ระแนงไม้ + หน้าจั่ว ≠ โมเดิร์นทรอปิคัลดีไซน์เสมอไป

โจทย์ที่ท้าทาย

“งานออกแบบสำหรับภูมิอากาศเขตร้อนมีความท้าทายสูงมาก ทั้งเรื่องของฝน ความชื้นจากดิน ความร้อนที่ต่างกันระหว่างกลางวันกับกลางคืน ยุงและแมลงต่างๆ  การจะออกแบบให้ตอบโจทย์ได้ทุกข้อถือว่ายาก เพราะคนไทยชอบบ้านโปร่ง หน้าต่างบานใหญ่ แต่ก็ต้องตามมาด้วยการติดมุ้งลวดกันแมลง อีกอย่างคือเราไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิต วัสดุหลาย ๆ อย่างต้องนำเข้ามามาจากต่างประเทศ แม้จะไม่ได้เหมาะกับประเทศเราก็ตาม เช่น ไม้เทียม พอนำมาใช้บางครั้งกลับพบปัญหาบวมหรือบิดงอ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจบริบทของที่ตั้งและสภาพอากาศให้ดีก่อน เพราะเราไม่สามารถไปหยิบรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้ในบ้านเราได้ทั้งหมด”

อนาคตของสถาปัตยกรรมบนเส้นศูนย์สูตร

“จริง ๆ แล้ว Tropical design เป็นการออกแบบกายภาพในเชิงแนวราบ แต่พอเมืองเริ่มหนาแน่นผู้คนหันไปอยู่อาศัยในพื้นที่แนวสูง บรรพบุรุษไม่ได้คิดไว้ว่าบ้านในอนาคตจะต้องอยู่บนตึกชั้นที่ 20 เราจึงต้องหาคำตอบแบบใหม่สำหรับการตอบคำถามเกี่ยวกับภูมิอากาศแบบทรอปิคัล ซึ่งผมมองว่าท้ายที่สุดแล้วก็คงเป็นเรื่องของการระบายอากาศที่ดี

“จริง ๆ ก็คือหลักการของ Passive Design เกี่ยวกับทิศทางลมเข้า-ออก การป้องกันแสงแดด ความร้อน ความชื้น เพื่อให้เกิดภาวะน่าสบาย ถ้าเราทำได้มันจะออกมารูปแบบไหน หน้าตาอย่างไร ผมถือว่านั่นคือทรอปิคัลดีไซน์ ไม่จำเป็นต้องมีไม้ด้วยซ้ำ เพราะจริง ๆ ไม้เป็นคำตอบสำหรับการออกแบบในยุคก่อน ซึ่งทำให้ใครหลายคนยังติดภาพว่า “ทรอปิคัลดีไซน์” ต้องใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ผมเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งมีวัสดุที่คิดค้นขึ้นมาแล้วเจ๋งกว่าไม้ กันความร้อนได้ดีกว่า ย่อยสลายได้ ไร้สารพิษ น่าเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ได้ดี เพราะผมมองที่โจทย์การออกแบบเป็นหลัก สถาปัตยกรรมต้องพัฒนาไปตามเมืองและบริบทรอบ ๆ

“ในอนาคตถ้ามีแผ่นดินไหวหรือสึนามิ ภูมิอากาศแบบทรอปิคัลอาจเปลี่ยนไป เพราะคำว่า “ทรอปิคัล” เกิดจากการจำกัดความของยุคหนึ่งว่าหมายถึงเขตร้อนชื้น แต่ถ้าอีกร้อยปีข้างหน้าภูมิภาคนี้เกิดมีหิมะตก มีกายภาพที่เปลี่ยนไป บ้านสำหรับเขตทรอปิคัลในยุคนั้นก็ต้องอยู่กับหิมะให้ได้ สถาปัตยกรรม “ทรอปิคัลดีไซน์” ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่ควรไปกำหนดว่าสไตล์ทรอปิคัล คือหน้าจั่ว ระแนง แผงบังแดด สเปซโปร่ง เพราะมันคือคำตอบของช่วง 10-20 ปีนี้เท่านั้น”

ทรอปิคัลดีไซน์คือส่วนหนึ่งของความยั่งยืน

“ถ้ามองย้อนไปทรอปิคัลดีไซน์มีมานานมากแล้ว แต่บรรพบุรุษเราคงสร้างบ้านเพื่อให้อยู่สบายเท่านั้น อาจไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนอะไร แต่สำหรับผมทรอปิคัลดีไซน์ต้องมีปัจจัยหลัก ๆ  อยู่ที่การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบที่พึ่งพาธรรมชาติ ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ร่วมกับการใช้วัสดุรีไซเคิล และการขนส่งที่เบียดเบียนธรรมชาติน้อยที่สุด นี่จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์”

อ่านต่อ : บ้านพักตากอากาศสุดเท่ริมทะเลชะอำ – ONE SPACE FAMILY HOUSE

สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคุณจีรเวช หงสกุล พบกันได้ในงานเสวนา DESIGN TALK : Modern Tropical (re)Design วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ 14.00 น. @งานบ้านและสวนแฟร์ มิดเยียร์ 2017, Hall 100 ไบเทคบางนา สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register 

 


เรื่อง Monosoda
ภาพ ศุภกร, Spaceshift, เกตน์สิรี วงศ์วาร