ในความแตกต่างอันหลากหลายของคำว่า ทรอปิคัลและโมเดิร์น บ้านในนครโฮจิมินห์หลังนี้คือสิ่งที่อยู่กึ่งกลางได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของถนนอันวุ่นวายที่หน้าบ้านหรือป่าในกรุงของสวนสัตว์ที่ตั้งอยู่หลังบ้าน การสร้างบรรยากาศธรรมชาติภายในบ้านท่ามกลางบริบทของเมืองใหญ่ หรือการที่สองครอบครัวซึ่งมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันแต่สามารถอยู่อาศัยด้วยกันได้ ทั้งหมดทำให้บ้านหลังนี้มีความโดดเด่น ทั้งในแง่ของการใช้งานและรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น
จากหน้าบ้านเราจะเห็นตึกแถวสูงห้าชั้นที่มีสวนระเบียงขึ้นอย่างร่มครึ้ม เมื่อเดินเข้าสู่ประตูใหญ่ เราได้พบ Mr.Shunri Nishizawa หนึ่งในสถาปนิกที่ออกแบบบ้านหลังนี้ ที่นี่เป็นทั้งสำนักงานสถาปนิกNishizawa Architects และบ้านของเขา รวมถึงเป็นบ้านของครอบครัวชาวเวียดนามด้วย
พื้นที่ในแต่ละชั้นประกอบด้วย ชั้นใต้ดินเป็นสำนักงานสถาปนิก ชั้นหนึ่งถึงสามเป็นพื้นที่ของครอบครัวชาวเวียดนาม (ชั้นหนึ่งเป็นห้องนอนและห้องรับประทานอาหาร ชั้นสองเป็นห้องรับแขก และชั้นสามเป็นห้องนอน) ส่วนครอบครัวของคุณชุนริจะใช้ห้องรับแขกที่ชั้นสี่และห้องนอนที่ชั้นห้า
จากชั้นใต้ดินจนถึงชั้นห้าจะสลับเป็นพื้นที่เปิดโล่งกับปิดทึบตามลักษณะการใช้งาน เพื่อให้แสงแดดและลมธรรมชาติสามารถไหลผ่านเข้ามาในบ้านได้อย่างทั่วถึง โดยพื้นที่รับแขกในชั้นสองและสี่ออกแบบให้มีสวนหย่อมริมระเบียง เพื่อลดความทึบตันของอาคารสูง ทั้งยังเป็นช่องเปิดที่ลมจะพัดผ่านจากหน้าบ้านสู่หลังบ้านได้สะดวก ในส่วนนี้โครงสร้างของอาคารมีการสลับการยื่นออกไป (Shifted) ทำให้ท้องพื้นของชั้นบนสามารถสร้างร่มเงาให้แก่พื้นที่รับแขกทั้งสองชั้นได้อีกด้วย นอกจากนี้สวนหย่อมยังทำให้ผู้พักอาศัยรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยกรองแสงจ้าและเติมความชื้นแก่ลมที่พัดผ่านให้กลายเป็นลมเย็น ลูกเล่นที่น่าสนใจอีกอย่างคือเพดานคอนกรีตหล่อในที่ของทั้งชั้นสองและสี่ที่ออกแบบให้มีความโค้งแตกต่างกัน สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นถ้ำหินตามธรรมชาติ จึงดูไม่แข็งกระด้างอย่างอาคารคอนกรีตทั่วไป ทั้งยังช่วยปรับให้แสงที่สาดส่องเข้ามากระทบพื้นผิวดูนุ่มนวลขึ้นด้วย
คุณชุนริเล่าให้ฟังว่า “การออกแบบบ้านหลังนี้คือนิยามของคำว่า ‘ทรอปิคัล’ และ ‘โมเดิร์น’ ที่หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้เกิดจากการตีความภูมิปัญญาพื้นถิ่นซึ่งกลับไปสู่การทำความเข้าใจวงจรการอยู่อาศัยในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศเวียดนาม บ้านหลังนี้จึงมีทั้งจังหวะที่เหมาะสมกับชีวิตสมัยใหม่ การอยู่ในพื้นที่ปิดอันปลอดภัย มีความทันสมัย และการปรับอากาศ ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ซึ่งตอบสนองต่อความโหยหาธรรมชาติ มีแสงแดดส่องและลมพัดผ่าน ทั้งยังมีพื้นที่เปิดซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสวน ต้นไม้ และบริบทรอบๆบ้านอีกด้วย”
การสร้างพื้นที่ซึ่งเหลื่อมซ้อนกันเช่นนี้เป็นวิธีการที่คุณชุนริได้ประยุกต์มาจากลักษณะของพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ของบ้านญี่ปุ่นที่เคยเติบโตมา สังเกตว่าพื้นที่เปิดซึ่งเป็นส่วนรับแขกจะคั่นกลางอยู่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวเสมอ หรือแม้แต่พื้นที่ส่วนตัวก็ยังมีแผงบังแดดที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นภายนอกได้ชัดเจน โดยที่ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่ และแผงบังแดดนี้ก็ยังได้แรงบันดาลใจจากวัสดุยอดนิยมในเวียดนามอย่างบล็อกช่องลม แต่ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันแสงจ้าและพายุฝน
“ถ้าเราตั้งใจออกแบบให้เปิดรับธรรมชาติมากเท่าไร ก็ควรจะต้องเตรียมการเผื่อในยามที่ธรรมชาติเข้าถึงเรามากเกินไปด้วย”
ดังนั้นแทนที่จะปิดกั้นตัวเองอยู่ในอาคารปรับอากาศ อาคารหลังนี้กลับมีการออกแบบที่เตรียมรับมือกับสภาพอากาศเพื่อจะเปิดตัวเองออกสู่บริบทรอบๆให้ได้มากที่สุด แม้ในวันที่ฝนตกหนักเช่นวันที่เราไปเยือน แต่ในห้องรับแขกที่ชั้นบนก็ไม่มีฝนสาดเข้ามาให้รำคาญใจ นับเป็นประสบการณ์การรับรู้ถึงความสดชื่นของเมืองในเขตมรสุมแบบที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยทีเดียว
บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงแค่อยู่สบาย แต่ยังได้อิงแอบไปกับธรรมชาติของนครโฮจิมินห์ ในพื้นที่ซึ่งนำปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาผนวกเข้ากับงานสถาปัตยกรรมได้อย่างมีเสน่ห์ นี่คือตัวอย่างของตึกแถวที่พาตัวเองหลุดออกจากกรอบของคำว่า “ตึก” ไปสู่คำว่า “บ้าน” และ “สวน” ได้อย่างสวยงาม
อ่านต่อ : อยู่กับลมและแสง ในกลิ่นอายบ้านทรอปิคัล
เจ้าของ: Mr. Nguyen Huu Sinh
ออกแบบ :Vo Trong Nghia Architects, Sanuki+Nishizawa Architects
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ: ธนกิตติ์ คำอ่อน, Hiroyuki Oki