที่ก็ได้เริ่มเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อย สถาปัตยกรรมชิ้นใหม่กลางมหานครจึงได้เวลาทักทายชาวกรุงอีกครั้งอย่างเป็นทางการ
ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมคือสตูดิโอออกแบบจากอังกฤษ ‘AL_A’ นำโดยสถาปนิก ‘Amanda Levete’ โดยมี ‘Pi Architects’ สถาปนิกไทยทำหน้าที่เป็น ‘Architect of record’ ส่วนโรงแรมหรู ‘Park Hyatt Bangkok’ นั้นได้อินทีเรียดีไซเนอร์จากนิวยอร์ค ‘Yabu Pushelberg’ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเดียวกันไว้ที่ ‘Park Hyatt New York’ รวมถึงได้ ‘AvroKO’ ดีไซเนอร์สัญชาติเดียวกัน ที่เคยสร้างงานหรูอย่าง ‘The House สาธร’ ในกรุงเทพ ก็ได้มาออกแบบเพนท์เฮาส์ 3 ชั้นบนสุดให้กับโรงแรมแห่งใหม่นี้ด้วย
บนที่ตั้งเดิมของสถานทูตอังกฤษ สถาปัตยกรรมสีเงินเทาสูงตระหง่าน จากทาวเวอร์ยอดสุดสู่ปลายฐาน ส่วนใช้งานหลัก 2 ส่วน ได้แก่โรงแรมและศูนย์การค้า สอดประสานกันด้วยเส้นโค้งยาวต่อเนื่องเชื่อมทั้ง 2 ส่วนเข้าหากันอย่างเป็นเนื้อเดียว รูปทรงที่ไม่เป็นเรขาคณิตชัดเจนสร้างความอสมมาตรในทุกด้านของมุมมอง ในภาพรวมของผังพื้น เส้นโค้งของอาคารบิดโค้งเป็นรูป ‘Infinite’ หรือเลข 8 ที่เจ้าของโครงการต้องการสื่อถึงความรุ่งเรืองอย่างไม่สิ้นสุดของธุรกิจในเครือเซ็นทรัล
ภายนอกของอาคาร สถาปนิกเผยคอนเซ็ปต์ถึงการดึงเอาลักษณะของลวดลายแพทเทิร์นจากสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของไทย เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลของการก่อสร้าง ผิวเส้นโค้งของสถาปัตยกรรมถูกหุ้มด้วยชิ้นอะลูมิเนียม มากถึง 300,000 ชิ้นกรุสลับเหลื่อมเพื่อสร้างปรากฏการณ์ภาพเลือนซ้อน หรือที่เรียกว่า ‘Moiré Effect’ ลงบนพื้นผิวของสถาปัตยกรรม เพื่อสะท้อนภาพอันโกลาหลในมหานครและภาพของท้องฟ้าเบื้องบนในขณะเดียวกัน อแมนดายังกล่าวว่า แม้จะเป็นอาคารใหม่ แต่เธอต้องการให้อาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่แวดล้อมตัวมันอยู่อย่างไม่ขาดไม่เกิน เป็นหนึ่งเดียวกับเมืองกรุงเทพ และให้รู้สึกราวว่ามันกับตั้งอยู่ ณ ที่นั้นมาตลอดในเวลาผ่านมา
ผู้ออกแบบ ‘Amanda Levete’ ไม่ใช่นักออกแบบหน้าใหม่สำหรับประเทศไทย และยิ่งไม่ใช่ใหญ่ในเวทีระดับโลก ตัวสถาปนิกเป็นที่รู้จักผ่านผลงานออกแบบมากมายในหลายภูมิภาค อาทิ ‘Sky Central’ อาคารสำนักงานของสถานีโทรทัศน์ Sky ที่อังกฤษ พิพิธภัณฑ์ริมน้ำ ‘MAAT’ ที่ลิสบอน โปรตุเกส งานชนะประกวดแบบ ‘มัสยิด Abu Dhabi’ ที่ UAE รวมถึง ‘72 Courtyard’ คอมมูนิตี้มอลล์ที่สถาปนิกสรรสร้างไว้ ณ ใจกลางย่านถนนทองหล่อ (โดยในงานนั้นได้ ‘VaSlab’ สถาปนิกฝั่งไทยเป็น Architect of record)
ในทำนองเดียวกัน เซ็นทรัลเอ็มบาสซี จึงไม่ใช่อาคารหลังแรกที่สถาปนิกต่างชาติมีบทบาทในการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยแต่มีมากมายนับไม่ถ้วนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (และเชื่อว่าจะยิ่งมีมากขึ้นในอนาคต) ทว่ากฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพยังไม่อนุญาตให้สถาปนิกจากต่างแดนลงหลักทำงานสถาปัตยกรรมด้วยชื่อของตัวในไทยได้เต็มร้อย ‘Architect of record’ หรือสถาปนิกท้องถิ่นจึงเป็นผู้เติมเต็มบทบาทของการเป็นผู้รู้ – ผู้ครอบครองของข้อมูลของพื้นที่ผู้ประสานงานกับดีไซเนอร์ และผู้ปฏิบัติงานให้สถาปัตยกรรมจากดีไซเนอร์ต่างถิ่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ไม่เฉพาะแต่กับไทย แต่กับหลายขบวนโปรเจ็คสถาปัตยกรรมทั่วโลกโดยเฉพาะกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมจาก ‘Starchitect’ หรือสถาปนิกชื่อก้องโลกทั้งหลาย เมื่องานของพวกเขาจะไปปรากฏในภูมิภาคใดที่พวกเขาไม่คุ้นชิน ‘Architect of record’ ก็จะเข้ามามีบทบาทกับงานในลักษณะต่าง ๆ กันไปดังกล่าว
สิ่งหนึ่งที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซีให้กับชาวกรุงได้อย่างแน่นอน คือสิ่งปลูกสร้างล้ำสมัยอันไม่บ่อยและง่ายที่จะเกิดขึ้น สำคัญคือเฉพาะเจาะจงสร้างให้กับกรุงเทพ รูปลักษณ์ แนวความคิด และเทคโนโลยีที่คนทั้งใน และนอกวงการออกแบบจะได้เรียนรู้ ง่ายที่สุดคือชื่อเสียงของผู้ออกแบบ ที่จะเรียกความสนใจจากนานาประเทศสู่เมืองไทย
เชื่อว่ากับสถาปัตยกรรมหลังใหม่หลังนี้ ผู้คนจะให้การต้อนรับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสถาปนิกระดับโลก ให้สมกับที่เราอาศัยกันอยู่ร่วมกันในโลกของยุคที่ว่ากันว่าเป็นโลกไร้พรมแดน…
ชมภายนอกไปแล้ว อ่านต่อ พื้นที่บนชั้น 6 ของศูนย์การค้าแห่งนี้ที่ถูกเนรมิตรให้กลายเป็น “Open House” ได้ที่ : Open House เปิดบ้าน…สร้างแรงบันดาลใจ
เรื่อง: Korakada
ภาพ : www.designboom.com , แฟ้มภาพนิตยสาร room