สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๒ : ชมเบื้องหลังการสรรค์สร้าง “พระเมรุมาศ”  

  • องค์ความรู้ออนไลน์คือกลยุทธ์ในการสืบทอดสถาปัตยกรรมไทย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีสมัยใหม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ กรรมวิธีการก่อสร้างพระเมรุมาศ  หรือแม้แต่กระบวนเก็บบันทึกและการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นส่วนสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติ

“โดยปกติหน้าที่หลักในการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เป็นของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่ในรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมทางสำนักสถาปัตยกรรม ของกรมศิลปากรเอง จะรับผิดชอบรวบรวมไว้ให้  สืบเนื่องจากท่านอาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และในครั้งการออกแบบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ท่านบอกให้เราหมั่นฝึกฝน รวมถึงเก็บรวบรวมข้อมูลแบบที่เมื่ออาจารย์ไม่อยู่แล้ว คนรุ่นต่อไปต้องทำงานกันต่อไปได้ เราจึงจดกันอย่างละเอียด เก็บตัวอย่างวัสดุ สแกนแบบลวดลายทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ให้ช่างอ่านรู้เรื่อง แต่ต้องให้ทุกคนอ่านเข้าใจ”

“อย่างงานพระเมรุมาศในครั้งนี้ คนให้ความสนใจ ติดตามข้อมูลข่าวสารการดำเนินการก่อสร้าง มีความอยากที่จะเข้าใจทั้งศิลปแขนงต่างๆ ศิลปสถาปัตยกรรม รวมถึงขนบประเพณีที่เกี่ยวข้อง เราก็พยายามจะทำเพจ เพื่อเป็นแหล่งองค์ความรู้ออนไลน์ ถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจงานสถาปัตยกรรมไทยมากขึ้น เป็นการเล่าเรื่องที่เรามั่นใจว่าถูกต้อง เพราะมาจากพวกเราเองที่ทำอยู่ตรงนี้โดยตรง เขียนให้เข้าใจง่าย มีภาพประกอบ ใช้คำบรรยายที่ไม่ทำให้ปวดหัว ท้อใจ  ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของท่านอาจารย์อาวุธด้วย”

 

  • “การบอกเล่าเรื่องยากให้ง่าย” หัวใจการส่งต่อข้อมูลให้มวลชน

หลังจากศึกษาจบการศึกษาปริญญาตรี สถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณชาริณีได้มีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโท MA Creative practice for narrative environments จาก Central St. Martins College of Arts and Design, (UAL) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะ

“เราต้องเริ่มคิดจากว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่หรือคนทั่วไป เขาต้องมาเข้าใจเรื่องของศิลปะหรือสถาปัตยกรรมไทยด้วย ชีวิตเขาก็ดีกันอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัว เวลาเราไปเมืองนอก เราเห็นตึกสวยๆ เราก็ว่าสวย แต่เราคงไม่รู้สึกชื่นใจหรือตื้นตันได้เท่ากับเวลาที่เราได้สัมผัสกับงานสถาปัตยกรรมไทยหรือเวลาเรามีส่วนร่วมในพระราชพิธีต่างๆ  ซึ่งความรู้สึกแบบนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงได้”

“การถ่ายทอดความเข้าใจเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อไปต้องใช้เวลา เราทำคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ช่องทางหนึ่งคือการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโดยตรงอย่างที่ศิลปากร และจุฬาฯ เป็นระบบครูกับลูกศิษย์ที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะมีความยั่งยืน”

“อย่างที่สองคือต้องไม่ทำให้ศิลปะไทยเป็นเรื่อง “ยาก” ไม่งั้นจะกลายเป็นสิ่งที่คนกลัว เพราะจริงๆ นี่ก็คือศิลปะ ถ้าดูแล้วเราชอบก็คือชอบ ไม่ชอบก็เดินผ่านไป แต่ความเข้าใจตรงนี้เกิดจากความหมั่นเพียรที่จะซึมซับงานศิลปะก่อน  โชคดีที่ในปัจจุบันคือผู้ปกครองเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้ลูกไปห้างแล้ว เป็นโอกาสที่จะดึงเด็กๆ เข้ามาซึมซับตรงนี้ แต่สำหรับคนทั่วไปช่องทางออนไลน์ดูจะง่ายที่สุดแล้ว ซึ่งมันคือสิ่งที่เราถนัด การบอกเล่าเรื่องราวยากๆ ด้วยวิธีการที่ง่าย เป็นการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเข้าถึงคนหมู่มากอย่างมีประสิทธิภาพ”

ภายใน วิธานสถาปกศาลา หรือโรงขยายแบบซึ่งทางคณะผู้ออกแบบใช้เป็นพื้นที่ในการขยายแบบลวดลายองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ในขนาดเท่าจริง เพื่อกะส่วนให้ได้สวยงาม ไม่ให้ “โดนอากาศกิน” ซึ่งคือปรากฎการณ์ที่มักเกิดขึ้นในส่วนของเรือนยอดอาคารที่เรียวแหลมพุ่งขึ้นไปในอากาศจนดูเล็กลีบกว่าความเป็นจริงเนื่องจากไม่สามารถคาดเดาหรือคำนวนการกินอากาศได้อย่างแม่นยำ จึงจำเป็นต้องเขียนแบบขนาดเท่าจริง เพื่อตรวจทานมุมมองที่อยู่สูงขึ้นไป ให้ได้สัดส่วนงดงามอย่างที่ต้องการ
งานหล่อไฟเบอร์กลาสประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศอยู่ในระหว่างการเก็บรายละเอียดและทำสีรองพื้นก่อนเขียนสี

งานเขียนสีประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ
การจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายจากศิลปะลายซ้อนไม้ ซึ่งเกิดจากการฉลุไม้เป็นองค์ประกอบเล็กๆ แล้วนำมาประกอบกันเกิดเป็นลวดลายต่างๆ และซ้อนเป็นชั้นๆ เพื่อให้เกิดมิติ

 

 

สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๑ : ลุยสำนักช่างสิบหมู่ แอบดูเบื้องหลังงานพระเมรุมาศ

[DIY] ดอกไม้จันทน์ (ดอกดารารัตน์) จากเปลือกข้าวโพด


 

เรื่อง  MNSD
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร